ยกเครื่อง ตชด.ชายแดนใต้ เพิ่มเขี้ยวเล็บนักสืบ "ตร.ชายขอบ" ทั่วไทย
เรียกได้ว่าเป็น "มือปราบเมืองหลวง" ที่ต้องไปทำหน้าที่ "ตำรวจชายขอบ"
และสำหรับ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ยังถือเป็นนายตำรวจเพียงคนเดียวในยุคช่วง 10 ปีหลังมานี้ที่สามารถทะลวงเข้าไปนั่งแป้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) ได้ทั้งที่ไม่เคยอยู่ในหน่วยงานแห่งนี้มาก่อนเลย แต่กลับผงาดขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 โดยไร้เสียงคัดค้านและแรงต้านจากตำรวจภายใน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้กันดีว่า วงการตำรวจชายแดนเป็นหน่วยงานปิดเงียบเทียบเคียงกับหน่วยงานทหาร แต่ยุคนี้เมื่อได้มือปราบที่มีชื่อเสียงเข้าไปอยู่ คาดกันว่าวงการตำรวจชุดเขียวจะเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้นำหน่วยคนนี้เลือกลงไปสัมผัสเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งสำคัญนี้
พล.ต.ท.สมพงษ์ หรือ "บิ๊กอู๊ด" เป็นดาวรุ่งของนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 40 (นรต.40) เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในน้องใกล้ชิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เขานับเป็นมือปราบนครบาลที่ต้องผันตัวไปเป็นนักรบชายแดน แม้ไม่ใช่ลูกหม้อ ตชด. แต่ด้วยชื่อชั้นที่ทำงานครบเครื่องตรงไปตรงมาแบบไม่เกรงกลัวอิทธิพล ทำให้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ที่ก่อนหน้านี้นั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ได้รับการวางใจให้ไปสวมหัวหน่วยงานนี้โดยที่รองผู้บัญชาการแต่ละคนเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่ของเขาทั้งสิ้น ยกเว้นเพื่อนร่วมรุ่นเพียงคนเดียวที่นั่งเป็นรองผู้บัญชาการ
พล.ต.ท.สมพงษ์ เกิดในค่ายทหารที่ จ.ลพบุรี บิดาเป็นทหารยศร้อยตรี ส่วนมารดาค้าขาย และญาติพี่น้องส่วนใหญ่ก็เป็นทหาร ตัวเขามีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาเป็นพลุแตกเมื่อครั้งเป็น รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม (รองผกก.2 บก.ป.) เนื่องจากเป็นผู้ที่นำตำรวจคอมมานโดกองปราบฯ บุกจับกุม พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ "ผู้พันตึ๋ง" ผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เมื่อปี 2544 ทั้งที่ตอนนั้นผู้ต้องหานับเป็น "ทหารมาเฟีย" ที่ไม่มีใครกล้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เขาก็ตะลุยจนจับกุมตัวได้ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก จนได้รับฉายาว่า "มือปราบผู้พันตึ๋ง" ทำให้ชีวิตยืนอยู่กลางสปอตไลท์ในวงการตำรวจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ก่อนที่จะถูกดึงไปเป็นนายเวรของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น ในอัตราพันตำรวจเอก และเริ่มสัมผัสชีวิตตำรวจชายแดนใต้ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะ พล.ต.อ.โกวิท ส่งลงไปช่วยดูกิจการของตำรวจในพื้นที่สีแดง
จากนั้นก็สไลด์มาเป็น ผู้กำกับการ 5 กองปราบปราม (ผกก.5 บก.ป.) คุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ คลี่คลายคดีดังหลายคดี เช่น คดีหนุ่มตัดนิ้วมือตัวเองเพื่อหวังเงินประกันชีวิต ซึ่งเป็นคดีหนึ่งที่มีความซับซ้อนและต้องแกะรอยเอกสารรวมทั้งเทคนิคด้านนิติวิทยาศาสตร์ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้
