แง้มโครงสร้าง ศปก.จชต. ตั้ง "13 เซฟตี้โซน" กองทัพผวาประชามติแยกดินแดน
สรุปผลประชุมใหญ่ดับไฟใต้ ตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการ" รับนโยบายจาก กปต.ส่งต่อสู่หน่วยปฏิบัติ แง้มโครงสร้างภายในแยกเป็น 7 ส่วนงาน มีกองข่าวมอนิเตอร์ 24 ชั่วโมงรายงานตรง "นายกฯ-ยุทธศักดิ์" พร้อมโฆษกแถลงข้อมูลต่อสื่อมวลชน "ยิ่งลักษณ์" สั่งเร่ง 4 มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตั้ง "เซฟตี้โซน" 13 อำเภอ บูรณาการกล้องวงจรปิด ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ เสริมแกร่งด่านควนมีดก่อนเข้า 4 อำเภอเชื่อมสามจังหวัดใต้ "เฉลิม" ลั่นไม่ถอนทหาร ขอเพิ่มตำรวจ 4 พันนาย กองทัพผวา "ประชามติแยกดินแดน"
ความเคลื่อนไหวในระดับนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-10 ส.ค.2555) นั้น ไฮไลท์อยู่ที่การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต.เมื่อวันพุธที่ 8 ส.ค.ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 17 กระทรวงเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วย
ไม่ถกเคอร์ฟิว-สั่งตั้งเซฟตี้โซน 13 อำเภอ
สรุปผลประชุมได้ดังนี้
1) นายกฯระบุว่าไม่ได้หารือเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะการใช้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหา
2) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการ 4 เรื่องคือ
1.การจัดให้มีเขตรักษาความปลอดภัย(Safety Zone) เป็นการเฉพาะ โดยเน้น 13 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญและชุมชนสาธารณะ 7 พื้นที่ คือ อ.เมือง จ.ปัตตานี อ.เมือง จ.ยะลา อ.เบตง จ.ยะลา อ.เมือง จ.นราธิวาส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ที่มีสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้งอีก 6 พื้นที่ คือ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อ.ธารโต จ.ยะลา อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
2.ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.จัดให้มีการตั้งด่านตรวจที่ ต.ควนมีด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ด่านตรวจใหญ่ก่อนเข้าพื้นที่ 4 อำเภอ จ.สงขลาที่เชื่อมต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
4.การตรวจสอบการย้ายถิ่นของบุคคลและการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ และให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศมาเลเซีย
3) รัฐมนตรีหลายคนเปิดเผยว่า นายกฯสั่งการให้ทุกหน่วยงานกลับไปจัดทำแผนงานของตัวในภารกิจดับไฟใต้เสนอกลับมาภายใน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องเพิ่มความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย และการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
4) จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานแก้ปัญหาภาคใต้เร็วขึ้น โดยจะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์
ศปก.จชต.รับนโยบาย กปต.สั่งการระดับพื้นที่
5) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ระบุว่า ศปก.จชต.จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดการทำงานของ กปต. เพราะนายกฯดำริว่าต้องมีคนช่วยในสิ่งที่ กปต.คิดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ฉะนั้นศูนย์นี้จะนำคนมานำแนวทางของ กปต.ไปเชื่อมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. เพราะนายกฯสั่งการว่าต้องไม่ก้าวก่ายงานที่ทำอยู่ข้างล่าง (หน่วยปฏิบัติในพื้นที่) แต่ต้องไปสนับสนุน และเกิดเจ้าภาพในแต่ละเรื่องที่จะชัดเจนขึ้น
6) พล.อ.ดาว์พงษ์ อธิบายโครงสร้างการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ว่า มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ถัดลงมาคือ กปต. ลำดับต่อมาคือ ศปก.จชต. ซึ่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี จะสวมหมวก 2 ใบ คือ เป็นประธาน กปต.และผู้อำนวยการ ศปก.จชต. โดยจะมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่วยด้าน ศอ.บต.และกระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลทหาร
ผ่าโครงสร้าง ศปก.จชต.คุม 7 ส่วนงาน
ขั้นตอนต่อจากนั้นคือ จัดทีมขึ้นมารองรับอีกชั้นหนึ่ง โดยแบ่งเป็นกล่องต่างๆ ที่ไม่ใช่งานใหม่ แต่เป็นงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานเดิม โดย ศปก.จชต.มีองค์ประกอบ 7 ส่วนงาน ได้แก่
- ส่วนติดตามสถานการณ์และประชาสัมพันธ์
- ส่วนติดตามประเมินผล
- ส่วนงานรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน
- ส่วนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต
- ส่วนงานอำนวยความยุติธรรมและภัยแทรกซ้อน
- ส่วนงานสิทธิมนุษยชนและสร้างความเข้าใจ
- ส่วนงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
