รู้จักตัวจริง"โอไอซี"ผ่านงานวิจัย กับข้อเสนอให้ไทยจับมือแก้ไฟใต้
นับตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม ชื่อของ "โอไอซี" หรือ องค์การความร่วมมืออิสลาม ก็เริ่มคุ้นหูคนไทย
เพราะโอไอซีมักให้ความสนใจเข้าไปเกี่ยวข้องดูแลประชากรมุสลิมในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแง่สิทธิมนุษยชนของประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
"โอไอซี" เดิมใช้ชื่อว่า "องค์การการประชุมอิสลาม" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "องค์การความร่วมมืออิสลาม" ถือเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม ประกอบด้วยสมาชิก 57 รัฐ รวมทั้งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราในอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมองโอไอซีอย่างหวาดระแวงว่าต้องการเข้ามาแทรกแซงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการ "เข้าข้าง" มุสลิมด้วยกัน ยิ่งล่าสุดในข้อเรียกร้อง 1 ใน 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ตกลงเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย มีการเสนอให้เชิญโอไอซีเข้ามาเป็น "ผู้สังเกตการณ์" หรือ "สักขีพยาน" (ยังไม่ชัดว่าต้องการความหมายไหน) ในการพูดคุยสันติภาพด้วย ประเด็นนี้ยิ่งทำให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยมองโอไอซีอย่างหวาดระแวงมากขึ้น
แต่กระนั้น ในสายตาของผู้ที่ศึกษาท่าทีและการทำงานของโอไอซีมาตลอดอย่าง ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยมองโอไอซีในแง่ลบเกินไป เพราะแท้ที่จริงแล้วจุดยืนของโอไอซีไม่เคยสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนเลย โดยเฉพาะในประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย
ดร.ศราวุฒิ ไม่ได้พูดเรื่องนี้ในลักษณะ "แสดงความเห็น" เท่านั้น ทว่ายังเคยทำการศึกษาวิจัยร่วมกับทีมงานในเรื่อง "นโยบายและแนวทางการปฏิบัติขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม" ด้วย ด้วยหวังให้สังคมไทยเข้าใจบทบาทและท่าทีของโอไอซีอย่างถ่องแท้
บทบาทโอไอซีต่อ 3 ปัญหามุสลิมชนกลุ่มน้อย
งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มจากการตั้งคำถามว่า โอไอซีมีการดำเนินงานและมีบทบาทในการช่วยเหลือมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่ถูกลิดรอนสิทธิอย่างไร และไทยควรดำเนินความสัมพันธ์กับโอไอซีและโลกมุสลิมอย่างไรในประเด็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอบเขตของการวิจัยได้เจาะลึกเข้าไปศึกษาถึงบทบาทและนโยบายของโอไอซีในการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย และบัลแกเรีย โดยเปรียบเทียบผลการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโอไอซีในประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมกรณีต่างๆ ดังกล่าว
ผลการวิจัยได้ข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญดังนี้
1.การเปรียบเทียบลักษณะความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยมุสลิม
จากกรณีศึกษาทั้งหมด (ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบัลกาเรีย) จะเห็นได้ว่าชนกลุ่มน้อยมุสลิมถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 2 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับรากเหง้าต้นตอของปัญหา ลักษณะแรกคือการปราบปรามทำร้ายทางกายภาพ อันก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังจะเห็นในกรณีของฟิลิปปินส์และอินเดีย
อีกลักษณะหนึ่งคือความพยายามในการทำลายอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยใช้นโยบายผสมกลมกลืน (assimilation) ดังจะเห็นได้กรณีของมุสลิมบัลแกเรีย
การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 กรณีถูกตีแผ่ความจริงผ่านสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นสื่อของโลกมุสลิมเองและไม่ใช่ อันนำไปสู่ความสนใจของโลกมุสลิมต่อปัญหาดังกล่าว เพราะพวกเขาตระหนักถึงความเป็นประชาชาติอิสลามเดียวกัน
ในขณะที่กรณีของมุสลิมอินเดีย ฟิลิปปินส์ และแคชมีร์ (หมายถึง แคชเมียร์ : เขียนตามต้นฉบับงานวิจัย หมายถึงดินแดนพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน) นั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะการเลือกปฏิบัติ การปราบปราม หรือการคุกคามทำร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยตรง แต่ในกรณีของบัลแกเรีย มีลักษณะการคุกคามศาสนา พยายามที่จะขจัดอิสลามให้สิ้นไปตามวิธีคิดของระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วไป เช่น การออกกฎหมายเปลี่ยนชื่อมุสลิม การสั่งปิดมัสยิดไม่ให้ผู้คนเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจ การห้ามประกอบพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ปฏิกิริยาตอบโต้ของโอไอซีต่อกรณีนี้ (บัลแกเรีย) จึงเป็นไปอย่างเข้มข้นฉับไว
2.เปรียบเทียบแถลงการณ์และมติของโอไอซี เกี่ยวกับปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม
