ม.ร.ว.ดิศนัดดา เตรียมหนุน อบจ.ทั่วประเทศทำแก้มลิง
เลขาฯมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ชี้อนาคตน้ำจะขาดแคลน เกิดสงครามแย่งชิง แนะสร้างชุมชนเข้มแข็งต้องสอนให้ชาวบ้านรู้จักช่วยตัวเอง ตามศาสตร์พระราชา อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ ในงานประชุมวิชาการนานชาติ “การยกระดับคุณภาพชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น อาเซียน” ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง ร่วมกับสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ มีการเสวนาหัวข้อ “วิถีชุมชนอยู่กันอย่างไร หากมองไกล 20 ปี” โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวตอนหนึ่งว่า การจะมองเห็นอนาคตข้างหน้าได้ ต้องเริ่มจากการกลับไปที่รากเหง้าของเราเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันเราทิ้งของดั้งเดิมไปหมด เพราะเราตามผู้มีอิทธิพลทางการค้า แม้แต่การเกษตรก็กลายเป็นพืชเชิงเดี่ยว ในขณะเดียวกันเราก็กลายเป็นมนุษย์เงิน เดือน ฉะนั้น ในอนาคตชุมชนจะเข้มแข็งต้องกลับไปดูที่บรรพบุรุษ
“ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาจาก ความยากจนและการขาดโอกาส คนเราทุกคนไม่ได้อยากเป็นคนไม่ดี แต่การที่เป็นคนไม่ดีนั่นเพราะไม่มีทางเลือก ดังนั้นวิธีการคิดคือต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง เพราะทั้งหมดในโลกนี้ไม่ว่าจะ ดีจะชั่วเกิดขึ้นจากคนทั้งนั้น โดยต้องแก้ 3 เรื่องคือ เจ็บ จน และไม่รู้ ควบคู่ 3 องค์ประกอบคือ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสุขเข้าไปด้วย” เลขาฯมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าว และว่า สำคัญคือ ต้องช่วยผู้คน ให้สามารถช่วย ตัวเองได้ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาให้ชาวบ้านทั้งหมด เราเกาไม่ถูกที่คันทำให้ปัจจุบันชาวบ้านแบมือของอย่างเดียว โดยที่ไม่รู้จักลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวด้วยว่าการแก้ไขต้องไปยังจุดไต้ตำตอ ลงไปยังชุมชนยกปัญหาขึ้นมาแก้ไข ซึ่งในอีก 20-50 ปีข้างหน้า เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะยังมีอยู่ แต่อาจจะเป็นคนละระดับ ฉะนั้น เราต้องหาทางเพื่อลดช่องว่าง ระหว่างคนมีกับคนจน ต้องลงไปทำงานร่วมกับชุมชน โดยต้องเรียนรู้และเข้าใจในวิถีที่เป็น ไม่ใช่เป็นการคิดค้นในห้องแอร์ ศึกษาวิจัยแล้วไปยัดเยียดให้คนในชุมชน ต้องเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง แล้วเข้าไปเรียนรู้ ปรับตัวและช่วยแก้ไข ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ให้เหมือนเราเป็นตัวเขา
“ในการแก้ปัญหาของเรา เราทำอยู่ 3S ตามศาสตร์ของพระราชา พระราชินี ได้แก่ 1.Survival อยู่ให้รอด ต้องมีอาหารให้กินตลอดทั้งปี คือเราต้องรู้ว่าเราจะสามารถหาอาหารสำหรับมื้อหน้าที่ไหนเพื่อบริโภค 2.Sufficient อยู่อย่างเพียงพอ และพอเพียง มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเก่า และไม่มีหนี้ 3. Sustain อยู่ย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน คือเมื่อมีผลกระทบจากข้างนอกหรือเดือดร้อน เราสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น”