ทั้งนี้ ส่วนงานจะแบ่งเป็นกล่องๆ คือ กล่องการข่าว การติดตามสถานการณ์ และประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องติดตามสถานการณ์จากกล่องนี้ โดยจะมีโฆษกแถลงข่าวกับสื่อมวลชนทันที
7) พล.อ.ดาว์พงษ์ บอกด้วยว่า ศปก.จชต.จะไม่สั่งการไปยัง ศอ.บต.และกองทัพภาคที่ 4 แต่หากสองหน่วยงานนี้ติดขัดสิ่งใด จะแจ้งต่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่จะสั่งการในนามนายกรัฐมนตรี หากยังไม่ไหวต้องแจ้งนายกฯ ให้สั่งการอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การบังคับบัญชาสั้นและเร็ว รวมทั้งสนับสนุนการทำงานระดับพื้นที่มากขึ้น
8) เลขาธิการ สมช.กล่าวถึงการสร้างระบบเตือนภัยด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิดว่า จะต้องมีระบบเก็บข้อมูลยานยนต์รวมทั้งภาพบุคคลไว้เป็นฐานข้อมูล และพัฒนาระบบการข่าวในการแจ้งเตือนประชาชน แต่ต้องทำอย่างระวังเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ส่วนการป้องกันคาร์บอมบ์ และพื้นที่เซฟตี้โซน ในรายละเอียดจะจัดทำเป็นชั้นวงรอบ โดยปรับกำลัง 3 ชั้น คือ ชั้นใน ชั้นกลาง ชั้นนอก และเสริมด้วยซีซีทีวีจากเอกชน รวมทั้งตำรวจต้องรับผิดชอบในการมอนิเตอร์ โดยภารกิจนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้ดูแล
เล็งตั้ง "พล.ต.นักรบ" นั่งเลขาธิการ ศปก.จชต.
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 9 ส.ค.มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมดังนี้
- พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวถึงการสรรหาบุคคลมาทำงานใน ศปก.จชต.ว่า ขณะนี้กำลังสอบถามไปยัง ศอ.บต.และ กอ.รมน.ว่าจะส่งใครมาเป็นเลขาธิการศูนย์ ซึ่งได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่าจะขอเลขาธิการศูนย์ 2 คน โดยต้องเป็นคนที่ทำงานประจำและรู้เรื่องดี เช่น พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน.
- ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ชายแดนใต้จากพรรคประชาธิปัตย์ยื่นกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมวิจารณ์ว่าการตั้ง ศปก.จชต. ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องเอกภาพ และหน่วยปฏิบัติทำงานยากขึ้น
- ร.ต.อ.เฉลิม ตอบกระทู้สดของ ส.ส.ประชาธิปัตย์แทนนายกฯ โดยระบุว่า นายกฯไม่ได้ใช้วิธีการบริหารแบบหลงจู๊ แต่ใช้วิธีการมอบหมายภารกิจให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปดำเนินการ พร้อมเปิดประเด็นเรื่อง "นักการเมืองชั่ว" ค้าน้ำมันเถื่อนที่ชายแดนใต้ จนถูก ส.ส.ประชาธิปัตย์ประท้วงกันวุ่นวาย
"ยุทธศักดิ์"ประเดิมล่องใต้-"เฉลิม"ขอเพิ่มตำรวจ 4 พันนาย
วันศุกร์ที่ 10 ส.ค.มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องดังนี้
- พล.อ.ยุทธศักดิ์ พร้อมด้วย พล.อ.สุกำพล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ว่าที่ ผบ.ตร. ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรับฟังสรุปสถานการณ์และมอบนโยบายแก่หน่วยปฏิบัติ โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับผู้แทนทุกหน่วยในพื้นที่ว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนที่อาจมีการโหมก่อเหตุ และหากสถานการณ์ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อาจมีการนำประเด็นเข้าสู่ที่ประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ได้
- ร.ต.อ.เฉลิม ได้เรียกประชุมนายตำรวจระดับรองผู้บัญชาการถึงรองผู้กำกับการ (รองผบช.ถึง รองผกก.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการด้านการข่าว และเปิดเผยว่า เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในเรื่องโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้นต้องดูแลภาพรวมทั้งประเทศ จะดูแลเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ และคงต้องปรับการดูแลพื้นที่บ้าง มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะทำงานยาก แต่เรื่องเคอร์ฟิวต้องให้ทหารคิด โดยเน้นเส้นทางที่เกิดเหตุบ่อยๆ
- ร.ต.อ.เฉลิม ยังบอกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในภาพรวมลดลง ครู พระ พี่น้องประชาชนตายน้อย แต่ไปหนักที่ทหารและตำรวจ จึงเสนอนายกฯให้นำทหารที่ปลดประจำการแล้วในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นตำรวจสัก 4 พันคน เพราะปล่อยไปอย่างนี้ไม่ได้ และสถานการณ์แบบนี้ยังลดกำลังทหารไม่ได้
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยอยากให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังด้วย และไม่ขัดข้องหากจะขอประชุมลับ
กองทัพผวา"ประชามติ"แยกดินแดน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ส.ค.ว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทหารแก้ไขฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ ที่ผ่านมาได้บังคับใช้กฎหมายทุกพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่เสียดินแดน แต่ถ้าชะล่าใจจะเสียดินแดนแน่ในอนาคต