นโยบายของโอไอซีต่อประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมนั้น ตั้งอยู่บนเสาหลักสำคัญ 2 ประการ
ประการแรก การกล่าวพาดพิงถึงประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมในแถลงการณ์และมติขององค์การ จะตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า โอไอซีเป็นกังวลต่อประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิม เพราะเคารพต่อกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรากฏอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ และแถลงการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน
ประการที่ 2 มติของโอไอซีในประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมจะอ้างอิงถึงเสมอในเรื่องการให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าประเด็นปัญหาชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องภายในของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความห่วงกังวลของโอไอซีต่อปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง แต่เกิดจากมิติด้านมนุษยธรรมอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นสากล ด้วยเหตุนี้แนวทางของโอไอซีในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมจึงมุ่งเน้นแนวทางการทูตที่สอดคล้องกับหลักสากลและหลักการศาสนามากกว่าที่จะเป็นการข่มขู่ใช้กำลังหรือปลุกปั่นยุยงให้เกิดความแตกแยก
อย่างไรก็ตาม กรณีของแคชมีร์นั้น แตกต่างจากกรณีอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีของฟิลิปปินส์ที่โอไอซีเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ แต่กรณีแคชมีร์ โอไอซีได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวแคชมีร์มีสิทธิตัดสินชะตาชีวิตตนเอง หรือ right to self determination เพราะโอไอซีมิได้ยอมรับการที่อินเดียผนวกเอาดินแดนแคชมีร์เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียตั้งแต่ ค.ศ.1963 ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการอ้างถึงอำนาจอธิปไตยของอินเดียเหนือพื้นที่แคชมีร์ให้เห็นในทุกๆ เอกสารของโอไอซี
3.เปรียบเทียบผลของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโอไอซี
กรณีของมุสลิมอินเดีย แคชมีร์ และบัลแกเรียนนั้นถือเป็นตัวแบบที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐกับโอไอซีในการคลี่คลายปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม จนก่อให้เกิดการตอบโต้กันไปมา และการใช้มาตรการลงโทษของโอไอซีตามมา ซึ่งแตกต่างจากกรณีของโมโรมุสลิมในฟิลิปปินส์ที่รัฐบาลในอดีตแสดงความยินดีและพร้อมจะร่วมมือกับโอไอซีในการคลี่คลายปัญหา อันนำไปสู่ความร่วมมือกันในระดับหนึ่ง แม้ในช่วงเวลาหนึ่ง รัฐบาลฟิลิปปินส์จะแสดงความแข็งกร้าว ไม่ยอมทำตามข้อตกลงทริโปลีที่เคยทำไว้กับขบวนการโมโรมุสลิม แต่โอไอซีก็ไม่เคยขู่จะลงโทษโดยการตัดความสัมพันธ์ทางการค้า กีดกันแรงงาน หรือพยายามนำเอาประเด็นความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยมุสลิมขึ้นไปพิจารณาในเวทีสหประชาชาติเหมือนกรณีอื่นๆ
มาตรการที่โอไอซีใช้ตอบโต้รัฐบาลฟิลิปปินส์มีเพียงการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มขบวนการมุสลิม และให้ความช่วยเหลือมุสลิมผู้ทุกข์ยาก ทั้งวัตถุปัจจัยและการเงินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในความร่วมมือที่เกิดขึ้น โอไอซีก็ไม่เคยเรียกร้องให้มีการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ให้เป็นอิสระจากรัฐอธิปไตยฟิลิปปินส์เลย
5 ข้อเสนอแนะ – จับมือมาเลย์ถูกทาง
งานวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะต่อประเด็นโอไอซีกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไว้ดังนี้
1.ไทยควรให้ความสำคัญกับโอไอซี โดยอาจจัดให้มีหน่วยงานเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของโอไอซีอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะตอนที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นไทยควรมีตัวแทนพิเศษที่ประจำการอยู่ในสำนักงานใหญ่โอไอซี และส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมประชุมทุกครั้งตามความเหมาะสมของวาระและโอกาส
ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีทุกครั้งของโอไอซีจะมีการพิจารณาถึงปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม ซึ่งรวมถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย หากไทยไม่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสถานะของประชากรมุสลิมในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้โอไอซีได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้ภาพพจน์ของไทยในสายตาของประชาคมมุสลิมโลกเสียหาย