แต่ชีวิตก็พลิกผันจากฟ้าตกลงดิน เมื่อมีคำสั่งจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.คนต่อจาก พล.ต.อ.โกวิท เด้ง พ.ต.อ..สมพงษ์ (ยศในขณะนั้น) ลงไปเป็น ผู้กำกับการ สภ.ยี่งอ จ.นราธิวาส พื้นที่สีแดงจัด จากตำรวจที่ดูแลพื้นที่ 14 จังหวัดเหลือดูแลอำเภอเล็กๆเพียง 1 อำเภอ แถมเต็มไปด้วยอันตราย โดยว่ากันว่าการย้ายแบบลดชั้นครั้งนั้นเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.โกวิท กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ที่มีกันมาก่อนในอดีต จุดนี้เองทำให้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ลงไปเป็นตำรวจชายแดนใต้เต็มตัว
อย่างไรก็ตาม คำสั่งเด้งครั้งนั้นกลับทำให้เขาใช้วิกฤติเป็นโอกาส โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโรงพักดูแลตำรวจชายแดน และฝังตัวในพื้นที่ตลอด 2 ปี จนกลายเป็นนายตำรวจขวัญใจของ จ.นราธิวาส ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (รองผบก.ภ.จว.นราธิวาส) เริ่มจับงานการประสานหน่วยทหารในพื้นที่ ทำงานเข้ากันได้เป็นอย่างดี โดยเน้นกิจกรรมสัมพันธ์กับชาวบ้าน จนได้รับการไว้วางใจให้มาเป็นรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 (รอง ผบก.ส.3)
และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายพลครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ผบก.ภ.จว.แม่ฮ่องสอน) จากใต้สุดยันเหนือสุด แล้วสไลด์กลับนครบาลมาเป็นผู้บังคับการตำรวจอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ.) จากนั้นเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นอีกครั้งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (รองผบช.ภ.5) คุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ก่อนที่จะมานั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (รองผบช.ปส.) และสลับมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) และล่าสุดได้เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.ตชด.แบบแบเบอร์
ด้วยความที่เป็นตำรวจมือปราบ พล.ต.ท.สมพงษ์ จึงให้ความสำคัญกับงานสืบสวน นโยบายของเขาคือจะเอาวิชาการสืบสวนไปเสริมเขี้ยวเล็บให้กับ ตชด. ที่ก่อนหน้านี้เป็นหน่วยที่ทำงานปิดทองหลังพระมาโดยตลอด โดยเฉพาะการจับกุมผู้ลักลอบขนยาเสพติดตามแนวชายแดนไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
เขาเชื่อว่าหากพัฒนางานสืบสวนให้กับ ตชด. จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ล่าสุดได้มีคำสั่งให้คัดเลือกตำรวจ ตชด. ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เข้าอบรมโครงการสืบสวนโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งได้เริ่มอบรมกันในเดือน พ.ย. ล่าสุดได้มีคำสั่งให้ พล.ต.ต.สุนทร เฉลิมเกียรติ รองผบช.ตชด. เพื่อนร่วมรุ่น นรต.40 และนักสืบมือดีอย่าง พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผบก.ตชด.ภาค 4 คัดเลือกตำรวจ ตชด.ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศเข้าร่วมอบรม
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดที่เขามอบให้ คือการปรับปรุงกำลังและอาวุธของตำรวจ ตชด.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหลังจากนี้ โดยหลังรับตำแหน่งได้ไม่ทาน เขาได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ไปนอนในกองร้อย ตชด. ทั้งที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อสัมผัสถึงบรรยากาศในปัจจุบัน
"ผมอาจจะใหม่สำหรับตำรวจ ตชด. แต่ผมก็เคยอยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่ยะลา ปัตตานี เป็นเวลาเกือบ 5 ปี ก็รู้ว่าสถานการณ์ตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เราก็เน้นงานมวลชน ขณะเดียวกันก็ต้องประสานหน่วยงานในพื้นที่ เราต้องทำงานร่วมกันโดยที่ไม่เป็นพระเอกคนเดียว สิ่งสำคัญคือต้องดึงประชาชนมามีส่วนร่วม" เขากล่าวถึงการให้ความสำคัญกับตำรวจ ตชด.ใต้
