"สนามบินเบตง"ติดกลุ่ม 6 ท่าอากาศยานภูธร รัฐเร่งสร้างทันที
การประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) แนวทางแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันเสาร์ที่ 4 ต.ค.57 ที่ผ่านมานั้น ได้ข้อสรุปให้เร่งสร้างสนามบินในภูมิภาคต่างๆ รวม 6 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านและรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนสำรวจความพร้อมในการปรับปรุงและก่อสร้างสนามบินในภูมิภาครวม 6 แห่ง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งนี้ สนามบินในภูมิภาคทั้ง 6 แห่งนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นสนามบินเดิม และสนามบินที่จะก่อสร้างใหม่ กำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมสรุปรายละเอียดภายใน 1-2 เดือนเพื่อหาข้อสรุปเรื่องที่ตั้งของสนามบิน ความเหมาะสมและความเป็นไปได้
ส่วนหน่วยงานที่จะเข้ามารับผิดชอบ มีทั้งกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
สำหรับสนามบิน 6 แห่งที่จะเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย การปรับปรุงสนามบินเดิม 3 แห่ง ได้แก่ 1.สนามบินเบตง จ.ยะลา ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งโครงการนี้ผ่านการพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบแล้ว
2.สนามบินแม่สอด เพื่อเชื่อมระหว่างไทยกับเมียนมาร์ให้มีการขนส่งสินค้าและคนสะดวกมากขึ้น 3.สนามบินมุกดาหาร เพื่อเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ออกไปยัง เวียดนามได้
ที่เหลืออีก 3 แห่งเป็นสนามบินที่ต้องก่อสร้างใหม่ คือ สนามบินอุตรดิตถ์ สนามบินกาญจนบุรี เพื่อเชื่อมต่อโครงการทวาย (ไทยกับเมียนมาร์) และสนามบินอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างกัมพูชากับไทย
อนึ่ง โครงการก่อสร้างสนามบินเบตง เป็นโครงการซึ่งหน่วยงานพื้นที่ ทั้งจังหวัดและเทศบาลร่วมกันผลักดันมาหลายปี โดยเบตงนั้นมีสนามบินอยู่แล้ว แต่เป็นสนามบินขนาดจิ๋ว (สนามบินชั่วคราว) จึงต้องการขยายหรือก่อสร้างใหม่ แต่ผู้มีอำนาจในระดับรัฐบาลก็ไม่เคยปัดฝุ่นขึ้นมาพิจารณา
ช่วงที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์กลางเมืองเบตงเที่ยวล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค.57 หลังจากนั้นมีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเบตง ทำให้โครงการก่อสร้างสนามบินเบตงถูกพูดถึงอีกครั้ง
นายเดชรัฐ สิมสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในขณะนั้น กล่าวถึงแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของ อ.เบตง ในระยะยาวว่า ทางจังหวัดได้เตรียมพร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินเบตงอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน 907 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ ขาดเพียงงบประมาณในการก่อสร้าง 500 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับโครงการก่อสร้างสนามบินยะลาแบ่งเป็น 4 เฟส สิ่งปลูกสร้างภายในประกอบด้วย รันเวย์กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร และอาคารประกอบอื่นๆ เช่น อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน
"ขณะนี้กรมการบินพาณิชย์ ในฐานะเจ้าของเรื่อง ยังไม่เสนอให้รัฐบาลอนุมัติ และไม่ได้ตั้งงบประมาณปี 2558 ไว้ การก่อสร้างเฟสแรกใช้งบ 218 ล้านบาท ผมต้องรายงานท่านนายกฯ และคสช.เพื่อผลักดันให้มีงบปี 2558 อาจไม่ต้องถึง 218 ล้านบาทก็ได้ จะได้เริ่มเฟสแรกไปก่อน เพราะถ้าเริ่มเฟสแรกปี 2559 กว่าจะเสร็จก็ปี 2562 แต่ถ้าเราพยายามผลักดันให้เริ่มปี 2558 ก็เสร็จปี 2561"
"ผมอยากให้มีการสร้างสนามบินเบตงโดยเร็ว แม้จะได้งบไม่ถึง 218 ล้านบาทก็ขอให้เริ่มต้นก่อน ชาวบ้านจะได้มีกำลังใจ คนอื่นจะได้เห็นความสำคัญของเบตง" นายเดชรัฐ กล่าว
ฝันของคนเบตงและอดีตผู้ว่าฯยะลา ใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากบล็อกโอเคเนชั่น "ศณีรา วิถีชน คนนอกกรอบ" เรื่อง สัมภาษณ์พิเศษ 3 ดาโต๊ะ ดร.คุณวุฒิฯ การพัฒนาการท่องเที่ยวชายแดน