logo isranews

logo small 2

“นิพิฐ”อ้างบอร์ด ปตท.สมคบกันทุจริตทำโครงการปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง

“นิพิฐ” เข้าให้การศาลแพ่งสู้คดี ปตท.-PTTGE ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้านปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ ลั่นปฏิบัติตามบอร์ดทุกอย่าง ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว อ้างบอร์ด ปตท. สมคบคิดกันทุจริตทำให้เสียหาย ยันบริหารอย่างดี ใช้ความระมัดระวังโดยตลอด ให้ทำต่อกำไรแน่

PIC pttttt 7 10 58 1

จากกรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ หรือ PTTGE เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นจำเลย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม และปลูกปาล์มน้ำมัน 5 โครงการที่ประเทศอินโดนีเซีย ต่อศาลแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 20,307,653,844 บาท นั้น

(อ่านประกอบ : ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ)

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายนิพิฐ ได้เข้าให้การต่อศาลแพ่งขอปฏิเสธคำฟ้องของฝ่ายโจทก์ทั้งสิ้น โดยระบุตอนหนึ่งว่า ตนไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของโจทก์ทั้งสอง และไม่ได้เป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐหรือองค์การของรัฐ ตามความหมายของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เนื่องจากช่วงที่ ปตท. ให้ไปช่วยงานในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการนั้น ไม่ได้เป็นลูกจ้างให้กับ ปตท. เพราะยังเป็นลูกจ้างกับ ปตท.สผ. อยู่ และ ปตท.สผ. ก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ รวมถึง PTTGE ก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่มีภาครัฐถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบโดยตรง

นอกจากนี้การบริหารงาน PTTGE ของตนนั้น กระทำในรูปแบบของคณะกรรมการ (บอร์ด) ตนไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเพียงลำพัง แต่ต้องตัดสินใจร่วมกับคณะผู้บริหารของ PTTGE และได้กระทำการหรือได้รับอนุมัติจากบอร์ดของ PTTGE ทุกครั้ง และ ปตท. ก็ให้สัตยาบันแล้ว ดังนั้นการบริหารงานของตนจึงไม่ได้กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง PTTGE จะฟ้องไล่เบี้ยเอาจากตนไม่ได้

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ PTTGE ในประเทศอินโดนีเซียนั้น ตนได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องต่อกิจการและผลประโยชน์ของ PTTGE อย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังในการบริหารกิจการครบถ้วน ทั้ง ปตท. และ PTTGE จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 ได้

ขณะเดียวกัน PTTGE ประกอบธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย การกระทำละเมิดตามที่ ปตท. และ PTTGE กล่าวอ้างอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย มูลคดีละเมิดเกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายประเทศอินโดนีเซีย แต่ ปตท. และ PTTGE ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าจะต้องใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาปรับใช้แก่คดี จึงเป็นการฟ้องที่เคลือบคลุม

นายนิพิฐ ระบุอีกว่า ยังไม่เคยดำเนินงานไปในทางทุจริตแต่อย่างใด อีกทั้งผลการสืบสวนหรือสบอสวนของคณะกรรมการที่ ปตท. ตั้งขึ้นนั้น ก็ไม่พบว่าตนกระทำการทุจริต โดยตลอดเวลาที่เป็นกรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ PTTGE ได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการและประโยชน์ของ PTTGE อย่างบุคคลผู้ค้าขายผู้ประกอบการด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างดี

การบริหารกิจการของ PTTGE ภายใต้การกำกับดูแลของตนนั้น ไม่เคยตัดสินใจลำพัง หรือโดยพละการ การดำเนินการในทุก ๆ ด้านคำนึงถึงผลประโยชน์ของ PTTGE เป็นหลัก และต้องอยู่ภายใต้กรอบอำนาจของ ปตท. ที่วางกรอบเอาไว้ การดำเนินโครงการทั้ง 5 โครงการตามที่ ปตท. และ PTTGE ฟ้องตนนั้น จะต้องแจ้งเข้าที่ประชุมใหญ่ของ PTTGE และต้องได้รับการอนุมัติจากมติที่ประชุมก่อนจึงจะดำเนินการได้ ดังนั้นเมื่อตนและคณะผู้บริหารซึ่งเป็นกรรมการของ PTTGE ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมให้ดำเนินการใด ๆ แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อ PTTGE ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1170