และบอกด้วยว่า การปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้งต้องไม่ประมาท ต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีการฝึก มีการเตรียมการ มีการหามาตรการป้องกันเหตุ ปฏิบัติการในเชิงรุก ไม่ใช่เหตุเกิดแล้วมาตามจับ เราต้องบุกเข้าไปในส่วนที่คิดว่าเป็นรังโจร หรือเป็นแหล่งซ่องสุมในเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ ระเบิด ที่จะมาลอบทำร้ายพี่น้องประชาชน จึงจะสามารถลดเหตุร้ายได้
พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนอกจากตำรวจ ตชด.ภาค 4 ที่ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีการเสริมกำลังตำรวจ ตชด.จากภาค 1-3 กว่า 3,000 นายหมุนเวียนกันลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ทำให้กำลังพลที่ลงไปอยู่ทำงานไม่ต่อเนื่องและไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง บางครั้งลงไปใหม่ๆ ทำให้กลายเป็นเป้าถูกโจมตี เขาจึงเห็นว่าหากบรรจุกำลังพลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เพียงพอเป็นกำลังประจำไปเลย น่าจะแก้ปัญหาการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดวันพักและผลัดการทำงานให้ชัดเจน เพื่อลดความตึงเครียดในการปฏิบัติหน้าที่
ล่าสุดเขาได้ประสานงานกับ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีความเห็นตรงกัน โดย ศอ.บต. จะเป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือในเรื่องของงบประมาณ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ ตชด. มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า จะมีการพัฒนาในเรื่องของอาวุธที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดน เนื่องจากพบว่าอาวุธปืนโดยเฉพาะอาวุธปืนสงครามที่ตำรวจใช้เป็นรุ่นเก่าที่ใช้มานานมากแล้ว จากนี้จะมีการปรับใหม่เป็นอาวุธปืนยาวที่ทันสมัย โดยเบื้องต้นจะนำปืนจากตำรวจ ตชด.ภาคอื่นที่ไม่ค่อยมีสถานการณ์รุนแรงมาทดแทนอาวุธปืนที่เก่าแล้วของ ตชด.ชายแดนใต้ เป็นการเปลี่ยนปืนที่มีสภาพดีที่มีอยู่ เช่น ปืน M16 รุ่น M4 ที่เพิ่งจัดซื้อมาใหม่มาให้ตำรวจในสามจังหวัดใต้ใช้ก่อน เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และจะได้มีอาวุธดีๆ มาดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ขณะนี้กำลังให้สำรวจอาวุธปืนทั่งประเทศ หากยังไม่เพียงพอก็จะหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อหางบประมาณในการจัดซื้อต่อไป
"ผมให้ตำรวจวางมาตรการป้องกัน ทำฐานให้มั่นคง บังเกอร์ให้มีความพร้อม และสิ่งสำคัญคือมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุใครทำหน้าที่อย่างไร จะต้องมีการซักซ้อม มีสัญญาณบอกฝ่ายให้ชัดเจน เพราะเวลากลางคืน ไม่รู้ใครเป็นใคร เราจะต้องมีการเตรียมความพร้อม อยู่ในความไม่ประมาท สิ่งสำคัญคือผมเคยอยู่ทางนี้มาก่อน ได้ประสานกับทางพื้นที่ ทางตำรวจท้องที่ ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกับหน่วยทหารในพื้นที่ ซึ่งเราขึ้นงานยุทธการกับทางทหารอยู่แล้ว แลกเปลี่ยนและปฏิบัติการเชิงรุก มีการลาดตระเวนไม่ใช่หลบอยู่แต่ในฐานเท่านั้น" พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าว
ผบช.ตชด.บอกด้วยว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้เหมือนในอดีตที่เคยเป็นมา หากมีความสงบเกิดขึ้นมากกว่านี้ โดย ตชด.จะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้สามจังหวัดสงบสันติสุข
