logo isranews

logo small 2

“Peace TV-ฟ้าวันใหม่”สงครามเย็นสื่อ? หลังยุคสลายสีเสื้อ-คืนความสุข

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 07 กันยายน 2557 เวลา 13:00 น.
เขียนโดย
ศุภเดช ศักดิ์ดวง

“…แต่ที่น่าสนใจก็คือการรายงานข่าว/สกู๊ป/บทความ ที่เน้นข้อเท็จจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ด้วยวาระซ่อนเร้นที่หนักขึ้น ไม่มีการ “ด่ากราด-สาดโคลน” กันไปมาเหมือนในอดีตอีก … ราวกับเป็น “สงครามเย็น” ระดับสื่อของสองขั้วสองฝ่ายแนวคิดทางการเมือง ที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน หวังดึงมวลชนให้กลับเข้าสู่ฐานที่มั่นอีกครั้ง…”

PIC-tv-7-9-57 1

 พลันที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ (กสท.) รับลูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมรวม 12 ช่อง ที่ถูกระงับการเผยแพร่ภาพภายหลังรัฐประหาร ให้เผยแพร่ภาพได้

บรรดาแม่ยกแฟนคลับก็ใจชื้นขึ้นเป็นแถบ เมื่อช่องเก่งคนละอุดมการณ์ทางการเมืองอย่าง “Bluesky” และ “Asia Update-UDD TV” หวนกลับคืนจออีกครั้ง ภายใต้ชื่อใหม่ “ฟ้าวันใหม่” และ “Peace TV” ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี คงจะไม่ง่ายนักที่จะกลับไปผลิตรายการในรูปแบบเดิม ๆ เหมือนก่อนรัฐประหารได้อีก เพราะไม่ว่าจะสถานีโทรทัศน์ช่องไหน กระแสหลัก หรือดิจิตอล หรือดาวเทียม ต่างก็มีชะงักติดหลังในนโยบาย “สลายสีเสื้อ-คืนความสุข” อยู่

คำถามคือ การกลับมาเปิดช่องใหม่ของ 2 ช่อง ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นหนึ่งในชนวนที่สร้างความขัดแย้งในสังคมไทย เปรียบได้กับแกนนำทางความคิดของประชาชนสองขั้วสองค่าย กล่าวคือ คนเสื้อแดง-นปช.-แฟนคลับพรรคเพื่อไทย และกลุ่มพันธมิตร-กปปส.-แฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

จะมีรูปแบบการจัดรายการ และแนวคิดในการทำรายการ เป็นอย่างไร รวมไปถึงยังคงมี “อุดมการณ์” ซ่อนเร้นไว้ดังเดิมหรือไม่ ?

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ “ฟ้าวันใหม่” และ “Peace TV” ในห้วง 1 สัปดาห์ หลังได้รับใบอนุญาต พบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

สถานีโทรทัศน์ Peace TV

ในห้วง 1 สัปดาห์ที่เผยแพร่ออกอากาศ พบว่า สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ยังไม่มีอะไรโดดเด่นเหมือนก่อนเหตุการณ์รัฐประหารที่จะมีรายการฮอตฮิตอย่าง “ถลกหนังเทือก” ดำเนินรายการโดย “ตู่-จตุพร – เต้น-ณัฐวุฒิ” ให้แม่ยกแฟนคลับได้ยกเท้าตบขึ้นมากรี๊ดกร๊าดกันเกรียวกราว

โดยในช่วงทดลองออกอากาศนี้ มีการจัดรายการพิเศษ “Peace Talk” เชิญบรรดาแกนนำ นปช. เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ มาให้สัมภาษณ์แบบเปิดใจ ถึงช่วงที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร พร้อมพูดถึงจุดยืนของกลุ่ม นปช. ในสถานการณ์รัฐประหาร

นอกจากนี้มีเพียงรายการข่าวปกติ ซึ่งรายงานแบบธรรมดา เน้นข้อเท็จจริง ขณะที่รายการต่าง ๆ ก็ยังมีไม่ครบ รวมไปถึงพิธีกรระดับ “แม่เหล็ก” ก็ยังไม่เผยโฉมให้เห็นมากนัก

และที่สำคัญคือยังไม่มีพิธีกรระดับ “แกนนำ” ของ นปช. เข้าไปจัดรายการ นอกจากนางธิดา ในรายการ “เหลียวหลังแลไปข้างหน้า” และนายณัฐวุฒิ ที่เตรียมจัดรายการ “เข้าใจตรงกันนะ” ในวันที่ 9 กันยายน 2557 นี้

ด้านรายงาน/สกู๊ป ซึ่งช่วงนี้ไม่พ้นประเด็นการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดูจะร้อนแรงเป็นพิเศษ พอ ๆ กับ กรณีที่ศาลอาญามีพิพากษาไม่มีอำนาจในการรับคำร้องในคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ที่ถูกหยิบยกมาเล่นกันอย่างโขมงโฉงเฉงเช่นเดิม

กล่าวคือ ในด้านข่าว/รายงาน/สกู๊ป เน้นไปด้าน Fact (ข้อเท็จจริง) เยอะขึ้น แต่กลับแฝงด้วย Hidden Agenda (วาระซ่อนเร้น) มากขึ้น แม้จะไร้ถ้อยคำรุนแรง แต่กลับมีธง “การเมือง” ปักอยู่ในใจเช่นเดิม

“สถานีโทรทัศน์ช่องนี้ เราก็ดูแลให้ดีอย่าให้เขามาปิด ไม่ใช่เปิดไม่กี่วัน แล้วก็มาปิดของเราเสีย เราได้เจอกัน ก็ยังดีกว่าไม่ได้เจอกัน”