นอกจากนี้คำฟ้องของ ปตท. และ PTTGE ก้าวล่วงไปถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ซึ่งมีโทษทางอาญา โดยกล่าวหาว่าตนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องมาว่าทุจริตอย่างไร มีการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้อย่างไร หรือกระทำการอย่างไรที่ต้องด้วยลักษณะดังกล่าว แม้กระทั่งผลการสอบสวนของ ปตท. เองก็ไม่พบว่าตนทุจริต ดังนั้นคำฟ้องส่วนนี้จึงขัดแย้งกันเอง เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษา พ.ร.บ.ดังกล่าว

ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้น นายนิพิฐ ระบุว่า ล้วนแต่เป็นการคาดคะเน คาดเดา หรือคาดการณ์เหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่มีเอกสารท้ายคำฟ้อง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานมาอ้างอิงหรือมาสนับสนุน เป็นคำฟ้องที่กล่าวลอย ๆ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม

รวมถึงการกำหนดค่าเสียหาย ปตท. และ PTTGE ยังคิดคำนวณจากผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินลงทุน เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งค่าเสียหายตามฟ้องดังกล่าว เป็นหลักการคิดคำนวณทางบัญชีใช้ในการแสดงสถานะภาพของบริษัทเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง เป็นการคาดการณ์ และคาดเดาค่าเสียหายในอนาคต

“การลงทุนมีความเสี่ยงไม่ได้มีผลกำไรตลอดเวลา ทั้งนี้ต้องยอมรับผลการขาดทุนด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้า ปตท. และ PTTGE ให้ตนบริหารงานต่อไปมีผลกำไรแน่นอน เพราะการลงทุนทางการเกษตรนั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 ปีขึ้นไปจึงจะเห็นผล ถึงจะมีรายได้ แต่ ปตท. และ PTTGE กลับปลดตนออกจาการเป็นผู้บริหาร และให้ผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันมาบริหาร และล้มเลิกโครงการไปในที่สุด อีกทั้งบอร์ดของ ปตท. และ PTTGE สมคบคิดกันเพื่อทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้โครงการทั้งหมดได้รับความเสียหาย” นายนิพิฐ ระบุ

นายนิพิฐ ระบุอีกว่า การดำเนินโครงการปาล์มน้ำมันของ PTTGE ในประเทศอินโดนีเซียทั้ง 5 โครงการดำเนินงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กรอบมติของบอร์ด ปตท. และบอร์ด PTTGE โดยก่อนการลงทุนได้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ มีการวิเคราะห์ในเชิงลึกทุกด้าน สัญญาลงทุนที่เข้าทำเป็นสัญญามีเงื่อนไขโดยจะมีการชำระเงินเพื่อบริษัทที่จะเข้าซื้อหุ้นได้ที่ดินทรัพย์สินต่าง ๆ พร้อมทั้งใบอนุญาตมาครบถ้วนแล้ว โดยจะชำระเงินตามอัตราที่จัดหาทรัพย์สินมาได้ ก่อนที่ตนจะพ้นตำแหน่ง เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติตามสัญญา แต่ยังทำไม่เสร็จก็ต้องพ้นตำแหน่งไปก่อน รวมถึงเมื่อเข้าทำสัญญาแล้วก็รายงานการดำเนินงานให้บอร์ด ปตท. และบอร์ด PTTGE ทราบทุกเดือน ซึ่งทั้ง 2 บอร์ด ไม่เคยท้วงติงแต่อย่างใด ขณะเดียวกันจากการสอดส่องเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่ลงทุนธุรกิจน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซียก็มีการตกลงเข้าทำสัญญาในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

