logo isranews

logo small 2

แหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อของบีบีซีไทย

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 06 ตุลาคม 2558 เวลา 16:24 น.
เขียนโดย
ธาม เชื้อสถาปนศิริ

581006 bbc

บีบีซีไทย หรือ สื่อไหนๆ ปกปิดชื่อแหล่งข่าวได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ ได้ ถ้า สื่อสัญญากับแหล่งข่าวว่าจะไม่เปิดเผยชื่อ แต่ สื่อต้องพิจารณาก่อนว่า เรื่องนั้นๆ สมควรเปิดเผย หรือปกปิดหรือไม่?

โดยปกติแล้ว การปกปิดหรือเปิดเผยชื่อแหล่งข่าว มี 2 อย่างที่พิจารณา คือ (1) ผลประโยชน์สาธารณะสูงสุดของประชาชน และ (2) ความปลอดภัยของผู้ให้เป็นแหล่งข่าว

คำถามเริ่มต้นก่อน คือว่า "เบื้องหลังที่มาภาพถ่ายพล.อ.ประยุทธ์ กับ โอบามา" นั้น เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนหรือไม่ และ แหล่งข่าวกลัวอะไร ที่จะต้องเอาตัวเองมาเสี่ยงและปกปิดเช่นนี้

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

(1) กองบรรณาธิการ จะต้อง "พิจารณาก่อนว่า" เนื้อหาข่าว เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่อง การทหาร ความมั่นคง การเปิดโปงทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ หรือเป็นเรื่องอันตรายเสี่ยงภัยแก่ผู้ให้ข่าวหรือไม่ หากเปิดเผยชื่อที่อยู่ของแหล่งข่าวต่อสาธารณะ

ในกรณีนี้ บีบีซีไทย อ้างว่า "ไม่เปิดเผยชื่อแหล่งข่าว เพราะบรรยากาศในเมืองไทย ไม่ยอมรับการให้ข้อมูลอีกด้านของรัฐบาล หรือ เกรงกลัวการคุกคามการแสดงความคิดเห็น"

ในกรณีนี้ ผม "ไม่เห็นด้วย" เพราะนี่ไม่ใช่ "ความคิดเห็น แต่เป็นข้อเท็จจริง" แต่ถ้าอ้างว่า "แหล่งข้อมูลนั้นเป็นความลับ"

ส่วนตัวผมคิดว่า "ไม่ใช่ความลับอะไรเลย" เพราะเรื่องการถ่ายภาพนั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในทางการทูตอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศ ย่อมที่จะแสดงมารยาททางการทูตอยู่แล้ว ดังนั้น ในการพิจารณาว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปกปิดความมั่นคงปลอดภัย ของแหล่งข่าว จึงดูไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนในข้ออ้างที่ว่า เกรงกลัวบรรยากาศของการวิพากษ์วิจารณ์นั้น มีส่วนจริงอยู่ แต่การให้ข่าวของบีบีซี ต้องรับผิดชอบในฐานะของกองบรรณาธิการครับ

(2) จริยธรรมของการปกปิดแหล่งข่าว

จริยธรรมในการใช้แหล่งข่าวของไทยพีบีเอส คือ นักข่าวต้องรายงานเหตุการณ์จากที่เห็นด้วยตาตัวเองและหาข้อมูลด้วยตัวเอง ใช้แหล่งข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์และรู้เห็นเหตุการณ์จริง มีหลักฐานสนับสนุน โดยเลี่ยงข้อมูลในลักษณะบอกต่อๆกันมา และเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งข่าว

- ข่าวที่เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง ต้องแจ้งแก่ผู้ชมว่าแหล่งข่าว หรือผู้ร่วมรายการเป็นใคร พูดในนามของสถาบันหรือองค์กรใด เพื่อให้ผู้ชมประเมินได้ด้วยตนเอง

- การเสนอข่าวของสำนักข่าวอื่น หรือการเสนอข้อมูลจากหน่วยงานสากล มารายงานหรือประกอบรายงานต้องเลือกเฉพาะสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้ ภาคเอกชนที่ได้รับการยอมรับ และต้องอ้างอิงถึงนักข่าวหรือแหล่งข้อมูลนั้นๆ