เป็นคำยืนยันจากปากของ “ธิดา ถาวรเศรษฐ” อดีตประธาน นปช. กล่าวในวันที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ออกอากาศเป็นวันแรก คือ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพร้อมทำตามนโยบาย “สลายสีเสื้อ-คืนความสุข” อย่างเต็มที่

ก่อนที่จะเล่าต่อว่า ก่อนจะออกอากาศได้นั้น จะต้องมีการเซ็นสัญญา MOU เพื่อจำกัดข้อห้ามต่าง ๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เป็นอย่างยิ่ง เช่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ห้ามเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นการปลุกปั่น สร้างความขัดแย้ง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน “ธิดา” ก็หวังว่า สถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะอยู่อย่างยาวนาน และจะสร้างให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ติดอยู่กับมายาคติที่ว่าเป็นช่องของคนเสื้อแดงอีกต่อไป

สถานีโทรทัศน์ ฟ้าวันใหม่

เซอร์ไพรส์ไม่น้อยเมื่อ นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โผล่หวนมาจับไมค์ในรายการ “ขอชัดชัด” หลังสึกจากการบวชเป็นพระภิกษุราว 1 เดือน โดยเป็นพิธีกรคู่กับ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นรายการที่เน้นวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แตะประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงบ้าง

แต่ที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่รายการที่ฮอตฮิตที่สุดอย่าง “สายล่อฟ้า” ที่ดำเนินรายการโดย 3 เกลอ “เทพไท เสนพงศ์-ชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์-ศิริโชค โสภา” ยังไม่หวนคืนจอนั้น

“ฟ้าวันใหม่” หยิบเอาดาราตลกผู้ขึ้นปราศรัยบนเวที กปปส. บ่อยครั้งอย่าง “หยอง ลูกหยี-กล้วย เชิญยิ้ม-ยอด นครนายก” จับมาทำเป็นพิธีกรเล่าข่าว ในรายการ “ข่าวบ่ายคลายเครียด” โดยเน้นหยิบจับเอาประเด็นด้านการเมือง มายำให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น

ส่วนในด้านการรายงานข่าว ก็ยังเน้นข้อเท็จจริง แต่หนีไม่พ้นธงที่ถูกตั้งมาแต่ต้น เช่น ในประเด็นเดียวกันกับ Peace TV อย่าง การตั้งคณะทำงานร่วมฯ อสส.-ป.ป.ช. คดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ก็จะเน้นไปที่ด้านการตั้งคำถามถึงอัยการสูงสุดว่าเหตุใดถึงไม่ฟ้อง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการแซวทางการเมืองอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ด้านรายงาน/สกู๊ป ก็เช่นเดียวกัน ยังคงแฝงไปด้วยวาระซ่อนเร้นเสมอ แม้จะเน้นหนักไปทางข้อเท็จจริงก็ตาม

ด้านรายการต่าง ๆ ก็ยังไม่มีพิธีกรระดับ “แม่เหล็ก” เข้ามามากนัก ส่วนใหญ่เน้นพิธีกรหน้าเดิม ๆ อย่าง “จั๊ด” ธีมะ กาญจนไพริน กับรายการ “ฟ้าทะลายโจร” ก็ยังอยู่เช่นเดิม เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนจะมีรายการอะไรที่ฮอตฮิตตามมาอีก แต่แทบไม่มีการ "แซว" ในระดับรุนแรงเหมือนตอนที่มีม็อบ กปปส.

แต่ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจาก นายเอกนัฎ ที่เป็นพิธีกรรายการแล้วนั้น ไม่ปรากฏแกนนำ กปปส. รายอื่นเข้ามาทำรายการในสถานีนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้สำหรับ น.ส.อัญชลี ไพรีรักษ์ ที่ปกติเป็นผู้ดำเนินรายการ “ร้อยข่าวบลูสกาย” ก็ไม่ได้กลับมาทำหน้าที่นี้อีก หลังย้ายไปเป็นพิธีกรรายการ “หมายข่าวนิวทีวี” ทางสถานีโทรทัศน์ “นิวทีวี” ในเครือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ทั้งหมดนี้ คือผังรายการ และแนวคิดการทำรายการ แบบคร่าว ๆ ของทั้ง 2 สถานีโทรทัศน์ หลังคืนชีพจาก “จอดำ” ได้รับการเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจับตาว่าต่อจากนี้ไปจะดำเนินรายการไปในรูปแบบใด และจะดึงใครมาเป็น “พิธีกรแม่เหล็ก” เหมือนในยุคก่อนอีกครั้ง

แต่ที่น่าสนใจก็คือการรายงานข่าว/สกู๊ป/บทความ ที่เน้นข้อเท็จจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ด้วยวาระซ่อนเร้นที่หนักขึ้น ไม่มีการ “ด่ากราด-สาดโคลน” กันไปมาเหมือนในอดีตอีก แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ยังยึดโยง "อุดมการณ์ทางการเมือง" ที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อไว้อย่างแน่นหนึบเหมือนเดิม

ราวกับเป็น “สงครามเย็น” ระดับสื่อของสองขั้วสองฝ่ายแนวคิดทางการเมือง ที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน หวังดึงมวลชนให้กลับเข้าสู่ฐานที่มั่นอีกครั้ง

ส่วนจะมีการพลิกแพลง และเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต อยู่ที่ คสช. เท่านั้นว่าจะจับตา-รับมือสถานีโทรทัศน์เหล่านี้อย่างไร ?