logo isranews

logo small 2

ต่อสายตรงสตง.ทันที! อธิบดีกรมศุลฯ พร้อมร่วมมือสอบคืนภาษีรถหรู 2 เอกชนดัง

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม 2559 เวลา 16:30 น.
เขียนโดย
isranews

อธิบดีกรมศุลฯ พร้อมให้ความร่วมมือ สตง.ตรวจสอบกรณีคืนภาษีรถหรู 2 บริษัทผู้นำเข้าจากอังกฤษ เผยโทรหาทันทีหลังทราบข่าว แต่ได้รับแจ้งให้รอประสานงานทางการ จึงยังไม่ขอให้ข้อมูลสื่ออะไรขณะนี้ ยันเป็นเรื่องเก่าก่อนเข้ามารับตำแหน่ง 

picddeddddd13 7 16

กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อแจ้งให้ทราบว่า สตง.จะเข้าตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากรของกรมศุลกากรกรณีการสั่งคืนภาษีอากร (ที่รัฐจะต้องจัดเก็บตามกฎหมาย) ให้แก่ บริษัท จูบิไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์หรูจากประเทศอังกฤษ ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีรองอธิบดีกรมศุลกากร (ตำแหน่งในขณะนั้น) และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน เข้ามาเกี่ยวพันด้วยนั้น 

(อ่านประกอบ:สตง.สอบบิ๊กกรมศุลฯสั่งยกเลิกประเมินภาษี บ.นำเข้ารถหรู 16 คัน เสียหายหลายสิบ ล.เปิดพฤติกรรม‘บิ๊กกรมศุลฯ’สั่งยกเลิกประเมินภาษีเอื้อ 2 บ.นำเข้ารถหรู 16 คัน - สตง.สอบ)

ล่าสุดในช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.ค.2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

นายกุลิศ กล่าวว่า ภายหลังจากที่เห็นข่าวเรื่องนี้ ได้ติดต่อประสานงานไปยัง สตง.เพื่อแจ้งให้ทราบว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลอย่างเต็มที่ หาก สตง.ต้องการเอกสารหลักฐานส่วนไหนจะเตรียมไว้ให้ แต่ได้รับแจ้งจากสตง.ว่ามีข้อมูลหลักฐานครบถ้วนแล้ว ไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติมอีก และขอให้กรมศุลกากร รอหนังสือที่จะแจ้งประสานเข้ามาเป็นทางการอีกครั้ง 

"ทางสตง.บอกให้ผมรอหนังสือแจ้งเข้ามาก่อน ซึ่งตอนนี้ ผมก็ยังไม่ได้รับแจ้งหนังสืออะไรมา ดังนั้น จึงยังไม่ขอพูออะไรตอนนี้ แต่ยืนยันว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือกับสตง.อย่างเต็มที่ แม้ว่าเรื่องนี้จะก็เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งก็ตาม"

อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำข้อเท็จจริงกรณีนี้มานำเสนอไปบางส่วนแล้ว โดยพบว่า

บริษัท จูบิไลน์ จำกัด ได้นำรถยนต์ยี่ห้อ LAMBORGHINI รุ่น GALLARDO จำนวน 6 คันราคาคันละกว่า 20 ล้านบาทผลิตจากประเทศอิตาลี และ บริษัท นิชคาร์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ LOTUS รุ่น EXIGE และ ELISE จำนวน 10 คัน ราคาคันละกว่า 10 ล้านบาท ผลิตจากประเทศอังกฤษ (รวมนำเข้า 2 บริษัทประมาณ 230 ล้าน) เข้ามาเก็บไว้ในเขตปลอดอากรบางกอกฟรีโซน ถ.บางนา-ตราด

ต่อมาทั้งสองบริษัทได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าขอเสียภาษีเพื่อนำรถยนต์จำนวนดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากรเพื่อขายในประเทศ แต่สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่รับผิดชอบเขตปลอดอากรในเวลานั้นให้บริษัททั้งสองวางประกันราคาเพิ่ม เพื่อรับรถยนต์ทั้ง 16 คันออกไป ขณะที่บริษัทฯกลับไม่ยอมมาชี้แจงเหตุผลหรือแสดงหลักฐานการซื้อขายที่ชำระเงินกันจริง

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 (บางปู) สำนักงานศุลกากรกรุงเทพฯ รับผิดชอบจึงได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรเพื่อให้บริษัทฯมาชำระเงิน และเพื่อให้บริษัทฯใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ราคา และได้สั่งการให้ผลักเงินประกันเป็นค่าภาษีอากรรายได้แผ่นดินจำนวนหลายสิบล้านบาท

ต่อมาบริษัททั้งสองได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรจากกรมศุลกากรแล้วยื่นอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีอากร ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนี้

1.บริษัท จูบิไลน์ จำกัด ได้ยื่นคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมนภาษีอากร เลขที่ 0002-0007 ลงวันที่ 19 พ.ค.2552

2.บริษัท นิชคาร์ จำกัด ได้ยื่นคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมนภาษีอากร เลขที่ 0008-0017 ลงวันที่ 19 พ.ค.2552

เมื่อสำนักมาตรฐานพิธีการละราคาศุลกากร กรมศุลกากร ได้รับคำอุทธรณแล้ว เจ้าหน้าที่นักวิชาการศุลกากรชำนาฯการ ซึ่งเป็นหัวหน้าอุทธรณ์ราคา มิได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ได้นำเรื่องพิจารณาเสียเอง และได้เสนอเรื่องให้รองอธิบดีกรมศุลฯ (ตำแหน่งขณะนั้น) ใช้อำนาจทางการบริหารแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกำหนดราคาศุลกากร และเพิกถอนการออกแบบแจ้งการประเมินอากร โดยอ้างว่าการกำหนดราคาศุลกากรรถยนต์จำนวน 16 คัน รวมทั้งการออกแบบแจ้งการประเมินอากรก่อนหน้านี้ไม่ถูกต้อง และได้ส่งเรื่องกลับให้หัวหน้าฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 (บางปู) ยกเลิกแบบแจ้งการประเมินอากร และแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเองเพื่อทบทวนราคารถยนต์ทั้ง 16 คัน พร้อมทั้งสั่งคืนเงินภาษีอากรจำนวนหลายสิบล้านบาทให้แก่ผู้นำเข้ารถยนต์ทั้งสอง ต่อมาบริษัททั้งสองได้รับเงินค่าภาษีคืนแล้วก็ได้ขอถอนคำขออุทธรณ์

น่าสังเกตว่า การกระทำของข้าราชการกรมศุลกากร 3 คน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเมื่อผู้นำเข้าได้ยื่นคำขออุทธรณ์การประเมินอากรแล้ว อำนาจในการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่มีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานคณะกรรมการ ตามมาตรา 112 สัตตแห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

อีกทั้ง การ“ขอถอนคำอุทธรณ์” ก็ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาอนุมัติไม่อาจได้รับเงินค่าภาษีคืนอีกด้วย เพราะต้องถือว่ายอมรับผลแห่งการประเมินราคาตามจำนวนเงินที่ระบุในแบบแจ้งการประเมินอากร

นอกจากกรณีนี้ ยังมีกรณีอื่น อาทิ กรณีนำเข้ารถยนต์หรูนับหมื่นคันและสำแดงราคาต่ำ (ทำให้ค่าภาษีของรัฐขาดหายไปนับหมื่นล้านบาท) ถูกตัดตอนมิให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ด้วยหรือไม่