เปิดผลโพล แม่รุ่นใหม่ เจอทุกข์เพียบ กว่า 40% ต้องปากกัดตีนถีบ
สถาบันรามจิตติ แถลงผลโพล "แม่กับการเลี้ยงลูกวัยรุ่น" เจอทุกข์แม่เพียบ เร่งรณรงค์ "พ่อไปไหนไม่เลี้ยงลูก – ลูกเปลี่ยนไปในโลกมือถือ – สื่อดราม่าคร่าความบริสุทธิ์ลูก - ลูกเดี๋ยวนี้เห็นเพื่อนดีกว่าพ่อแม่"
ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการวิเคราะห์สภาวการณ์และขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการ Child Watch เดิม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เผยผลโพลการสำรวจสภาวการณ์ "แม่กับการเลี้ยงดูลูกวัยรุ่น" ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2555
โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างคุณแม่ทั่วประเทศ 1,200 คน และลูกวัยรุ่นอีกจำนวน 1,200 คน พบว่า แม่รุ่นใหม่ในกลุ่มอายุ 30 - 50 ปี แม้โดยเฉลี่ยจะมีการศึกษาสูงขึ้นกว่าแม่รุ่นก่อนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่อาจกลับมีปัญหาการเลี้ยงลูกมากกว่าคนสมัยก่อน แม่รุ่นใหม่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงลูกจากคนรุ่นก่อนน้อยกว่าชัดเจนเพียงร้อยละ 69 ขณะที่แม่รุ่น 50 ปีขึ้นไปได้รับถ่ายทอดเรื่องนี้ถึงร้อยละ 82
อย่างไรก็ตามแม่รุ่นใหม่กลับรู้สึกว่าตนมีแหล่งค้นคว้าข้อมูลการเลี้ยงลูกดีกว่าคนรุ่นก่อน โดยเฉลี่ยร้อยละ 70 ระบุว่า มีแหล่งค้นคว้าค่อนข้างมากถึงมาก เทียบกับแม่รุ่น 50 ปีที่ระบุแบบเดียวกันเพียงร้อยละ 64 โดยเฉพาะแม่ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าเฉลี่ยถึงเกือบร้อยละ 80 บอกว่าตนเองมีแหล่งค้นคว้าหาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกค่อนข้างมากถึงมากจากแหล่งเรียนรู้สมัยใหม่
แม่กว่า 40% ปากกัดตีนถีบ
ทั้งนี้ ด้วยด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่โครงสร้างครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไปกลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีเพียงพ่อแม่ลูกมากขึ้น ส่งผลให้"แม่รุ่นใหม่โดดเดี่ยวมากขึ้น" นอกจากขาดการถ่ายทอดความรู้ในการเลี้ยงดูลูกจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ผลการสำรวจพบว่าแม่รุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 40 ปีลงมาถึงร้อยละ 40 ระบุว่าพ่อมีช่วยเลี้ยงลูกค่อนข้างน้อยถึงน้อย และในแม่กลุ่มอายุเดียวกันที่ระบุว่าพ่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกก็มีเพียงร้อยละ 68 เทียบกับแม่รุ่น 40 ปีขึ้นไปที่ระบุในเรื่องเดียวกันถึงร้อยละ 81
ประเด็นเรื่อง "พ่อไปไหนไม่ช่วยเลี้ยลูก" จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่น่ารณรงค์ให้พ่อมีบทบาทในการเลี้ยงลูกและเป็นแบบอย่างให้ลูกทัดเทียมแม่มากขึ้น