- ควรจดบันทึกข้อมูลจากแหล่งข่าวและจากการค้นคว้าทุกครั้งทุกขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้ตรวจสอบได้ในภายหลังหากเกิดข้อโต้เถียง และ

- หลีกเลี่ยงการอ้างถึงแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย เว้นแต่การเปิดเผยนั้นจะเป็นอันตรายต่อแหล่งข่าว หรือข่าวนั้นเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และหากตัดสินใจเผยแพร่ออกอากาศ ต้องปิดบังหน้าตาแหล่งข่าว ชื่อ ที่อยู่ เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าวและครอบครัว ด้วยการปิดเสียงหรือพรางภาพ

ส่วนของบีบีซี คือ ความเที่ยงตรงในแหล่งข่าว

แนวทางปฏิบัติ

- ต้องรายงานเหตุการณ์จากที่เห็นกับตาตัวเอง และหาข้อมูลด้วยตนเอง หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลจากบุคคลซึ่งรับข้อมูลมาอีกทอดหนึ่ง ควรพูดกับผู้เห็นเหตุการณ์จริง หรือแหล่งข่าวปฐมภูมิที่อยู่ในเหตุการณ์ และมีความเชื่อถือได้ด้วยอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ หรือ ความเชี่ยวชาญ (Authority) ที่มีหลักฐานสนับสนุน

- พยายามหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งข่าวเดี่ยวต้องเปิดเผยชื่อจริงและตำแหน่งหน้าที่การงานจริง ของแหล่งข่าว เพื่อให้ผู้ชมผู้ฟังประเมินเองว่าจะเชื่อถือบุคคลเหล่านั้นเพียงใด และผู้พูดนั้นเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มใด

- หากแหล่งข่าวไม่ยอมให้เปิดเผยชื่อและสถานะในข่าวที่มีการกล่าวหากันในเรื่องร้ายแรงการปกปิดและปกป้องแหล่งข่าว จะกระทำเมื่อ แหล่งข่าวมีข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่หากไม่เผยแพร่ประชาชนจะไม่รู้ข้อเท็จจริง และ/หรือเป็นแหล่งข่าวที่ ถูกต้อง โดยต้องมีการตรวจสอบหลักฐานข้อกล่าวอ้างต่างๆ จนเป็นที่พอใจ และต้องแจ้งแหล่งข่าวว่า จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อแหล่งข่าวกับ บรรณาธิการ และ ฝ่ายกฎหมาย ก่อนนำออกอากาศ และเมื่อตัดสินใจออกอากาศแล้ว ต้องปิดบังแหล่งข่าว รวมทั้งชื่อและที่อยู่ เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าวและครอบครัว อาจด้วยวิธีการเปลี่ยนเสียงหรือปิดบังภาพเพื่อไม่ให้เห็นแหล่งข่าว แต่ผู้รับผิดชอบต้องพร้อมขึ้นศาลเพื่อสู้คดี หากมีการฟ้องร้อง ซึ่งถ้าแพ้คดี ก็ต้องพร้อมที่จะรับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นถ้าไม่พร้อมจะสู้คดีก็ไม่ควรรับปากกับแหล่งข่าวว่าจะปิดบังชื่อและสถานะของเขา

ข้างต้น คือ ข้อความแปลจริยธรรมของบีบีซีที่เป็นภาษาไทย ซึ่งถูกนำไปใช้อ้างอิงในการเป็นจริยธรรมและมาตรฐานขั้นต่ำของบีบีซีและสื่อมวลชนอาชีพทั่วโลก

แต่นั่น อาจไม่ใช่กับบีบีซีประเทศไทย

โดยสรุป ในความเห็นส่วนตัวของผม คือ "ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะต้องปกปิดแหล่งข่าว" เพราะแหล่งข่าวเองก็ต้องกล้าถูกตรวจสอบต่อสาธารณะ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ให้ข่าวจึงควรออกมาเปิดเผยแสดงตัวตน (แค่เรื่องภาพถ่ายทางธรรมเนียมการทูต การให้ข่าวของ outside contributor ที่บีบีซีอ้างนั้น มีลักษณะ กล่าวหา โจมตี หมิ่นประมาท อยู่กลายๆ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์สาธารณะ หรือ การทุจริตคอร์รัปชั่นโกงกินชาติ ที่อยู่บนหลักการพื้นฐานว่าควรต้องปกปิดแหล่งข่าว

