logo isranews

logo small 2

สะพานเกียกกาย สร้าง หรือ ทำลายความสง่างามของเมือง

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 09 ตุลาคม 2559 เวลา 16:55 น.
เขียนโดย
ประสาร มฤคพิทักษ์
หมวดหมู่

การศึกษาเรื่องสะพานที่ทำมาตั้งแต่ปี 47 นั้น หากสร้างสะพานในปี 48-49 ก็น่าจะแก้ปัญหาการจราจรได้ แต่ปัจจุบันสภาพการจราจรมีการแก้ปัญหาไปมากแล้วจึงควรทำการศึกษาใหม่

bridgeาา09

ตามที่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาแก้ปัญหาสะพานเกียกกายที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐสภาแห่งใหม่นั้น

เมื่อเร็วๆ นี้  พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้เรียกประชุมองค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายกสภาสถาปนิก (นายเจตกำจร  พรหมโยธี), นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ดร.อัชชพล  ดุสิตนานนท์),อุปนายกวิศวกรรมสถานฯ (ดร.ไกร ตั้งสง่า), ตัวแทนฝ่ายผู้ออกแบบทีม สงบ.1051 (รศ.ดร.การุญ จันทรางศุ อดีตรองผู้ว่ากทม.ฝ่ายโยธา และอดีตนายกสภาวิศวกรรมฯ, นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์,นายบุญฤทธิ์  ขอดิลกรัตน์ สถาปนิกดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ), ตัวแทนกรุงเทพมหานคร (นายภัทรุตม์  ทรรทรานนท์ รองปลัด กทม.) เพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายที่พยายามจะทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองอย่างบูรณาการและรอบด้านเพื่อนำเสนอรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ความเห็นในที่ประชุมมีดังนี้

กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่าการเบี่ยงแนวสะพานจะไม่สามารถรองรับการจราจรของถนนทหาร-สามเสน ทั้งยังเสียเงินค่าเวนคืนและมีผลกระทบกับประชาชน  ส่วนการทำอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเนื่องจากติดโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงทำให้ต้องลอดลึกลงไปถึง 40 เมตร มีค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นถึง 4 เท่า และไม่รองรับการจราจรถนนทหารเนื่องจากมีระยะกระชั้นเกินไป

นายกสภาสถาปนิก นายเจตกำจร พรหมโยธี ให้ความเห็นว่า รัฐสภาแห่งใหม่เป็นอาคารที่มีความสำคัญระดับชาติ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกายจะส่งผลกระทบทำให้อาคารรัฐสภาหมดราศีและเสื่อมค่าลง จึงเสนอให้มีการปรับแนวสะพานเรียบคลองบางซื่อแทนซึ่งใช้งบประมาณในการเวณคืน และกระทบประชาชนน้อยกว่าแนวทางเดิมที่กรุงเทพมหานครเสนอ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื่นที่ราชการทหาร และตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน ซึ่งจะทำให้รัฐสภาและวัดใหม่ทองเสนวัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 3 อยู่ในโซนเดียวกันกับรัฐสภาโดยไม่มีสะพานมาพาดผ่าน

นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ดร.อัชชพล  ดุสิตนานนท์  ให้ความเห็นว่า แนวสะพานในภาพรวมจะมีผลต่อทัศนียภาพของอาคารรัฐสภาอย่างร้ายแรง จึงจำเป็นต้องทำเป็นmodelที่มีกินบริเวณกว้างเพื่อให้เห็นภาพรวม โดยเสนอว่าสมาคมจะเป็นผู้จัดทำและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ภายใน1.5เดือน และควรศึกษาแนวสะพานใหม่ว่าจะช่วยเรื่องการจราจรได้มากน้อยเพียงไร หรือหากยกเลิกไม่สร้างสะพานยังจะเกิดปัญหาจราจรอยู่หรือไม่

อุปนายกสภาวิศวกรรมฯ ดร.ไกร ตั้งสง่า  ให้ความเห็นว่าทางด้านทัศนียภาพเป็นเรื่องความงามทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ที่มีสภาสถาปนิก และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ความเห็นอยู่แล้ว ดังนั้นเอ็นจิเนียร์จึงไม่ขอก้าวล่วง  ส่วนเรื่องทางวิศวกรรมเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการย้ายแนวสะพาน  ทำเป็นอุโมงค์ หรือสร้างตามแนวทางเดิมก็สามารถทำได้ทั้งหมด  โดยเสนอให้มีคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป

กรมโยธา เสนอความเห็นมา 3 แนวทาง  คือ1.ขอให้พิจารณาเรื่องการย้ายแนวสะพานอีกครั้ง 2.แก้ไขแบบสะพานให้สอดคล้องกับรัฐสภา 3. แก้ไขแบบรัฐสภาโดยการย้ายทางเข้าไม่ให้ลอดใต้สะพาน

ฝ่ายผู้ออกแบบ ดร.การุญ จันทรางศุ เห็นว่าการศึกษาเรื่องสะพานที่ทำมาตั้งแต่ปี 47 นั้น หากสร้างสะพานในปี 48-49 ก็น่าจะแก้ปัญหาการจราจรได้ แต่ปัจจุบันสภาพการจราจรมีการแก้ปัญหาไปมากแล้วจึงควรทำการศึกษาใหม่ 

ทางด้านนายบุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางด้านวิสัยทัศน์ จึงขอเสนอให้มีการจัดเวธีสาธารณะเพื่อให้ผู้รู้เข้ามาร่วมเสนอความเห็น  และในการตั้งกรรมการควรให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้ศึกษาเรื่องทำเลที่ตั้งอาคารรัฐสภาเข้าร่วมด้วย

ด้านพลเอกอนุพงษ์ ขอให้กทม.ทำโครงข่ายจราจร และงบประมาณที่ชัดเจน พร้อมรับข้อเสนอของทุกฝ่ายไปปรึกษากับนายกรัฐมนตรี และเห็นด้วยว่าควรจัดทำโมเดลเพื่อนำไปเป็นองค์ประกอบให้นายกฯ พิจารณาพร้อมข้อเสนอของทุกฝ่าย