วัตถุต้องสงสัย-ธงชาติมาเลย์พรึ่บชายแดนใต้รับวันสถาปนาเบอร์ซาตู
ใต้ป่วนรับวันชาติมาเลย์-สถาปนาเบอร์ซาตู ลอบวางวัตถุต้องสงสัยกว่าร้อยจุดทั่ว 3 จังหวัดชายแดนและ 4 อำเภอสงขลา แถมปักธงชาติมาเลเซีย พร้อมติดป้ายยั่วยุท้าทายชุดอีโอดี เจ้าหน้าที่กระจายกำลังเคลียร์วุ่น ขณะที่จะแนะเจอบึ้มจริง ทหารพรานเจ็บ เผยเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดมาแล้วช่วงอภิสิทธิ์ล่องใต้พร้อมผู้นำมาเลย์เมื่อปลายปี 2552 ผู้เชี่ยวชาญชี้หวังตอกลิ่มเพื่อนบ้าน โชว์ศักยภาพขบวนการ
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตึงเครียด โดยล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 31 ส.ค.2555 คนร้ายลอบวางวัตถุต้องสงสัยหลายสิบจุดทั้งใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยบางจุดมีการแขวนหรือปักธงชาติมาเลเซีย พร้อมขึ้นป้ายข้อความ เช่น ยินดีต้อนรับชุดกู้ระเบิด (อีโอดี)
ทั้งนี้ จุดที่มีการรายงานพบวัตถุต้องสงสัย เผาธงชาติไทย ติดธงชาติมาเลเซีย หรือป้ายข้อความ เช่น ที่ อ.โคกโพธิ์ อ.ยะรัง อ.เมืองปัตตานี อ.เมือง อ.ยะหา จ.ยะลา บางอำเภอใน จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 100 จุด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องกระจายกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่ โดยมีจุดหนึ่งที่มีรายงานว่าเกิดระเบิดขึ้นแล้ว คือที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
สำหรับเหตุการณ์ที่ อ.จะแนะ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 06.40 น. คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดดักสังหารชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4609 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ขณะออกลาดตระเวนแล้วพบธงชาติมาเลเซียจำนวน 2 ผืนผูกติดกับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จึงประสานผู้ใหญ่บ้านเข้าไปเก็บธงชาติ แรงระเบิดทำให้ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อนันต์ อุ่นเพ็ญ ได้รับบาดเจ็บ
ยะลาป่วนกลางเมือง-ติดป้ายผ้าท้าทาย"อีโอดี"
ที่ จ.ยะลา คนร้ายไม่ทราบจำนวนนำวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิด ธงชาติมาเลเซีย และป้ายผ้าเย้ยหยันการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) ไปติดตามสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เช่น บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ถนนสิโรรส ย่านตลาดเก่า บริเวณสะพานบายพาสทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 (ห่างจากตัวเมืองเพียงเล็กน้อย) ถนนสาย 15 บ้านสะเตง ถนนสายยะลา-โต๊ะปาเก๊ะ ย่านชุมชนตลาดเก่า และบ้านบูเกะคละ หมู่ 6 ต.บุดี อ.เมืองยะลา
หลังจากเจ้าหน้าที่นำกำลังรุดไปตรวจสอบ พบว่าแต่ละแห่งมีกล่องต้องสงสัยพันด้วยเทปสีดำ บางแห่งเป็นกระป๋อง โดยเฉพาะที่หน้าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิมีจำนวนถึง 30 ใบ แต่ไม่พบวัตถุอันตราย ภายในบรรจุกรวดทราย
ส่วนที่สะพานบานพาสทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 นอกจากมีกล่องพันเทปดำวางไว้ให้ดูน่าตกใจแล้ว เจ้าหน้าที่พบป้ายผ้าหลายผืนเขียนตัวหนังสือสีแดงเป็นภาษาไทย มีข้อความท้าทาย ยั่วยุ และเย้ยหยันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เช่น "เดินดีๆ ดึงๆ ดีๆ เดี๋ยวเจอดี" หรือ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใต้ถนน...?" เป็นต้น
ที่บ้านเงาะกาโป หมู่ 3 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) พ.ต.อ.เจริญ ธรรมขันธ์ ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา นำกำลังไปตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยเป็นถังแก๊ส วางไว้บริเวณกำแพงมูลนิธิอีราหะหมัด หน่วยกู้ภัยเอกชน แต่ระหว่างทางก่อนถึงหน้ามูลนิธิ คนร้ายได้โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ ทำให้รถยนต์ของชาวบ้านได้รับความเสียหายหลายคัน ส่วนถังแก๊ส ตรวจสอบแล้วไม่พบวัตถุระเบิด
4 อำเภอสงขลาโดนด้วย-สั่งยิงทำลายวัตถุต้องสงสัย
ส่วนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ก็พบการก่อเหตุป่วนในลักษณะเดียวกัน คือวางวัตถุต้องสงสัยตามเส้นทางสายต่างๆ รวมทั้งติดธงชาติมาเลเซียบริเวณริมถนนในพื้นที่ ต.ห้วยปลิง ต.สะท้อน ต.บ้านโหนด อ.เทพา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังกันออกตรวจสอบ และยิงทำลายวัตถุต้องสงสัยเพื่อเคลียร์พื้นที่
พล.ต.ต.สุวิทย์ เชิญศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (ผบก.ภ.จว.สงขลา) กล่าวว่า เหตุก่อกวนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหตุการณ์คล้ายคลึงกับที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกสถานีใน 4 อำเภอออกตรวจสอบ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจสงขลา และอาสารักษาดินแดน (อส.) ของฝ่ายปกครองแล้ว
"พื้นที่ที่พบมีการก่อกวนและได้รับรายงานเข้ามานั้น มีทั้ง 4 อำเภอที่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางพื้นที่เป็นวัตถุต้องสงสัย มีประทัดยักษ์หรือระเบิดปลอม พร้อมติดธงชาติมาเลเซียไว้ด้วย ส่วนบางพื้นที่ก็พบเพียงการติดธงชาติมาเลเซียอย่างเดียว จึงได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ว่า หากพบวัตถุต้องสงสัยให้ยิงทำลายทันที เนื่องจากกำลังชุดอีโอดีมีน้อย และเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจสอบจุดต่างๆ ด้วย" พล.ต.ต.สุวิทย์ กล่าว และว่าเหตุก่อกวนที่เกิดขึ้นมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า แล้วก็เกิดเหตุขึ้นจริงๆ
คาดก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์วันสถาปนาเบอร์ซาตู
เบื้องต้นฝ่ายความมั่นคงสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากวันที่ 31 ส.ค.ของทุกปีเป็นวันชาติมาเลเซีย และเป็นวันสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู
สำหรับ "ขบวนการเบอร์ซาตู" คือ "องค์กรร่ม" ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหลายขบวนการ เช่น บีอาร์เอ็น (เก่า) พูโล และบีไอพีพี (ขบวนการแบ่งแยกรัฐปัตตานี) เป็นต้น เพื่อความเป็นเอกภาพในการต่อสู้และประโยชน์ในการเจรจา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31ส.ค.2532 มี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานบีไอพีพี และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย เป็นประธาน
ย้อนเหตุป่วนทั่วสามจังหวัดปี 2552
อนึ่ง เหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552 ช่วงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส พร้อมกับ นายนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย เพื่อร่วมกันเปิดสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย หรือสะพานบูเก๊ะตา (สะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2) ที่บ้านบูเก๊ะตา ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส โดยในวันดังกล่าวมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายสิบจุด และมีการขึ้นป้ายเขียนข้อความว่า "ปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของมาเลย์"
ชี้หวังโชว์ศักยภาพ-ตอกลิ่มสัมพันธ์เพื่อนบ้าน
แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นว่า การก่อเหตุวางวัตถุต้องสงสัยพร้อมกันหลายสิบจุด และติดธงชาติมาเลเซียหลายสิบผืน โดยบางจุดมีการปีนขึ้นไปแขวนบนสายไฟฟ้าที่พาดถนนด้วย เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อแสดงให้เห็นว่า กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ยังมีกำลังคนเหลือเฟือ และมีแนวร่วมอีกเป็นจำนวนมาก สามารถเลือกก่อเหตุที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนหวาดกลัวและยอมอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต่อไป
นอกจากนั้น การเผาธงชาติไทยและติดธงชาติของประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นความต้องการตอกลิ่มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เคยประกาศว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ศาลมาเลเซียก็เพิ่งยกฟ้อง 3 คนไทยจาก จ.นราธิวาส ที่ถูกจับกุมพร้อมวัตถุระเบิดและอุปกรณ์ประกอบระเบิดล็อตใหญ่ในบ้านเช่าแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน ทั้งๆ ที่ 2 ใน 3 คนนั้นมีหมายจับของทางการไทย และ 1 ใน 3 เคยถูกจับกุมในคดีระเบิดที่โรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส และหลบหนีระหว่างต่อสู้คดี
ประเด็นดังกล่าวสร้างความตึงเครียดในแง่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เพราะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เคยเดินทางเยือนมาเลเซียมาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2555 โดยหนึ่งในหัวข้อหลักของการหารือก็คือเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทำให้ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลเตรียมใช้กลไกศูนย์ประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นหัวหน้า หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือให้มากขึ้นกว่าเดิม
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่กำลังเข้าเคลียร์พื้นที่ใน อ.ยะหา จ.ยะลา บริเวณที่คนร้ายลอบวางวัตถุต้องสงสัยและติดธงชาติมาเลเซีย
2 กับ 4 ธงชาติมาเลเซียและป้ายผ้าเขียนข้อความท้าทายยั่วยุเจ้าหน้าที่บริเวณสะพานบายพาสก่อนเข้าเมืองยะลา
3 เจ้าหน้าที่กำลังเก็บธงชาติมาเลเซียที่คนร้ายแขวนไว้กับสายไฟฟ้าในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา
อ่านประกอบ :
1 สรุปปฏิบัติการป่วนใต้รับนายกฯมาเลย์ ฝ่ายความมั่นคงเสียงแตก-มองต่างมุม
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/1607-2009-12-09-09-47-27.html
2 ปมลึกมาเลย์ยกฟ้องคดีระเบิด 3 มุสลิมใต้ กับคำให้การต่อต้านรัฐไทย!
http://www.isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/16051--3-.html
3 ตรวจแนวรบ "เจรจาดับไฟใต้" เมื่อ "องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ" ขอมีเอี่ยว
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/16053--qq-qq-.html