แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
จับตางบ 3.5 แสนล.บ. ‘เสรี’ แนะจัดการน้ำไม่มีพิมพ์เขียว ไม่เหมือนสร้างสนามบิน
ภคต.จับตางบจัดการน้ำ 3.5 แสนล.บ. หวั่นช่องโหว่คอร์รัปชั่น-ยกเว้นระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ข้ามขั้น EIA ด้านต่อตระกูล แนะเทิร์นคีย์ไม่เหมาะ เกรงซ้ำรอยคลองด่าน-โฮปเวลล์
เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภคต.) จัดเสวนา "งบน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท...รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส" ณ ห้องบุษบา โรงแรมสวิสโฮเทล เลอคองคอร์ด โดยมี นายประมณฑ์ สุธีวงศ์ ประธาน ภคต. กล่าวเปิดงาน นายสุพจน์ โตวิจักรณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ร่วมเสวนา
นายประมณฑ์ กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ เป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจ ต้องการเห็นความโปร่งใส และได้โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างถาวรและมีประสิทธิภาพ จึงมีความเป็นห่วงถึงที่มาของงบประมาณ จำนวนงบประมาณ ประสิทธิภาพในการจัดการ รวมทั้งข้อกังวลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาสังคม หากต้องมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เวนคืนที่ดิน
"เห็นด้วยว่าโครงการนี้ต้องทำอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องมีประสิทธิภาพ อย่าง มติครม.ที่จะให้ใช้ระเบียบพิเศษในการดำเนินการ ยกเว้นระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ก็หวั่นว่าจะเกิดช่องโหว่และการคอร์รัปชั่นได้ ทั้งนี้ เชื่อว่ามีหลายโครงการที่เป็นปัญหาและสังคมก็อยากจะเห็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อเสนอ เพื่ออุดช่องว่างเหล่านั้น"
ขณะที่รศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า ครั้งแรกเป็นครั้งแรกที่กลุ่มวิชาชีพการก่อสร้างมีความเห็นตรงกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม อย่างที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้จับตาประกาศเชิญชวนให้มารับข้อเสนอ ซึ่งยังไม่ใช่ทีโออาร์ และจับตารูปแบบการจ้างและการรับเหมา ว่าเป็นแบบเทิร์นคีย์ที่มาออกแบบและก่อสร้างด้วย หรือดีไซน์บิวส์ ทั้งนี้ ในทางวิศวกรรม มองเห็นชัดว่ากรมชลประทานมีอิทธิพลมาก เนื่องจากเขื่อนยังประสบปัญหา สร้างไม่ได้มาตลอด อาจจะสร้างได้ในโครงการนี้ โดยอาจมีการยกเว้น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างหรือไม่
"ผมเคยต่อต้านระบบเทิร์นคีย์ ที่เคยประสบปัญหา เช่น กรณีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และโครงการโฮปเวลล์ แต่ก็เคยใช้กับการสร้างสนามกีฬาที่ศูนย์ธรรมศาสตร์ ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่วิธีที่ง่าย ปัญหาอยู่ที่หากเขียนไม่ชัดเจน จะไม่ได้อย่างที่ต้องการ หากเจ้าของบ้านยังไม่รู้ว่าเราอยากได้อะไร ผู้ก่อสร้างก็อาจสร้างได้ไม่เหมาะ ให้งบ 5 หมื่น ใช้ระบบเทิร์นคีย์อาจได้บ้านแบบขุดรูอยู่ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงและผู้ดำเนินการต้องตอบให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาจ้างแบบเทิร์นคีย์หรือไม่"
รศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลอยากได้แนวคิดที่ดีและรวดเร็วนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาลงรายละเอียดในเอกสารให้มากกว่านี้และต้องยอมให้ข้าราชการที่มีความรู้จากกระทรวงต่างๆ ที่มีความบริสุทธิ์ใจเข้ามาร่วมเขียนทีโออาร์ที่แท้จริง ทั้งนี้ การให้ต่างชาติเข้ามาศึกษาและทำเอกสารภายในระยะเวลา 3 เดือน เชื่อว่าไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน ยกเว้นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมาก ซึ่งคงไม่ยุติธรรมสำหรับประเทศที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา
"มีข่าวลือว่ามีประเทศมาตั้งออฟฟิซทำงานอยู่ก่อนแล้ว จึงหวั่นเรื่องบาดหมางระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้ ญี่ปุ่นและอเมริกา กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และหวังว่าจะได้งานในโครงการดังกล่าว เช่นเดียวกับวิศวกรและผู้รับเหมาไทยตอนนี้ส่ายหัวว่าคงไม่มีวาสนาจะได้ร่วมโครงการ ทุกคนอยากให้รัฐบาลทำสำเร็จและใช้งบประมาณในแบบที่คนไทยมีโอกาสทำงาน เพราะหากจ้างบางประเทศ คนไทยอาจไม่ได้อะไรเลย"
ด้านรศ.ดร.เสรี กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำ หากให้เวลาศึกษาเพียง 3 เดือนคงไม่มีใครได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด การจัดการภัยพิบัติไม่มีพิมพ์เขียวและไม่มีการจัดการแบบถาวร ซึ่งเดิม กยน.ก็ไม่ได้บอกว่าทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใด ผู้ดำเนินการก็จะต้องประเมินประสิทธิผล
"ผมว่าจุดที่ต้องเสริม คือ ความชัดเจน และกังวลว่าคำตอบจะไม่ตกผลึก การคัดเลือกดีไซน์บิ้ว คัดเลือกยาก จะพิจารณาอย่างไร บนมาตรฐานเดียวกัน ในข้อเสนอที่ต่างกันของแต่ละประเทศ ทำอย่างไรให้เกิดทางออกที่ดีที่สุด ต้องให้เวลา อย่างเร่งทำ ไม่ต้องกังวลว่าน้ำมา ไม่มีอะไรถาวร ทุกวันนี้สภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนไป น้ำจะมามากหรือน้อยไม่ใช่ตัวแปรอีกต่อไป ต้องคิดให้ยาว ให้ลึก ไม่เหมือนสร้างสนามบิน"
ขณะที่นายสุพจน์ ในฐานะตัวแทนผู้ดำเนินการ กล่าวถึงแผนงานในโครงการพร้อมยืนยันว่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่เปิดให้มีการนำเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) ในงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทนั้น เป็นโครงการระยะยาว ตามแผนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ดำเนินการศึกษาไว้ และอยู่ในขั้นเสนอกรอบแนวคิด ยังไม่ได้ใช้งบประมาณ กู้เงิน ประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด กระบวนการต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดขึ้นภายหลังที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการคัดเลือกแล้ว และย้ำว่าทุกโครงการจะเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ เช่น การทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือปรับปรุงผลการศึกษาของบางโครงการที่ศึกษาไว้นานแล้ว จะไม่มีการข้ามขั้นตอนอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงกู้เงินและดำเนินการก่อสร้าง โดยบางโครงการเริ่มสร้างหลังจากนั้นอีก 1 ปีก็อาจจะเร็วไป ต้องใช้เวลาศึกษา
"ภายในสิ้นเดือนนี้รัฐบาลจะจัดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าและการดำเนินการในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งนิทรรศการน้ำ ให้ประชาชนรับทราบและติดตามแต่ละโครงการอย่างละเอียด และขณะนี้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าในการบริหารจัดการน้ำได้จากเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ http://www.waterforthai.go.th รวมทั้งในแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า water4thai"