"เมื่อไรลงประชามติก็เรียบร้อย แต่เราคงไม่ยอม ก็สู้กันจนตาย แต่การจะสู้กันจนตาย ต้องทำให้พี่น้องมุสลิมเข้าใจ สู้กับผู้ร้ายนิดเดียวไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่เขาใช้วิธีหมาลอบกัด" รองผบ.ทบ.ระบุ
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่นั้น กฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ 2 ฉบับ คือกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สามารถประกาศได้ แต่การใช้ ไม่ได้ใช้แบบหลับหูหลับตาใช้ ต้องคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่ แต่พอมีเรื่องเคอร์ฟิวขึ้นมาก็มีคนโจมตีว่ากระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงทำอย่างนั้นไม่ได้แน่นอน เพราะมีข้อยกเว้นอยู่แล้ว เราคิดกันแล้วว่าคงไม่ประกาศกันเต็มพื้นที่หรือเต็มอำเภอ คงจะเป็นเส้นทางถนนมากกว่า
"อาจจะมีการจำกัดการใช้ถนนเส้นนี้ ใครจำเป็นต้องสัญจรไปมาก็ต้องมาลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าใครไปแล้วไม่บอกกับเจ้าหน้าที่ แสดงว่าคือพวกโจร จะได้สามารถแยกกันง่าย แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้สั่งการอะไรทั้งสิ้น" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
สำหรับประเด็น "การทำประชามติ" ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ พูดถึงนั้น หมายถึงการทำ Self-determination หรือที่เรียกว่า The right of nations to self-determination หมายถึงสิทธิในการเลือกที่จะปกครองตนเอง หรือการตั้งประเทศใหม่ ซึ่งรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ
ประเด็นนี้เคยมีการพูดคุยกันทั้งในแวดวงวิชาการและฝ่ายความมั่นคงถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยื่นเรื่องต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือองค์กรระหว่างประเทศเพื่อเดินหน้ากระบวนการ Self-determination เพราะมีหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว เช่น สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน หรือซูดานใต้ ซึ่งมีกระบวนการทำประชามติเมื่อต้นปีที่แล้ว และประกาศตัวเป็นประเทศใหม่ประเทศล่าสุดในเวลาต่อมา
กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่ากระบวนการ Self-determination สำหรับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากต้องมีเงื่อนไขรองรับหลายประการ เช่น เสียงสนับสนุนของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องมากพอ หรือเงื่อนไขของรัฐบาลไทย อาทิ มีการกระทำที่เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือสงครามกลางเมืองที่ควบคุมไม่ได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งหลายฝ่ายยังคงเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่กระนั้นก็ต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวในต่างประเทศของหลายๆ กลุ่ม เช่น กลุ่มพูโล หรือบีอาร์เอ็น ที่อาจฉวยโอกาสจากความผิดพลาดของรัฐบาลในบางจังหวะเวลา เสนอเรื่องนี้ได้เหมือนกัน
"พัลลภ"แนะรบแบบกองโจร - "เฉลิม"ปูด 40 ผู้ต้องหาขอมอบตัว
สำหรับความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในรอบสัปดาห์
- 6 ส.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรียกประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ประจำปี 2555 โดยในที่ประชุมมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
- 6 ส.ค. พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรอง ผอ.รมน. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นสงครามกองโจรแล้ว ตามแบบสากลเมื่อเป็นลักษณะกองโจรก็ต้องสู้ด้วยกองโจร โดยหลักมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.search คือ ค้นหาแกนนำติดอาวุธและแนวร่วมว่าเป็นใคร 2.destroy คือ เมื่อสืบทราบว่าเป็นใครแล้วก็ให้ใช้กำลังทางทหารเข้าทำลาย และดึงแนวร่วมเข้ามาเป็นพวก 3.reconstruction คือ เข้าสู่การบูรณาการและปรับแผนเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ
"ขณะนี้สถานการณ์กลับไปเหมือนปี 2520 แม้ว่าขบวนการจะมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลไปบ้าง แต่มันยังเป็นกองโจร เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ต่อสู้ในลักษณะกองโจร" พล.อ.พัลลภ ระบุ พร้อมเสนอให้ปรับยุทธวิธีของทหาร โดยใช้การลาดตระเวนเดินเท้าเข้าพื้นที่เป้าหมาย หากเจอกับโจรก็ซัดกันเลย และยังอ้างข้อมูลการข่าวว่ากองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ไปฝึกในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้เวลา 8 เดือน
- 6-7 ส.ค. ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า มีผู้ต้องหาจากชายแดนใต้จำนวน 40 คนติดต่อขอเข้ามอบตัว แต่ไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียด
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ศูนย์ภาพเนชั่น เอื้อเฟื้อภาพการประชุม กปต.ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน