“ศรีสุวรรณ จรรยา” : ใครจะมองว่าเอาแต่ค้านก็ช่าง จุดยืน “สู้เพื่อสิทธิประชาชน
ท่ามกลางโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นวิวาทะระหว่าง “ความเจริญ-จำเป็น” และ “ผลกระทบสังคม-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม” ปรากฏชื่อ “สมาคมต่อต้านสภาวะแวดล้อม” ที่มี “ศรีสุวรรณ จรรยา” เป็นหัวหอก
“ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นหนึ่งในทีมทนายความอาสาจาก 30 คนที่เบนเข็มชีวิตตนเองจากทนายความที่นั่งปฏิบัติงานในมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม มาจัดตั้งสมาคมฯ ตั้งแต่ปี 50 เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนถึงผลกระทบที่จากปัญหาโลกร้อน และช่วยเหลือคนยากไร้ในคดีความต่าง ๆ อันเป็นข้อพิพาทโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสังคม-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันสมาคมฯ ฟ้องมาแล้วร่วม 50 คดี แม้จะไม่ถึงฝั่งฝันทั้งหมด แต่ก็ทำให้เราเรียนรู้และมุ่งช่วยเหลือคนเดือดร้อนอย่างเข้มแข็งมากขึ้น” เขาเริ่มบทสนทนา…
“คดีมาบตาพุด” พิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ รธน.มาตรา 67 วรรคสอง
ศรีสุวรรณ ยกตัวอย่างความสำเร็จ “คดีมาบตาพุด” ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนิน 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนรุนแรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสองที่ระบุว่า…
…การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว…
“เราเห็นว่าปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จ.ระยอง ส่งผลกระทบต่อชุมชนจริง การชนะคดีมาบตาพุดก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางสังคม ผู้ประกอบการเริ่มตระหนักที่จะดำเนินโครงการอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจการทำกิจกรรมที่คำนึงผลกระทบชุมชนใกล้เคียง (ซีเอสอาร์) เพื่อให้การพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมมีมาตรฐานสากล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตราบใดที่ไทยยังวัดความเจริญด้วยตัวเลขจีดีพีทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องขยายฐานการพัฒนา แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยอมรับของประชาชนภายใต้กฎหมายเคร่งครัด” ศรีสุวรรณ กล่าว
มหาอุทกภัย 54 “ฟ้องเพราะผลกระทบจากความผิดพลาดรัฐบาล” มิใช่โทษฟ้าดิน
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 สร้างความเสียหายต่อประชาชนทั่วไป กระทั่งบรรดาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า นอกจากภัยพิบัติตามธรรมชาติแล้ว ผลกระทบที่ใหญ่หลวงนี้ยังเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงรวมตัว 1,500 คน มอบอำนาจให้สมาคมฯ ฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลที่บริหารจัดการน้ำผิดพลาด รวมทั้งฟ้องเป็นคดีกรณีนโยบายสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสหกรรมอีกด้วย เพราะจะเป็นการซ้ำเติมชุมชนที่อยู่รอบ ๆ นิคมฯ
ศรีสุวรรณ บอกว่าการเรียกร้องค่าเสียหายจากน้ำท่วมนั้น ศาลได้พิจารณาผู้ฟ้องคณะแรก 350 คน แยกเป็นรายเดี่ยว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนไต่สวนเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลอัตราร้อยละ 2 เมื่อกระบวนการข้างต้นเสร็จจึงเข้าสู่การต่อสู้คดี
“ฟ้องเลิกมติ ครม.เขื่อนแม่วงก์” ไม่แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง เปลืองงบประมาณ กระทบชุมชน-ผืนป่า
ภายหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 13,280.445 ล้านบาท ให้กรมชลประทานเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ใช้ระยะเวลา 8 ปี แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเพิ่งเผชิญกับทุกข์หนักน้ำท่วม ย่อมมีเสียงสนับสนุนเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ว่าเขื่อนแม่วงก์และอีกหลายโครงการเขื่อนของรัฐไม่ได้แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง แต่จะก่อผลกระทบต่อผืนป่าและชุมชนอย่างหนัก
ศรีสุวรรณ บอกว่าข้อมูลการคัดค้านเพราะเขื่อนแม่วงก์ จะสามารถป้องกันน้ำท่วมเพียง 1% ของน้ำท่วมปี 54 เพราะปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ในพื้นที่ทั้งหมด 13,000 ไร่ ไม่สามารถเทียบกับปริมาณน้ำ 40,000 ล้าน ลบ.ม.ที่ผ่านมาได้ และเพื่อเลี่ยงข้อท้วงติงดังกล่าวรัฐจึงกล่าวอ้างว่าเขื่อนดังกล่าวยังกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร
ศรีสุวรรณ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ยังมีอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และเล็กมากมาย โดยเฉพาะเขื่อนทับเสลาและเขื่อนคลองโพธิ์ ซึ่งทั้งสองเขื่อนไม่ตอบโจทย์ที่กรมชลประทานวางไว้คือกักเก็บเพื่อการเกษตร เพราะมีปริมาณน้ำไม่ถึงครึ่ง แต่งบประมาณการก่อสร้างถูกผลาญหมดจด
“กรมชลฯ ไม่เคยตอบปัญหาสังคมถึงการจัดการน้ำในเขื่อนทับเสลาและคลองโพธิ์ผิดพลาดเลย ทั้งดังนั้นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาอีกจึงควรทบทวนให้ถี่ถ้วน ว่าจะแลกกับผืนป่าตะวันตกมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีคุณค่ามหาศาลหรือ”