นอกจากนี้ เลขาฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวด้วยว่า ในอนาคตน้ำจะขาดแคลนและสามารถทำให้เกิดสงครามการแย่งชิงได้ ฉะนั้นต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยตั้งต้นจากเรื่องน้ำ ควบคู่ไปกับดิน คือ เราต้องมีป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอยให้อยู่ใกล้บ้าน เพราะถ้าเรามีป่าสมบูรณ์ น้ำจะมา และคนจะไม่บุกรุกป่า
“อนาคตการเกษตรของประเทศไทยนั้นดีมาก เพราะเรามีพร้อมทุกอย่าง แต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนตกในประเทศไทย 7 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราสามารถเก็บได้ 7 หมื่นล้าน ทุกรัฐบาลไม่เคยเชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในเรื่องน้ำ ถ้าเราเก็บน้ำให้ได้และไม่ให้น้ำท่วม เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นสีเขียวและจะไม่มีคนจน ซึ่งขณะนี้กำลังจะดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศไทยให้ลุกขึ้นมาทำแก้มลิง เพื่อมาลงขันและทำด้วยกัน ต้องทำให้คนเป็นศูนย์กลางให้ได้ สิ่งสำคัญคือศาสตร์ของพระราชาที่สอนมากว่า 60 ปี มีคนดูงานท่านหลายคนแต่จะมีกี่คนที่จะนำไปลงมือทำ”
สร้างยุทธศาสตร์ในอนาคต เริ่มจากกระตุ้นให้คนอยากเรียนรู้
ด้าน ครูบาสุทธินันท์ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์จากมหาชีวาลัยอีสาน กล่าวถึงปัญหาของชุมชน ว่า คือการมีความรู้ที่ไม่พอใช้ การที่คนในชนบทเข้ามาอยู่ในกรุง นั่นเพราะเกิดกระแสการเปลี่ยนปลง ชุมชนไม่ได้รับการส่งเสริม เรียนรู้ พัฒนา และไม่รู้ว่าจะไปเรียนที่ไหน เรียนกับใคร เรียนอะไร
“เรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องใหญ่มาก ผมไม่เข้าใจว่าเมื่ออยากจะรู้ทำไมไม่ทำให้สนุก ทำไมต้องทำให้เครียด การเรียนปฏิบัติมันช่วยได้เพราะทำให้เราได้ทิศทาง กระบวนการ ซึ่งเราขาดกันมาก ฉะนั้นเราต้องปรับวิธีเรียน ให้การเรียนทรงอนุภาพ ให้คนอยากเรียน เราอยู่กับห้องเรียนแคบๆ วิชาแคบๆ เราอยู่ในโลกยุคใหม่ ลูกศิษย์ก็เป็นเด็กยุคใหม่ โปรดอย่าสอนวิธีเก่า ต้องทำความรู้ให้มีชีวิตชีวา สนุก ให้กระโดดออกจากหน้ากระดาษ รู้จักใช้ความรู้และเทคโนโลยีมาช่วยกัน ปรับการเรียนให้เป็นเชิงรุก โดยเริ่มจากการลุกออกจากเก้าอี้เป็นสิ่งแรก”
ครูบาสุทธินันท์ปรัชญพฤทธิ์ กล่าวต่อว่า คนในชนบทมีทักษะชีวิตมากมายที่สามารถจะอยู่และลงมือทำได้ โดยมองว่า ศักยภาพของคนมีอยู่ในตัวคน ซึ่งต้องมีวิธีการที่ทำให้เดินไปข้างหน้า ไม่ใช่คุมกำเนิดความสามารถของคน ต้องหาว่าเราจะมียุทธศาสตร์อย่างไรที่จะไขลานคนไทยให้อยากเรียนรู้
“ถ้าไม่พัฒนาการเรียนรู้ ไม่มีความรู้จะมองยุทธศาสตร์ในอนาคต 20 ปีได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะให้ลูกศิษย์ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ หน้าที่ปัจจุบัน และดูแลทรัพยากร สังคม เพราะการที่เราลอยแพสังคมทำให้เราต้องมานั่งซึมอยู่อย่างนี้”