ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ เชิดชู 40 ครูช่าง ดันหัตถศิลป์ท้องถิ่นชิงตลาดเออีซี
ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ จัดประชุมนวัตศิลป์อาเซียนบวก 4 มอบรางวัลเชิดชู 40 ครูช่าง เสนอร่วมศึกษารากเหง้าท้องถิ่นสู่การพัฒนาสินค้าในภูมิภาค
เร็ว ๆนี้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลหัตถศิลป์ไทยเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี” และการประชุมนวัตศิลป์นานาชาติร่วมกับประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนบวก 4 (อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และอินเดีย) ณ อาคารพระมิ่งมงคล ศ.ศ.ป. จ.อยุธยา พร้อมมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติครูช่าง 40 คน
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมช.พาณิชย์) กล่าวต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ที่ผ่านมา ศ.ศ.ป.ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้ความสำคัญศิลปหัตถกรรมของไทยมาร่วม 40 ปี ซึ่งได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาสร้างสรรค์เป็นผลงาน และผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ กระจายรายได้กลับสู่ครัวเรือน โดยเป็นงานที่ได้มาจากในหลายพื้นที่ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและศิลปวัฒนธรรมและประเพณีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนมีคุณค่า และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนากลุ่มอาชีพด้านศิลปหัตถกรรมในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งศูนย์ศิลปาชีพฯ ก็พยายามเข้าไปให้ความรู้ให้มากที่สุด
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า การส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมชุมชนสู่ตลาดอาเซียนนั้น ศ.ศ.ป.พยายามสร้างคุณค่าให้สินค้าโดยการสร้างสรรค์การออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ๆ และเพิ่มประโยชน์ใช้สอยในตัวงานมากขึ้น เพื่อสร้างจุดขายส่งออกสู่ตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดอาเซียนเป็นเป้าหมายหลัก โดยการประชุมนวัตศิลป์นานาชาติร่วมกับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนบวก 4 ครั้งนี้ ไทยจะเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมศึกษารากเหง้าศิลปหัตถกรรมอาเซียน และเสนอตั้งคณะทำงานร่วมกันในกลุ่มงานหัตถกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายผลเชิงธุรกิจร่วมกันต่อไป พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องประดับไทยจะได้รับความนิยมในภูมิภาคมากที่สุด
“ชาติอาเซียนมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกับไทย ควรดึงงานหัตถกรรมของแต่ละชาติมาสร้างเครือข่ายสินค้าทางวัฒนธรรม หากเราเข้าใจวิถีชีวิตและรากเหง้าทางศิลปหัตถกรรมของอาเซียน เราก็จะรู้ว่าความต้องการของตลาดคืออะไร ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยขยายไปในอาเซียนได้ตรงจุด” นางพิมพาพรรณ กล่าว
ด้านนางสมจิตร บุรีนอก ครูช่างผ้าไหม ศูนย์ทอผ้าไหมบ้านกุดรัง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมบ้านกุดรัง ตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 โดยได้รับความร่วมมือจาก ศ.ศ.ป.ที่ช่วยพัฒนาลายผ้า และจัดหาสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากเป็นที่นิยมมาก เพราะมีความละเอียดในลวดลาย ซึ่งความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในหมู่บ้าน และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนหันมาสนใจเรียนรู้ด้านผ้าไหม สร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 60 บาท ถือเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลังด้วย
ทั้งนี้งาน “เทศกาลหัตถศิลป์ไทยเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี”จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 ส.ค.55 ณ อาคารพระมิ่งมงคล ศ.ศ.ป. จ.อยุธยา เวลา 10.00-18.00 น. โดยภายในงานจะมีการเชิดชูเกียรติครูช่างหัตถกรรมไทย การจัดแสดงนิทรรศการศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรมกว่า 400 ร้าน และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ.
……………………..
(ล้อมกรอบ)
รายชื่อครูช่างที่ได้รับเกียรติบัตรเชิดชูจากศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ
1.ครูสมคิด ด้วงเงิน เครื่องทองลงหิน 2.ครูอุทัย เจียรศิริ เครื่องถมเงิน-ถมทอง 3.ครูวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เขียนลายเบญจรงค์ 4.ครูบานเย็น สอนดี จักสานใบลาน 5.ครูภารดี วงค์ศรีจันทร์ ผ้าด้นมือ 6.ครูอำพัน ฉัตรเฉลิมวุฒิ จักสานเชือกกล้วย 7.ครูศรี ลืมเนตร เครื่องปั้นดินเผา (เตาลุงศรี) 8.ครูสมเดช พ่วงแผน ถ้วยชามสังคโลก 9.ครูอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ ทอฝ้าย 100% 10.ครูประภาพรรณ ศรีตรัย ผ้าหม้อห้อม 11.ครูสมจิตร บุรีนอก ผ้าไหม 12.ครูตีพะลี อะตะบูกริช 13.ครูอุไร แตงเอี่ยม เครื่องเบญจรงค์ 14.ครูนฤมล ทองสิริอนันต์ จักสานเชือกมัดฟาง,กก และรังไหม 15.ครูสลัด สุขขี จักสานเถาวัลย์แดง 16.ครูสมชัย ชำพาลี เครื่องดนตรีไทย 17.ครูบุปผา ล้วนวิลัย หัวโขน 18.ครูประนอม ทองประศาสน์ ผ้าไหม 19.ครูจรวยพร เกิดเสม จักสานผักตบชวา 20.ครูบุญสม ศรีสุข มีดอรัญญิก
21.ครูพิทยา ศิลปศร เครื่องกระดาษ 22.ครูณิศาชณ บุปผาสังข์ ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่และผ้าลายขิด 23.ครูลำดวน นันทะสุธา ผ้าขิด 24.ครูยุทธ แสงหิ่งห้อย กลอง 25.ครูทิวารุ่ง กำหนดแน่ ผ้า 26.ครูนิพนธ์ ยอดคำปัน เครื่องทองโบราณ 27.ครูประคอง จันทะมาตย์ ผ้าไหมแพรวา 28.ครูมงคล ตั้งมงคลกิจการ เครื่องเงิน 29.ครูณิชาภัทร อัครอมรธรรม จักสานทองเหลือง 30.ครูศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ เครื่องเขิน 31.ครูพงษ์ลักษณ์ สุวรรณมาลี เครื่องเบญจรงค์ 32.ครูวิเชียร เถาพันธุ์ ปิดทองประดับกระจก 33.ครูศดานันท์ เนตรทิพย์ ผ้า 34.ครูจรรยา เวชวินิส จักสานปอเฮ 35.ครูธานินทร์ ชื่นใจ เครื่องรัก, จิตรกรรมไทย 36.ครูพิสิษฐ์ เทพทอง ผ้าบาติก 37.ครูละมัย โพธิ์ภาษิต ผ้าไหมมัดหมี่, ผ้าไหมยกดอก 38.ครูสำรวย กลับทอง จักสานละเอียด 39.ครูขวัญ พลเหิม เครื่องเงินลายโบราณ และ 40.ครูนราภรณ์ เกิดผล ผ้าทอ.