แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
นักวิชาการอัด ศธ.-รง."เน่า" ผลิตแรงงานด้อยคุณภาพ แนะสร้างงานวิจัยแก้ปัญหา
"ดร.จิระ" หนุนไทยพัฒนาทุนมนุษย์-ยกระดับแรงงานความรู้ คิด-วิเคราะห์เป็น ตั้งรับอาเซียน ฉะภาครัฐเน่า นโยบายสับสน
เมื่อเร็วๆนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดเสวนาเรื่อง "strategy roadmap ด้านแรงงานกับการพัฒนาศักยภาพและความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015" ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพ โดยมี ศ.ดร. จิระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและประธาน Chira Academy ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล รองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และนางนิสา นพทีปกังวาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานแรงงานไทย สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมเสวนา
ศ.ดร.จิระ กล่าวถึงคุณภาพของแรงงานไทยในปัจจุบันว่า ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ต้องมองไปที่กระทรวงแรงงาน เพราะยังมีนโยบายที่สับสน รวมทั้งเกี่ยวโยงไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตบุคลากรด้วยว่า ผลิตบุคลาการ แรงงานอย่างไรออกมา มีคุณภาพอย่างที่ผู้ใช้ต้องการหรือไม่
“การพัฒนาทุนมนุษย์จำเป็นต้องเกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่ AEC เพื่อสร้างการยอมรับและหลีกเลี่ยงภัยคุกคาม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาฯ ต้องค้นหาจุดบกพร่องของตนเอง มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่สับสน เพื่อสะท้อนว่าจะไม่ยอมเน่าอีกต่อไป”
ส่วนการพัฒนาศักยภาพแรงงานในอนาคตนั้น ศ.ดร.จิระ กล่าวว่า การต่อสู้แข่งขันกับประเทศอื่นด้วยแรงงานที่มีผีมือ (skill labor) อย่างเดียวตามที่เข้าใจกันนั้นไม่เพียงพอ ต้องก้าวข้ามไปถึงการพัฒนาศักยภาพแรงงานที่มีความรู้ (knowledge) ใฝ่รู้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น รวมทั้งมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เพราะแนวโน้มการใช้แรงงานกำลังถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่แรงงานที่มีความรู้และไม่หยุดเรียนรู้นั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถมาทดแทนได้ และเมื่อแรงงานมีคุณภาพ ได้คนเก่งไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าแรง 300 บาทเช่นทุกวันนี้ ขณะเดียวกันเมื่อแนวโน้มของโลกในปัจจุบันไม่เน้นการหยุดงานประท้วง แต่เน้นการนำลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐมาพูดคุยกัน กระทรวงแรงงานจึงต้องเปิดกว้างให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนรวม เดินหน้าไปพร้อมกัน
“นอกจากนี้มองว่า จะต้องมีการศึกษาวิจัย เช่นเรื่องการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาอุปสรรค และแนวทางการขับเคลื่อนที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
นางนิสา กล่าวว่า ในเรื่องการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนนั้น ทางกระทรวงฯ ได้มีแนวทางจะพัฒนาแรงงานตามแผนชาติที่ได้วางไว้คือ บริหารจัดการแรงงานที่ดี ให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี มีความสงบสุขในการทำงาน มีสรรถถะในการสร้างผลผลิต และนอกจากนี้ยังจะส่งเสริมการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานอีกด้วย และทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ AEC แล้ว เชื่อว่าผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้
ด้าน ดร.สมชัย กล่าวถึงการพัฒนาแรงงานว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวในการบริหารธุรกิจ ใช้วิธีการสอนให้คนเป็นเถ้าแก่ ส่วนเจ้าของกิจการนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในภาพใหญ่ จัดหาแหล่งเงินทุน เพราะเมื่อแรงงานเห็นอนาคต ความก้าวหน้าในประกอบอาชีพ ก็จะตั้งใจทุ่มเททำงานให้แก่องค์กรอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หมดยุคที่นายจ้างจะรวยคนเดียว โดยละเลยคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของลูกจ้างแล้ว ขณะเดียวกันเห็นว่ารัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยพัฒนาคนให้เป็นเจ้าของกิจการ ในธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่นายพนัส กล่าวถึงบทบาทของสภาองค์การลูกจ้างฯ ว่า ที่ผ่านมาพยายามต่อสู้ ทั้งเรื่องการแก้กฎหมาย ให้ลูกจ้างเข้าไปมีส่วนรวมในคณะกรรมการไตรภาคี มีการสร้างเครือข่ายโครงข่ายระหว่างลูกจ้างในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในระยะแรกของการตั้งสภาองค์การลูกจ้างฯ นั้นเหมือนว่าจะมีอนาคต แต่ปัจจุบันกลับพบว่าไม่ได้พัฒนาไปจากเดิมมากนัก เพราะไม่มีกำลังสนับสนุนจากภาครัฐ คิดอะไรไป ภาครัฐเห็นด้วยบอกว่าดี แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ
ส่วนด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงานนั้น นายพนัส กล่าวยอมรับว่า การที่วงการแรงงานรัดตัวมากขึ้น ระบบแข่งขันในธุรกิจรุนแรง ลูกจ้างไม่มีโอกาสขยับขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ รวมทั้งการที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่รู้จักบริหารรายรับรายจ่าย ทำให้ต้องทำงานล่วงเวลา จนไม่มีเวลาในการพัฒนาตนเองนั้น ถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข และเห็นว่าภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนอีกเช่นกัน เพราะการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ลูกจ้างจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดๆ ฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ขาทั้งสองข้าง ทั้งภาครัฐและลูกจ้างต้องเดินไปด้วยกัน
ที่มาภาพ: อินเทอร์เน็ต