logo isranews

logo small 2

ส.โลกร้อนฟ้องเลิกมติครม. สร้างเขื่อนแม่วงก์ "ไม่แก้น้ำท่วม"

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 24 กรกฎาคม 2555 เวลา 13:54 น.
เขียนโดย
ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา

“ศรีสุวรรณ” ฟ้องศาลปกครองระงับมติครม. สร้างเขื่อนแม่วงก์ 1.3 หมื่นล. ชี้ไม่ผ่านทำอีเอชไอเอตามรธน.-ไม่ผ่านประชาพิจารณ์ และแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ไม่จริง

วันที่ 24 ก.ค. 55  สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมทีมทนายความเข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) อธิบดีกรมชลประทาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อศาลปกครองกลางให้ระงับการเห็นชอบก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อ 10 เม.ย. 55 อนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์พร้อมวงเงินก้าวกระโดดถึง 13,280.445 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี (ปีงบประมาณ 55-62) โดยไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 57, 58, และ 67 วรรค 2 ที่กำหนดให้ต้องศึกษาหรือวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ก่อน เพราะเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เพราะจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า 13,000 ไร่ โดยมีไม้สักหนาแน่ ประกอบกับเป็นที่อยู่ของเสือโคร่ง นกยูงไทย และสัตว์นานาชนิด

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวต่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ยังเป็นเขตอับฝน ดังนั้นการสร้างเขื่อนในบริเวณต้นน้ำจึงไม่บรรเทาน้ำท่วมได้จริง เนื่องจากการสร้างเขื่อนบริเวณเขาสบกกเป็นการกั้นลำน้ำแม่วงก์สายเดียว แต่ลำน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำแม่วงก์มีหลายสาย ซึ่งตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปี 40 ระบุสามารถแก้ไขน้ำท่วมได้ 25% เท่านั้น นั่นหมายถึงการแก้ไขในพื้นที่ยังด้อยประสิทธิภาพ จึงไม่ต้องคำนึงถึงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเลย

 นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังใช้อำนาจส่งหนังสือขอความเห็นชอบเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ไปยังกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม, คลัง, พัฒนาสังคมฯ, เกษตรและสหกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พลังงาน, มหาดไทย, แรงงาน, วัฒนธรรม, วิทยาศาสตร์ฯ, สาธารณสุข, อุตสาหกรรม, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมกเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จึงไม่กล้าคัดค้าน

 นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของผลกระทบที่จะตามจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยมุ่งแต่ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเสียงข้างมากอนุมัติโครงการต่าง ๆ ซึ่งนำสาเหตุเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นตัวประกัน โดยไม่ฟังเสียงภาคประชาสังคม จึงต้องให้ศาลปกครองพิจารณาบังคับ ดังนี้

1.ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนมติเมื่อ 10 เม.ย. 55 เกี่ยวกับการเห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในส่วนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาให้จัดมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ โดยจัดทำประชามติตามม. 165 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 และ 3.ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตาม ม. 57, 58, และ 67 ประกอบม. 85 และ 87 ให้ครบถ้วนก่อนดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อน

“สมาคมฯ ไม่ปฏิเสธโครงการที่รัฐบาลผลักดันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ต้องให้มีความรอบคอบในการดำเนินการ เพราะมีงบประมาณมาก แม้ประชาชนจะเรียกร้องให้ก่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ รัฐบาลกลับไม่ฟัง จึงขอให้อาศัยประชามติเป็นหลัก มิใช่ดำเนินการข้ามขั้นตอน” นายกต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว.

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง