เด็กชายแดนใต้ขาดสารอาหาร แถมเสี่ยงเอดส์!
ในขณะที่รัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ยังคงสาละวนโทษกันไปมาเกี่ยวกับความล้มเหลวในการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ปรากฏว่าอีกด้านหนึ่ง "องค์การยูนิเซฟ" หรือกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีอัตราขาดสารอาหาร หรือที่เรียกว่า “ทุพโภชนาการ" สูงสุดในประเทศ แถมยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีต่ำที่สุด เพียงไม่ถึงร้อยละ 20
ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีรายจังหวัด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สนับสนุนโดยยูนิเซฟ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีใน จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งหมายถึงความสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า "ผอมแห้ง" ก็ได้ โดยเด็กที่มีภาวะผอมแห้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แยกเป็นใน จ.นราธิวาสมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นถึงร้อยละ 29 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 11 เท่านั้น ขณะที่ จ.ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นอยู่ที่ร้อยละ 21 ร้อยละ 19 ร้อยละ 17 และร้อยละ 13 ตามลำดับ
นอกจากนี้ อัตราของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะผอมแห้ง หรือ "ภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน" ในจังหวัดชายแดนใต้ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเช่นกัน อัตรานี้สูงสุดใน จ.ปัตตานี เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในชายแดนใต้ คือร้อยละ 13 ตามด้วย จ.นราธิวาสที่ร้อยละ 11 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 5
ผลสำรวจยังชี้ว่า การได้รับวัคซีนของเด็กยังคงเป็นปัญหาสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในขณะที่ทั่วประเทศมีเด็กอายุ 12-23 เดือนถึงร้อยละ 72 ได้รับภูมิคุ้มกันครบก่อนอายุ 1 ปี แต่สัดส่วนนี้ต่ำมากใน จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งมีเด็กได้รับภูมิคุ้มกันครบเพียงร้อยละ 37 ร้อยละ 39 และร้อยละ 40 ตามลำดับเท่านั้น
ผลสำรวจรายจังหวัดยังพบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากเอชไอวี โดยใน จ.นราธิวาสมีเยาวชนชายเพียงร้อยละ 16 และเยาวชนหญิงเพียงร้อยละ 21 ที่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี ขณะที่ จ.ปัตตานี เยาวชนชายร้อยละ 20 และเยาวชนหญิงร้อยละ 25 ตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับความรู้ความเข้าใจของเยาวชนในจังหวัดเหล่านี้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 45 สำหรับเยาวชนชาย และร้อยละ 46 สำหรับเยาวชนหญิง
โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย บอกว่า ปัญหานี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะหมายความว่าเด็กที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การขาดสารอาหารทำให้การเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาสมองของเด็กต้องหยุดชะงัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ทั้งหมดนี้ส่งผลเสียในระยะยาวต่อตัวเด็กเองและสังคมโดยรวม
"เด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากเกินไปในการเติบโตขึ้น เราต้องพยายามมากขึ้นในการช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีรายจังหวัดถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยวางแผนการทำงาน และจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ เพื่อเข้าถึงเด็กและสตรีที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด" ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 กราฟฟิกแสดงอัตราการรับวัคซีน และการป้องกันเอชไอวี ของเด็กและเยาวชนชายแดนใต้
3 การแถลงข่าวของผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ขอบคุณ : กราฟฟิกโดย เนชั่นทีวี 22