นอกจากช่วงอายุของแม่ที่อธิบายความแตกต่างในการเลี้ยงลูกแล้ว ฐานะทางเศรษฐกิจก็ยังคงมีผลชัดเจนเช่นกัน โดยผลการสำรวจพบว่า แม่ในกลุ่มรายได้น้อยกว่า 50,000 บาทต่อปีลงมาประสบข้อจำกัดมากกว่าแม่ที่รายได้สูงกว่าในแทบทุกเรื่อง ทั้งการให้เวลา การพูดคุย การอบรมสั่งสอน ไปจนถึงการดูแลอาหารการกินของลูก ซึ่งสะท้อนความต้องการชัดเจนในเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนา "ระบบดูแลช่วยเหลือแม่ในภาวะยากลำบากผ่านกลไกชุมชนท้องถิ่น" ให้เป็นยุทธศาสตร์ด้านครอบครัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะมีผลกระทบสูง เพราะคาดว่าจะมีแม่ถึงกว่าร้อยละ 40 ในสังคมไทยที่อยู่ในภาวะตีนถีบปากกัดทางเศรษฐกิจในขณะที่ต้องเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน
ลูกเปลี่ยนไป ยุคมือถือระบาด
ส่วนประเด็นที่น่าสนใจและเป็นความห่วงใยร่วมของคนเป็นแม่ที่มีลูกวัยรุ่นยุคนี้ คือเรื่องการใช้ชีวิตอยู่กับสื่อต่างๆ ที่ยังคงเป็นประเด็นน่าห่วง เรื่อง "สื่อดราม่าคร่าความบริสุทธิ์เด็ก" เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรรณรงค์กับภาคสื่ออย่างจริงจัง โดยแม่ถึงร้อยละ 61 เห็นว่าสื่อดราม่าพวกหนัง ละครที่เต็มไปด้วยฉากความรุนแรง หรือล่อแหลมทางเพศสร้างค่านิยมที่ไม่ดีให้ลูก
ประเด็นเรื่อง "ลูกเปลี่ยนไปในโลกมือถือและอินเตอร์เน็ต" โดยมีแม่ร้อยละ 62 ที่รู้สึกว่าสื่อสมัยใหม่ต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ เกมคอมพิวเตอร์ ได้แย่งเวลาลูกไปจากตน ไม่เพียงเท่านั้นแม่ส่วนใหญ่ยังมีเรื่องที่กังวลมากอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "ลูกเดี๋ยวนี้เห็นเพื่อนดีกว่าพ่อแม่" โดยแม่ถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 66 เป็นห่วงเรื่องการคบเพื่อนของลูกวัยรุ่นที่อาจมีอิทธิพลกับลูกเสียยิ่งกว่าคำสอนตักเตือนของพ่อแม่และอาจนำไปสู่การชักชวนกันทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ
และที่น่าสนใจพอๆ กันคือความเห็นความรู้สึกของลูกวัยรุ่นในวันแม่ ลูกวัยรุ่นส่วนใหญ่มักรู้สึกว่าแม่เป็นห่วงลูกมากเกินไป และลูกมักเห็นว่าแม่กลายเป็นคนขี้บ่นจุกจิก และเรื่องหลายเรื่องที่แม่รู้สึกว่าแม่ทำหน้าที่นั้นได้ค่อนข้างมากหรือดีแล้ว ความเห็นลูกกลับเห็นกลับเห็นว่า แม่ทำหน้าที่นั้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่าอย่างชัดเจน เช่นแม่ร้อยละ 77 ระบุว่าตนทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับลูกได้เหมือนเพื่อน ในขณะที่มีลูกเพียงร้อยละ 65 รู้สึกว่าสามารถพูดคุยและปรึกษาแม่ได้เหมือนเพื่อน เป็นต้น
แม่ 68% กอดลูกสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่แม่สมัยนี้อาจะยังทำน้อยไปและอาจต้องปรับตัวให้มากขึ้น เช่น การรู้จักกลุ่มเพื่อนสนิทของลูกซึ่งมีแม่เพียงร้อยละ 63 ระบุว่ารู้จักกลุ่มเพื่อนของลูกดี และมีแม่เพียงร้อยละ 59 ที่ร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนของลูก
ที่สำคัญ มีแม่เพียงร้อยละ 68 ที่กอดลูกสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในประเด็นหลังนี้เป็นสิ่งที่ลูกๆ วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากได้จากแม่ในวันแม่ ในขณะที่เรื่องที่แม่ขอจากลูกในวันแม่มักเป็นเรื่องให้ลูกเป็นเด็กดีทำหน้าที่ให้ดี ตั้งใจเรียน อย่าคบเพื่อนชั่ว อย่ายั่วโมโหแม่ แต่คำขอจากลูกในวันแม่อาจมีเพียงสั้นๆ คือ "แม่จ๋ากอดลูกหน่อย" เท่านั้น