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ พร้อม ๆ กับหันกลับไปมองรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่างบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้นี้ไม่คุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์
“งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านมันยั่วยวนใจข้าราชการ นักการเมือง ยิ่งเปรียบเทียบข้อมูลของเครือข่ายคอรัปชั่นระบุว่าโครงการรัฐแต่ละโครงการจะต้องจ่ายใต้โต๊ะเป็นค่าสินบนให้ผู้เกี่ยวข้อง 30-40% หากเป็นเช่นนั้นจริงนักการเมืองและข้าราชการจะได้รับเงินมหาศาลทีเดียว”
เตือนรัฐบาลอย่าอ้างจำเป็นเร่งด่วน “ทำทีอาร์น้ำลัดขั้นตอน”
ศรีสุวรรณ ยังวิพากษ์การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลในโอกาสทำงานครบ 1 ปีว่า รัฐบาลดูถูกข้อเสนอของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ อย่าคิดเพียงว่าไทยมี 25 ลุ่มน้ำเท่านั้น เพราะความจริงยังมีสายน้ำสาขาอีกมากมายที่ไร้การดูแล นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอการจัดทำพื้นที่แก้มลิงตามแนวทางพระราชดำริฯ และเสนอว่ารัฐบาลต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนร่วมกับชุมชนจัดการปัญหาในพื้นที่ของตนเองให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มาก
ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการของรัฐบาลที่จะสร้างอีก 21 เขื่อนใหญ่ใช้เม็ดเงินหลายแสนล้าน แม้นักการเมืองชอบ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์แก้น้ำท่วมน้ำแล้ง และยังละเมิดสิทธิที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจของชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ
“ที่ผ่านมารัฐบาลคิดฝ่ายเดียวตัดสินใจฝ่ายเดียว เช่น ตัดสินใจทีโออาร์จัดการน้ำให้บริษัทเอกชนต่างประเทศเข้ามาทำ ก้าวข้ามขั้นตอนโดยอ้างความเร่งด่วน ดูถูกฝีมือประชาชนและนักวิชาการไทย แต่การทำโครงการขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินโครงการมากโดยข้ามขั้นตอน ข้าราชการหรือนักการเมืองคนใดเซ็นสัญญาระวังจะติดคุก เพราะไม่มีทางนำมติ ครม. มาลบล้างกฎหมายได้”
“ฟ้องสนามบินสุวรรณภูมิ” ปล่อยให้มีเที่ยวบินมาก-เพิ่มมลพิษรบกวนชุมชน
ขณะที่คดีมลพิษทางเสียงจากสนามบินสุวรรณภูมิที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านใกล้เคียงนั้น เดิมมีผู้ฟ้องคดี 1,075 ราย ภายหลังมีผู้ขอถอนฟ้อง เนื่องจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ได้เจรจายอมความ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศรีสุวรรณ กล่าวว่าปัจจุบัน ทอท.กลับปล่อยให้มีเที่ยวบินเข้ามาใช้บริการมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจากเดิม 45-48 ล้านคน/ปี เป็น 50 ล้านคน/ปี ส่งผลให้เกิดมลพิษมากขึ้น แม้จะมีการย้ายสายการบินต้นทุนต่ำ สายการบินจุดต่อจุด และสายการบินเช่าเหมาลำมาใช้บริการที่ดอนเมืองภายใน 1 ต.ค. 55 ปัญหาความแออัดก็จะยังมากอยู่ สมาคมฯ จึงตั้งใจจะฟ้องร้องเป็นคดีที่สองของสุวรรณภูมิ
“ใครจะมองว่าค้านลูกเดียวก็ช่าง” จุดยืนสู้เพื่อสิทธิชุมชน คานอำนาจนักการเมือง
นอกจากคดีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิชุมชนของโครงการพัฒนาต่าง ๆ แล้ว ศรีสุวรรณ ยังเสนอมุมมองทางสังคมการเมืองเรื่อง แนวคิดการยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญที่กลายเป็นประเด็นเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเพียงความต้องการของนักการเมืองบางคนที่มุ่งกดดันให้ศาลเลิกพิพากษาคดีที่กระทบผลประโยชน์ของตน ฉะนั้นจึงต้องให้ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาว่า หากทำอาจถูกต่อต้านจากประชาชนได้
อย่าลืมว่าสิทธิชุมชนไทยได้พัฒนาก้าวหน้ากว่าอดีตมาก ประชาชนเริ่มเข้าใจสิทธิของตนเอง และอ่านรัฐธรรมนูญมากขึ้น จนหลายครั้งที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อไปบรรยายให้ความรู้ พบว่าประชาชนจะสามารถโต้ตอบข้อกฎหมายได้อย่างดี แสดงว่าอนาคตชุมชนจะไม่ยอมให้ถูกกลั่นแกล้งจากนักการเมืองอีก
“เราไม่น้อยใจว่าใครจะมองว่าค้านอย่างเดียว หรือรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ แต่เมื่อถึงเวลารัฐบาลต้องดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งทุกครั้งที่ฟ้องดำเนินคดีก็ทำให้นักการเมืองและข้าราชการที่กระทำผิดร้อนๆ หนาว ๆ ได้เหมือนกัน”
…………………...
“ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะแวดล้อม ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะทำงานเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมให้แก่ประชาชนต่อไป โดยเฉพาะความเดือดร้อนจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่กระทบชุมชน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลซื่อสัตย์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมาย และเรียกร้องให้ประชาชนสร้างเครือข่ายปกป้องสิทธิตนเองให้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้นไป.
รับฟังคลิปสัมภาษณ์เพิ่มเติม :http://www.youtube.com/watch?v=MVwdj9Mo88A&feature=plcp