ส่วนราคาซื้อขายพื้นที่ที่ PTTGE ได้ซื้อจากหุ้นส่วนชาวอินโดนีเซียหรือจากบุคคลภายนอก ในช่วงที่ตนรับผิดชอบเป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGE ล้วนราคาต่ำกว่าท้องตลาด ณ เวลานั้น อันเป็นการสร้างมูลค่ากำไรให้แก่ PTTGE อย่างมาก ซึ่งค่าเฉลี่ยพื้นที่ยังไม่พัฒนา (Green Field) ในกรณีที่ได้รับเอกสารสิทธิประกอบธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมัน (HGU) แล้ว จะอยู่ในระหว่าง 485-890 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ขึ้นอยู่กับสภาพทำเลที่ตั้งของที่ดินในแต่ละส่วนของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเทียบราคากับปัจจุบันแล้ว ราคาที่ดินดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 1,500-4,000 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ทั้งนี้ที่ดินปลูกปาล์มหายากมากในปัจจุบันและราคาก็ขึ้นตลอดเวลา มีแต่สร้างกำไรให้กับ PTTGE ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเลยแก่ ปตท. และ PTTGE

ส่วนการซื้อที่ดินป่าสงวนนั้น นายนิพิฐ ระบุว่า ไม่เคยซื้อที่ดินที่มีสภาพเป็นป่าสงวนอันไม่อาจขอเอกสารสิทธิ HGU ได้ และ/หรือไม่เคยซื้อที่ดินสภาพเป็นดินพรุซึ่งตามกฎหมายประเทศอินโดนีเซียมีสภาพลึกกว่าที่กฎหมายกำหนดอันไม่อาจประกอบธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันได้ และ/หรือไม่เคยซื้อที่ดินที่มีสภาพเป็นที่ภูเขาสูงชันซึ่งประกอบธุรกิจปลูกปาล์มไม่ได้

“ที่ดินทั้ง 5 โครงการเป็นที่ดินที่มีสภาพเหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันทั้งสิ้น มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้แก่เจ้าของที่ดินต่อเมื่อได้ HGU เท่านั้น ซึ่งถ้ารัฐบาลอินโดนีเซียออก HGU ได้นั้น หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวปลอดภัยจากสภาพการเป็นป่าสงวน/ที่ดินพรุ/ภูเขาสูงชันอันปลูกปาล์มมิได้ตามกฎหมาย” นายนิพิฐ ระบุ

อ่านประกอบ :
เปิดผลสอบ ปตท.ปมปลูกปาล์มอินโดฯ ชนวนทำ“บิ๊ก ปตท.สผ.”พ้นเก้าอี้
บอร์ด ปตท.สผ.ให้ “นิพิฐ”พ้นสภาพพนักงานปมปลูกปาล์มอินโดฯ-ฟ้องอาญาสู้
ป.ป.ช.ยกคำร้อง“บิ๊ก ปตท.สผ.”ค้านอนุฯสอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
“บิ๊ก ปตท.สผ.”ทำหนังสือค้าน 5 อนุฯป.ป.ช.สอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ

ศาลไฟเขียว“บิ๊ก ปตท.สผ.”ขอเลื่อนคำให้การคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 4 ก.ย.-ทนายถอนตัว
ปตท.สผ.แจงเหตุสอบช้า “บิ๊ก” คดีปลูกปาล์มฯ ยันเอกสารเยอะ-ย้ายมาส่วนกลางแล้ว

บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1)
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(จบ)
ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
ปตท.ระทึก!อนุฯ ป.ป.ช.พบปมซื้อที่ดินปลูกปาล์ม ปท.อินโดฯ เล็งชี้มูล 2 โครงการ
ป.ป.ช.พบตัวละครคดีข้าวจีทูจีโยงซื้อขายมันเส้น!-สอบปตท.ปมปลูกปาล์มในอินโดฯ 
ป.ป.ช.เหลือสอบพยานคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 6-7 ปาก ขีดเส้น 2 เดือนเสร็จ