"พื้นที่ซึ่งผมมาอยู่ หรือหลายๆ คนเคยมาอยู่ ส่วนใหญ่แล้วธรรมชาติสวยงามมาก มีความพร้อมทั้งผลไม้ อาหารการกิน เพียงแต่ว่าขาดนักท่องเที่ยว เพราะมันมีเหตุร้าย ทำให้คนที่นี่ขาดโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเอาเงินมาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ของเขา ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าสร้างความเข้าใจ รักษาความสงบ ไม่มีเหตุรุนแรง สร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวแล้ว เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา" ผบช.ตชด.กล่าว
อีกประเด็นที่ พล.ต.ท.สมพงษ์ ทิ้งไม่ได้ คือ โรงเรียน ตชด. ที่เกิดมา 60 กว่าปีแล้วภายใต้การอุปถัมป์ของ "สมเด็จย่า" สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขากล่าวว่า มีโรงเรียน ตชด.อยู่ 216 โรงเรียน เป็นโรงเรียนระดับมัธยม 2 โรงเรียน คือที่เชียงราย กับที่สระแก้ว เท่าที่ตรวจสอบก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สมเด็จย่าทรงมีพระเมตตาให้กับโรงเรียน ตชด.มาก เมื่อสิ้นสมเด็จย่าแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญต่อจากสมเด็จย่า ซึ่งทาง ตชด.เราก็ได้น้อมนำพระราชดำริต่างๆ ในการพัฒนา มาปรับให้โรงเรียน ตชด.มีการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา คุณภาพครูผู้สอน แล้วก็การทำเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ เช่น พื้นที่จำกัด ก็ให้มีการปลูกต้นไม้ซ้อนแถว แขวนบ้าง อยู่ด้านล่างบ้าง ปรับดินเวลารดน้ำต้นไม้ พอรดด้านบน มันก็จะลงมาข้างล่าง ทำให้น้ำไม่สูญเปล่า แล้วทำให้มีพื้นที่ใช้สอย ได้ปริมาณผลผลิตผักหรือพืชที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้เพิ่มขึ้น
เขากล่าวด้วยว่าจะสืบสาน "โครงการครุทายาท" เป็นโครงการที่ให้สิทธิ์กับบุคคลที่จบเป็นศิษย์เก่าโรงเรียน ตชด. มาสอบแข่งกันบรรจุเข้ารับราชการตำรวจ เสร็จแล้วก็จะส่งไปอบรมที่สถาบันราชภัฏฯ เมื่อมีการฝึกอบรมเสร็จแล้ว ก็นำกลับมาสู่ท้องถิ่นเพื่อมาเป็นครูต่อไป ซึ่งครูพวกนี้จะไม่ค่อยย้ายไปไหน เพราะทำงานในพื้นที่บ้านเกิด ที่สำคัญคือครูเหล่านี้เรียนมาจากโรงเรียน ตชด.โดยตรง ทำให้เข้าใจหัวอกของคนขาดโอกาสในการศึกษา ซึ่งเขาก็จะใส่ใจเป็นพิเศษ หรือ "ทำด้วยใจ" ถือเป็นผู้เสียสละ ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องการพัฒนาปรับปรุงสถานที่ และการซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาสนับสนุนการศึกษา
"จริงๆ แล้วภารกิจ ตชด.มันแตกต่างจากตำรวจพื้นที่ เป็นภารกิจพิเศษ ตชด.มีดีอยู่แล้ว เขาทำงานเหมือนปิดทองหลังพระ เขาทำตามแนวชายแดน ทำงานในที่ลำบาก ถิ่นทุรกันดาร บางทีสื่อมวลชนไม่เห็น ชาวบ้านไม่เห็น แต่ชาวบ้านเขารู้ รับทราบ แต่เราก็ทำด้วยหน้าที่สำนึกความรับผิดชอบ ผมก็พยายามทำการบ้านแล้วก็ชื่นชม และผมก็จะเข้ามาเสริม เอาแนวทางการสืบสวนที่เรามีความรู้ด้านนี้ตั้งแต่ทำงานที่กองปราบฯ หรืออยู่นครบาล เอามาอบรมให้ ตชด.มีความรู้เพิ่ม ก็เหมือนมาเสริมเขี้ยวเล็บให้เขา มันก็คงจะสร้างประสิทธิภาพประสิทธิผลให้เจ้าหน้าที่ เพราะว่าเราสามารถที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายได้ ในกรณีที่เรามีความรู้ทางการสืบสวนและสามารถขยายผลไปยังผู้ที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะคดียาเสพติด"
พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายเมื่อถูกถามว่าเป็นนายตำรวจหนุ่มที่มาเป็นเบอร์ 1 ของ ตชด. จะทำงานอย่างไรให้แตกต่างจากผู้บัญชาการ ตชด. คนที่ผ่านๆมา
-------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : วัสยศ งามขำ บางกอกโพสต์