2.หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปรับทัศนคติและพยายามทำความเข้าใจในบทบาทของโอไอซี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีหน้าที่ทางศาสนาในการดูแลปกป้องประชาคมมุสลิม โดยเฉพาะประชากรมุสลิมชนกลุ่มน้อยตามประเทศต่างๆ ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องประชาชาติอิสลาม (Islamic Ummah)
รัฐต้องมีความไว้วางใจในเบื้องต้นว่าความพยายามของโอไอซีในการที่จะเข้ามามีบทบาทในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงอธิปไตยของไทย แต่โอไอซีคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลและความเท่าเทียมเสมอภาคตามหลักการศาสนา
3.จากกรณีศึกษาทั้งหมดเห็นได้ว่า ทุกกรณีที่โอไอซีเข้าไปมีบทบาท จุดเริ่มต้นเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศนั้นๆ ต่อประชากรชนกลุ่มน้อยมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนเชิงกายภาพและการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมความเชื่อหรือศาสนา ฉะนั้นผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง ต้องระมัดระวังในการจัดการกับปัญหา ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนอิสลาม เพราะการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมในเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นมุสลิม ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนอิสลามควบคู่ไปกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้วย
4.จากกรณีศึกษาทั้งหมดเห็นได้ว่า ปัจจัยหนึ่งซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้โอไอซีออกข้อมติเฉพาะรายประเทศในเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม เกิดจากการผลักดันอย่างหนักจากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนติดกับพื้นที่ที่เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม และเป็นประเทศสมาชิกที่มีชาติพันธุ์เดียวกันกับประชากรมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นได้ว่าในกรณีมุสลิมอินเดียและแคชมีร์นั้น ปากีสถานเป็นฝ่ายที่รุกหนักเพื่อผลักดันให้โอไอซีออกข้อมติเฉพาะรายประเทศ
ส่วนกรณีของมุสลิมบัลแกเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายเติร์ก ปรากฏว่าผู้ที่ผลักดันอย่างกระตือรือล้นคือตุรกี กรณีของมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์ มีทั้งลิเบียและมาเลเซียเป็นประเทศกดดันสำคัญ
ฉะนั้นหากนำกรณีศึกษาเหล่านี้มาเทียบกับไทยในปัญหาภาคใต้ มาเลเซียและอินโดนีเซียน่าจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้การอธิบายเช่นนี้มิได้หมายความว่าต้องคอยหวาดระแวงทั้งสองประเทศ แต่ทางรัฐไทยโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องให้ความสำคัญและรับฟังข้อเสนอที่มีเหตุผล ตลอดจนสร้างความร่วมมือและทำความเข้าใจในเรื่องสถานการณ์ นโยบาย และแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบกับเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศอย่างจริงใจ เพราะมาเลเซียนอกจากจะเป็นประเทศสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ของไทย ทั้งในฐานะที่มีเขตแดนติดไทยและประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และตอนเหนือของมาเลเซียมีลักษณะร่วมกันในโลกวัฒนธรรมมลายูแล้ว มาเลเซียยังเป็นมิตรประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโอไอซีอีกด้วย
ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาร่วมกันในสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย ควรให้อยู่บนบรรทัดฐานและความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
5.การร้องขอของโอไอซีเพื่อเข้าไปตรวจสอบศึกษาข้อเท็จจริงสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมุสลิม ถือเป็นจุดหักเหสำคัญอันอาจก่อให้เกิดความร่วมมือหรือความขัดแย้งก็เป็นได้ ดังนั้นไทยควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
จากกรณีศึกษาจะเห็นได้ว่าการปฏิเสธของอินเดียอย่างดื้อรั้นนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างโอไอซีกับอินเดีย ซึ่งตามมาด้วยมาตรการกดดันระดับต่างๆ ของโอไอซีต่ออินเดีย
การปฏิเสธโอไอซีไม่ให้เข้าไปศึกษาข้อเท็จจริง ทำให้โอไอซีต้องหันไปพึ่งแหล่งข้อมูลอื่นภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มขบวนการ นักวิชาการ และผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่นอกประเทศ เป็นต้น
ฉะนั้น แนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกของไทย คือการไม่พยายามปิดกั้นในเรื่องของการเข้ามาศึกษาข้อเท็จจริงของโอไอซี แต่ควรปรึกษาหารือร่วมกันถึงวิธีการศึกษาข้อเท็จจริง อันจะทำให้ฝ่ายไทยมั่นใจได้ว่าผลสรุปจากการศึกษาจะสะท้อนออกมาอย่างมีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือ...
และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างโอไอซีกับไทยในการช่วยกันแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สัญลักษณ์ขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี