เปิดใจ "ทวี สอดส่อง" หลังถูกเด้ง กับเส้นทาง "ภาณุ อุทัยรัตน์" หวนคืน ศอ.บต.อีกรอบ
"จริงๆ แล้วรู้สึกดีใจที่จะได้พักบ้าง" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เผยความรู้สึกกับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรหลังทราบข่าวถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพียงไม่กี่นาที
ช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 24 พ.ค.2557 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปก่อน
2. ให้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ อีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปก่อน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
คำสั่งของ คสช.ทำให้ พ.ต.อ.ทวี ต้องพ้นจากเก้าอี้เลขาธิการ ศอ.บต.ทันที หลังจากดำรงตำแหน่งนี้มาราวๆ 2 ปี 7 เดือน...
"ผมเข้าใจคำสั่งของ คสช. เขาก็ต้องการเลือกใช้คนที่เขาไว้ใจ ผมมาที่นี่ (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ผมมาทำให้ ไม่ใช่ทำเอา ที่ผ่านมาก็รู้สึกดีใจที่ได้มาช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องในพื้นที่"
พ.ต.อ.ทวี บอกด้วยว่า เคยผ่านงานมาอย่างหลากหลาย ทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบ แต่เมื่อได้มาทำงานจริงทำให้รู้ว่าการจะแก้ไขปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้นั้น ต้องใช้ "สันติวิธี" ก็ขอเอาใจช่วยให้คนใหม่และคณะใหม่ที่จะเข้ามาทำงานสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ ทฤษฎีการดับไฟใต้มีหลายทฤษฎี แต่สันติวิธีเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
พ.ต.อ.ทวี เป็นชาว จ.อ่างทอง เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 ยังเหลืออายุราชการอีก 5 ปี เขาเคยรับราชการตำรวจ เคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (ผกก.2 ป.) หรือที่เรียกกันว่า "ผู้กำกับประเทศไทย" เพราะมีอำนาจสืบสวนจับกุมทั่วประเทศ โดยตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการตำรวจ คือ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ก่อนที่จะโอนย้ายไปรับราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อปี 2547 ในตำแหน่งรองอธิบดี
พ.ต.อ.ทวี มีผลงานโดดเด่นในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2544-2549) ได้รับผิดชอบคดีสำคัญหลายคดี แต่หลังจากมีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 พ.ต.อ.ทวี ถูกย้ายไปเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทั่งถึงยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี ก็กลับมาผงาดที่ดีเอสไออีกครั้ง คราวนี้ได้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือมาสู่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2552 เขาก็ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
จนกระทั่งปี 2554 รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ต.ค.แต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. (ระดับ 11) โดยสไตล์การทำงานของเขาได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากภาคส่วนต่างๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่แล้วเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี ก็ต้องเหนื่อยเก็บของอีกครั้งเพราะถูก คสช.สั่งย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
สำหรับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่ง คสช.มีคำสั่งตั้งให้ไปทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต.แทน พ.ต.อ.ทวี นั้น เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ ศอ.บต.มาแล้วใน 2 ยุค คือเมื่อปี 2552 เป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต. (ระดับ 10) โดยขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่องค์กร ศอ.บต.ถูกฟื้นขึ้นมาโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 207/2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับเมื่อ 30 ธ.ค.2553 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นายภาณุก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. (ระดับ 11) นับเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนแรกตามกฎหมายใหม่
ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง
สำหรับประวัติของนายภาณุ เป็นชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2499 เป็นบุตรของ นายห้อม และ นางสรรเสริญ อุทัยรัตน์ จบการศึกษาระดับต้นจากโรงเรียนใน อ.หนองจิก จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศปัตตานี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง)
นายภาณุ เป็นนักเรียนนายอำเภอรุ่นที่ 32 สำเร็จหลักสูตรนักปกครองระดับสูงรุ่นที่ 34 เส้นทางชีวิตราชการวนเวียนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด เคยเป็นปลัดอำเภอระแงะ และอำเภอแว้ง จ.นราธิวาส จ่าจังหวัดนราธิวาส ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นนายอำเภอศรีสาคร จ.นราธิวาส นายอำเภอเมืองสงขลา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2548
ต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2551 เห็นชอบให้ นายภาณุ ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช แทน นายวิชม ทองสงค์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ ก่อนจะขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเข้ารับหน้าที่ ผอ.ศอ.บต.คนที่ 2 เมื่อปลายปี 2552 (ดำรงตำแหน่งต่อจาก นายพระนาย สุวรรณรัฐ) และนั่งเก้าอี้ดังกล่าวเรื่อยมาแม้จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เมื่อมีพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2533 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. กระทั่งถูกย้ายเมื่อ 18 ต.ค.2554 เพื่อเปิดทางให้ พ.ต.อ.ทวี เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน
ช่วงที่ พ.ต.อ.ทวี เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. นายภาณุก็พยายามเข้าไปช่วยผลักดันการทำงานในหมวกของมหาดไทย โดยเขาย้อนกลับไปรับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (ระดับ 10) เพื่อลงไปขับเคลื่อนงานที่ปลายด้ามขวาน โดยเฉพาะการเปิด "สำนักงานมหาดไทยส่วนหน้า"
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจการปกครองของ คสช.เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พ.ค.2557 ทำให้ นายภาณุ ได้มีโอกาสกลับไปรับใช้พี่น้องในชายแดนใต้ในฐานะเลขาธิการ ศอ.บต.อีกครั้ง โดยเขายังมีอายุราชการถึงปี 2559
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พ.ต.อ.ทวี (ขวา) นายภาณุ
อ่านประกอบ :
1 ส่ง "ภาณุ" กลับใต้ เปิดมหาดไทยส่วนหน้า
http://www.isranews.org/south-news/special-talk/item/16567-qq--sp-604972990.html
2 ตั้งเสียที "ทวี สอดส่อง" นั่งเลขาฯศอ.บต.
3 ศอ.บต.ยุค "ทวี สอดส่อง" ก้าวสู่ปีที่สองสร้างสมดุล "รัฐ-ท้องถิ่น-ชุมชน"
4 "ฮัสซัน-ทวี" บุคคลแห่งปีข่าวชายแดนใต้
http://isranews.org/south-news/scoop/item/26283-person.html