แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สุพจน์ แจงลดวงเงินบริษัทจัดการน้ำเหลือ 10% ของโครงการ แก้ครหา “ล็อกสเป็ค”
เลขาฯ สบอช. เผยที่ประชุมตั้ง อนุฯ 3 ด้าน พิจารณาเลือกกรอบแนวคิด ยึดหลักถูก-เร็ว-ดี ยันไม่ใช้เทิร์นคีย์-วิธีพิเศษหรืออีอ็อกชั่น ย้ำไม่ข้าม EIA เชื่อผ่านทุกโครงการ ไม่มีคำว่าทำไม่ได้
วันที่ 10 สิงหาคม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เปิดเผยภายหลัง ประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ครั้งที่ 1 โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นประธาน ณ ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่
1.คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอกรอบแนวคิด โดยมีตน (นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็นประธาน
2.คณะอนุกรรมการพิจารณากรอบแนวคิดทางเทคนิคและวิชาการ โดยมี รศ.ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ เป็นประธาน
3.คณะอนุกรรมการกรอบแนวคิดการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมี ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน
"คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดจะพิจารณาคัดเลือก 395 บริษัทที่ขอรับกรอบแนวคิดฯ ตามกรอบหน้าที่ โดยวิธีการเปรียบเทียบและให้ความเห็น ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกเท่านั้นจะสามารถส่งรางกรอบแนวคิดฯ และฉบับจริง และถูกเรียกสัมภาษณ์ จากนั้นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ.เป็นประธานจะทำการให้คะแนน คัดเลือกและประกาศผล ในวันที่ 31 มกราคม 2556"
ในส่วนหลักเกณฑ์การให้คะแนน นายสุพจน์ ชี้แจงว่า คณะกรรมการยึดแนวทาง 8 ข้อ คือ 1.ความถูกต้องและความครบถ้วนของกรอบแนวคิด 2.ความสอดคล้องกับแผนแม่บทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนการบริหารจัดทรัพยากรน้ำ (กยน.) 3.ความเป็นไปได้และความเหมาะสมทางเทคนิค 4.ความเชื่อมโยงของระบบทั้งหมด 5.ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ 6.กรอบเวลา ต้องสั้นที่สุด 7.ประมาณการค่าใช้จ่าย งบประมาณ 8.ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ
โดยกรอบการให้คะแนน ทั้งหมด 100% แบ่งเป็น 1.แนวคิด วิธีการ เทคนิค และผลกระทบ 35% 2.กรอบวงเงิน และระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการ 35% 3.ประสบการณ์ในการทำงาน 20% 4.ข้อเสนอเพิ่มเติมอื่นๆ 10% เช่น ภาวะภัยแล้ง หรือสภาวะโลกร้อน
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อผูกมัดทางการเงิน และยืนยันว่าไม่ใช้ระบบเทิร์นคีย์ เพราะมีกรอบแนวคิดออกแบบอยู่แล้ว แต่จะเป็นระบบดีไซน์บิ้วท์ (Design Build) หรือดีไซน์ บิด บิ้วท์ (Design-Bid-Build) รวมทั้งจะไม่ใช้วิธีพิเศษ หรืออีอ็อกชั่น แต่คณะกรรมการจะเสนอ ครม.เป็นครั้งคราวว่าในแต่ละโครงการจะใช้รูปแบบใด
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายห่วงใยว่าจะมีการล็อกสเป็ค เนื่องจากกำหนดคุณสมบัติบริษัทไว้สูงนั้น เลขาฯ สบอช. กล่าวว่า คณะกรรมการจึงมีมติให้ปรับลดคุณสมบัติบริษัท โดยให้ลดวงเงินประสบการณ์ของบริษัทย้อนหลัง 10 ปี เหลือ 10% ของแต่ละโครงการ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ งบประมาณ 50,000 ล้านบาท ย้อนหลัง 10 ปี ต้องมีวงเงิน 10% ของโครงการ คือ 5,000 ล้านบาท โดยที่จะเร่งนำมติดังกล่าวเข้า ครม.ในวันที่ 14 ส.ค.เพื่อพิจารณา
เลขาฯ สบอช.กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ได้ล็อกสเป็คบริษัทจากประเทศจีน โดยจะใช้มาตรฐานการคัดเลือกบริษัทตามสากล คือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย ( The Asian Development Bank : ADB ) ในด้านสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้ข้ามขั้นตอน จะให้สถาบันการศึกษาเข้ามาทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชดำริ และความมั่นคงของประเทศเช่นนี้ก็เป็นสิ่งต้องทำ ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จะต้องผ่าน จะไม่มีคำตอบว่า ทำไม่ได้