การอ้างเหตุผลของบีบีซีไทย จึงฟังไม่ขึ้น เพราะ

(1) เหตุผลน้ำหนักของการอ้างอิงแหล่งข่าว ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะเรื่องราวมิเกี่ยวข้องกับการกระทบผลประโยชน์สาธารณะในลักษณะการทุจริต กังฉิน คดโกงของเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออยู่ภายใต้ภาวะสงคราม (ผู้นำประเทศทุกคนไปประชุมในห้องประชุมที่ยูเอ็น) มันเป็นความมั่นคง ภัยก่อการร้ายตรงไหน

(2) แหล่งข่าวฝ่ายรัฐ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทุกอย่าง และเป็นแหล่งข่าวในเหตุการณ์ ย่อมน่าเชื่อถือกว่าแหล่งข่าวปกปิดที่ไม่ทราบชื่อ

(3) ประจักษ์พยาน ภาพถ่าย ข้อมูลที่สื่อสังคมและทางการรัฐ ปล่อยออกมาเรื่อยๆ นี้ ต่างก็สวนทางกับข้อเท็จ/ข้อจริง ที่บีบีซีไทย ออกมาอ้าง

ในการนี้ ความถูกต้อง น่าเชื่อถือ จึงเป็นสิ่งที่บีบีซีไทยไม่มี

และนอกจากนี้ ยังไม่มีความรับผิดชอบทางบรรณาธิการด้วย เพราะไม่รู้ว่ากองบรรณาธิการคือใคร ชื่อเสียงเรียงนามเป็นอย่างไร แตกต่างจากแหล่งข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ต่างก็เปิดเผยชื่อ ข้อมูลตัวตนกันทุกๆ คน

บีบีซีไทย ต้องตั้งคำถามกับการปฏิบัตงานและหน้าที่ของตนเอง ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ว่า "ต้องแสดงอัตลักษณ์และตัวตนของผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการ" ข่าวทุกๆ ชิ้นต้องมีแหล่งข่าว และข่าวทุกๆ เรื่อง ต้องมีนักข่าว ผู้สื่อข่าว กองบรรณาธิการรับผิดรับชอบ

ตอนนี้เป็นบีบีซีเสียเอง ที่กระทำตนเองลับๆ ล่อๆ มาใช้ภาพสื่อมวลชนระดับโลกมืออาชีพ แต่การกระทำของกองบรรณาธิการของบีบีซีนั้น กลับปกปิด ซ่อนเร้น เงื่อนงำและผลประโยชน์อย่างทับซ้อนไม่ชัดเจน

ควรหรือไม่สมควรที่จะเปิดบีบีซีไทยอีกต่อไป
เป็นคำถามที่บีบีซีต้องตอบ

แล้วอย่าลืมนะครับว่า บีบีซีเป็นผู้สอนชาวสื่อมวลชนของโลก เป็นต้นแบบทางจริยธรรมที่มั่นคงตรงไปตรงมา เชื่อและยึดถือในวารสารศาสตร์แบบวัตถุวิสัย แค่นักข่าวบีบีซีจะลงไปทำงานข่าว ยังต้องแจ้งประชาชนและแหล่งข่าวให้ทราบเลยว่า ตนเป็นนักข่าว ชื่อเสียง เรียงนามอะไร เพื่อความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องนี้เป็นหนังยาวครับ!

 

bbc

 

อ่านประกอบ : บีบีซีไทยชี้แจงเหตุใดจึงไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียนบทความ

บทความและภาพประกอบข่าวจาก facebook.com/time.chuastapanasiri

ภาพบีบีซีไทยแฉไทยขอจัดฉากจับมือโอบามาจาก facebook.com/kittitouch.chaiprasith