ได้แล้ว! "เซฟเฮาส์" ลุยพื้นที่ปลอดภัยดับไฟใต้
ภายหลังคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ภายใต้ชื่อ "มารา ปาตานี" ว่าจะกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรกร่วมกัน" โดยมีระยะเวลาการทำงาน 6 เดือนนั้น
ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในห้วงเวลา 6 เดือนนับจากนี้ คือการเปิด "เซฟเฮาส์" หรือ "ศูนย์ประสานงาน" ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อให้ตัวแทนฝ่ายรัฐ, ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ และภาคประชาสังคมได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งล่าสุดคณะพูดคุยฯ ได้สถานที่ที่จะเปิดเป็น "เซฟเฮาส์" เรียบร้อยแล้ว
พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า คณะพูดคุยฯทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ร่วมกันกำหนดอำเภอนำร่องพื้นที่ปลอดภัยในปี 61 แล้ว แต่สาเหตุที่ยังไม่ประกาศให้สังคมได้ทราบ ก็เนื่องจากต้องมีการหารือเตรียมพื้นที่ให้เกิดความพร้อมเสียก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน
ขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมการ คือการเปิด "เซฟเฮาส์" หรือ "ศูนย์ประสานงาน" เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน โดย พล.อ.อักษรา ย้ำว่า การทำงานไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการทำพื้นที่ให้ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังมีแผนพัฒนาร่วมกัน และการทำพื้นที่ให้ปลอดยาเสพติดด้วย ที่สำคัญไม่ได้แปลว่าเมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยแล้วต้องถอนทหารออกไป เพราะทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่เพิ่มบทบาทของภาควิชาการและภาคประชาสังคมให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี พล.อ.อักษรา ได้ออกแถลงการณ์อธิบายความคืบหน้าเรื่องนี้ โดยตอนหนึ่งของแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า ยังมีผู้ที่ติดยึดทฤษฎีและมีแนวคิดแบบเดิมๆ พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ โดยกล่าวอ้างว่ามาจากผลการพูดคุยฯ จนตกเป็นแนวร่วมมุมกลับ เผลอไปสร้างความชอบธรรมและเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ใช้ความรุนแรง อ้างว่าเป็นตัวจริง ยื่นเงื่อนไขต่อรองรัฐบาล
สำหรับ "เซฟเฮาส์" หรือ "ศูนย์ประสานงาน" เพื่อการทำงานสร้างพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรกนั้น มีข่าวว่าทางคณะพูดคุยฯได้กำหนดสถานที่แล้ว คือ อาคารสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีหลังเก่า ซึ่งอยู่ด้านหลังมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
"ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้รับคำตอบว่า ได้รับการประสานมาจากคณะพูดคุยฯจริง ซึ่งทางคณะกรรมการอิสลามฯก็ไม่ขัดข้อง ถือเป็นการช่วยกันทำให้พื้นที่นี้เกิดความสงบและสันติสุข
ความสำคัญของ "เซฟเฮาส์" ที่จะเปิดขึ้นเพื่อทำงานเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" นั้น ความอ่อนไหวอยู่ตรงที่จะมีตัวแทนของผู้เห็นต่างจากรัฐ ในนาม "มารา ปาตานี" และกลุ่มอื่นๆ มาร่วมกันทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับของศาล ฉะนั้นจะต้องมีขั้นตอน "พักโทษชั่วคราว" ให้กับคนเหล่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และจะถูกกระแสต้านจากบางฝ่ายที่มองว่าคนเหล่านี้คือคนทำผิดกฎหมายหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นข้อห่วงใยของหลายฝ่าย คือ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ โดยเฉพาะเหตุโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ การก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด หรือจุดที่อยู่ใกล้โรงเรียน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่เอื้อกับกระบวนการสันติภาพ ล่าสุด คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) ได้ยื่นหนังสือถึงตัวแทนคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เพื่อให้พิจารณาเรื่องเหล่านี้โดยเร็ว
ลม้าย มานะการ ประธานกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพ บอกว่า รู้สึกห่วงใยปฏิบัติการทางทหารที่เป็นความรุนแรง ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งสองฝ่าย จึงได้ส่งหนังสือถึงคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากทางคณะพูดคุยฯ โดยเฉพาะ พล.อ.อักษรา
ขณะที่ ดร.อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกอย่างไม่เป็นทางการของ "มารา ปาตานี" กล่าวว่า ตามที่ได้ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อำเภอนำร่องพื้นที่ปลอดภัย และสถานที่เปิด "เซฟเฮาส์" จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อจะเริ่มดำเนินการ ส่วนวาระสตรีจะนำเข้าที่ประชุม "มารา ปาตานี" ต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เวทีทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพถูกเปิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงนี้
ขอบคุณ : ภาพจากคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
อ่านประกอบ : "เบตง" ชงเลิก พ.ร.ก. - สรุปพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก "สัญลักษณ์วันเสียงปืนแตก"