ชงข้อมูลนายกฯทลายจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ ซัด 92 แห่งส่อฮั้ว ให้ใช้‘อี-บิดดิ้ง’แทน
ผู้ประกอบการรายย่อยส่งข้อมูลร้องนายกฯยกเลิกสิทธิพิเศษหน่วยงานจัดซื้ออาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง เรือนจำ 92 แห่งส่อฮั้ว รัฐสูญงบฯอื้อ เสนอให้ใช้ระบบ E-Bidding แทน ผูกขาด 4 หน่วยงานเลือกจิ้มโดย‘วิธีกรณีพิเศษ’
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อ 11 ส.ค.58 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยได้แก่ นายรุจน์ ทรงแสงธรรม นายปราโมทย์ เจริญลาภนพรัตน์ นายสายัณ อบเชย นายกิตติศักดิ์ อนันต์พิพัฒน์กิจ และนายคฑายุทธ แซ่เตีย ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสั่งยกเลิกสิทธิพิเศษขององค์การตลาด กระทรวง มหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การคลังสินค้า และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ในการเสนอราคาการจัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง พร้อมทั้งมีบัญชาสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ยกเลิกการจัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง โดยวิธีกรณีพิเศษ กรณีที่ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นเท่าที่ควร
เนื้อหาการร้องเรียนสรุปว่า
1.ในการจัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น ได้มีหนังสือสั่งการให้เรือนจำและทัณฑสถาน ทำการจัดซื้อด้วยวิธีการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (E-Auction)
2.ต่อมาปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และพ.ศ. 2557 พันตำรวจเอกสุชาติ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจากวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (E-Auction) เป็นวิธีการจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำ
3.และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน ได้นำวิธีการจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษ มาใช้ทำการจัดซื้อโดยใช้เหตุผลเช่นเดียวกันกับของพันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย
ข้อเท็จจริงกลับพบว่า
1.ในการจัดซื้ออาหารดิบ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (E-Auction) ประจำปีงบประมาณ 2555 นอกจากจะเป็นวิธีการจัดซื้อที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอาชีพในการขายเครื่องอุปโภคและบริโภคโดยทั่วไป ได้เข้าร่วมแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม ยังเป็นวิธีการจัดซื้อที่ทำให้ราชการสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก และไม่เคยปรากฏว่ามีผู้รับจ้างรายใด ละทิ้งงานหรือถูกจับกุมเพราะการลักลอบนำยาเสพติดหรือสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำพร้อมกับการจัดส่งอาหารดิบเลยแม้แต่รายเดียว
2.กรมราชทัณฑ์ทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้วว่า การป้องกันการลักลอบนำยาเสพติดหรือสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำเป็นหน้าที่โดยตรงของเรือนจำและทัณฑสถาน อีกทั้งถ้าเจ้าหน้าที่ของเรือนจำไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ยาเสพติดหรือสิ่งของต้องห้าม จะเข้าไปในเรือนจำไม่ได้ แต่กรมราชทัณฑ์ก็ยังคงนำปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำพร้อมกับอาหารดิบ มาใช้เป็นข้ออ้างและเหตุผล เพื่อให้เรือนจำและทัณฑสถานทำการจัดซื้ออาหารดิบสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขังมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน จึงไม่ควรที่จะนำปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำพร้อมกับอาหารดิบ มาใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้เรือนจำและทัณฑสถาน ทำการจัดซื้ออาหารดิบโดยวิธีกรณีพิเศษได้อีกต่อไป
3.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 กำหนดให้ส่วนราชการที่จะจัดซื้อเครื่องบริโภคอุปโภค โดยวิธีกรณีพิเศษ ให้หน่วยราชการแจ้งหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ อย่างน้อย 3 ราย จากจำนวนทั้งหมด 5 รายให้มาเสนอราคา และให้ซื้อจากรายที่เสนอราคาต่ำสุด แต่กรมราชทัณฑ์ได้มีการสั่งการให้เรือนจำและทัณฑสถาน เลือกปฏิบัติโดยสั่งการให้เรือนจำและทัณฑสถานใช้ดุลพินิจแจ้งหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ ในเรื่องการลักลอบนำยาเสพติดเข้าภายในเรือนจำ ปัจจุบันยังเป็นปัญหาเกือบทุกเรือนจำ การส่งอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่เป็นช่องทางในการลักลอบนำยาเสพติดเข้าในเรือนจำ เพราะฉะนั้น จะให้เรือนจำและทัณฑสถาน ใช้ดุลพินิจในการเลือกแจ้งหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ของเรือนจำและทัณฑสถาน แบบมีนัยยะมิได้
4.จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่ากรณีการเสนอราคาและการแต่งตั้งตัวแทนในการจำหน่ายอาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) ให้กับเรือนจำและทัณฑสถาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 98 แห่ง หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ มีการเสนอราคากันในลักษณะส่อว่าอาจมีการฮั้วประมูลในเรือนจำ/ทัณฑสถาน จำนวน 92 แห่ง หรือไม่
“ฉะนั้น เพื่อให้มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตามคำสั่งของ คสช.ที่69/2557 และนโยบายของรัฐบาลข้อที่ 10 มีผลในทางปฏิบัติเกิดขึ้นจริง พวกข้าพเจ้าจึงขอให้ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้โปรดมีบัญชาสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ ทำการจัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ในปีงบประมาณต่อไปด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) เช่นเดียวกับการจัดซื้อของสถานพินิจ โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ โรงเรียนทหาร โรงเรียนตำรวจ เป็นต้น”หนังสือร้องเรียนระบุ
อีกทั้งขอให้พิจารณาทบทวนและยกเลิกสิทธิพิเศษขององค์การตลาดระทรวงมหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การคลังสินค้า และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เนื่องจากหน่วยงานทั้ง 4 แห่ง ได้นำสิทธิพิเศษของหน่วยงานไปให้เอกชนใช้เป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจและแสวงหาผลประโยชน์ส่งผลทำให้ราชการได้รับความเสียหายมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการได้แนบข้อมูลการจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 92 แห่ง ตารางการเปรียบเทียบกรณีที่เปิดให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าแข่งขันการจัดซื้ออาหารดิบในบางจังหวัดซึ่งพบว่ามีราคาต่ำกว่าราคากลางรวมนับร้อยล้านบาท (เฉพาะ 6 แห่ง)
ในช่วงที่ผ่านผู้ประกอบรายย่อยได้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐทั้ง สำนักงานตรวจเงินผ่นดิน (สตง. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) ร่วมทั้งกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจสอบการจัดซื้ออาหารดิบของเรือนจำหลายแห่งส่อว่าสมยอมราคา แต่ไม่มีความคืบหน้า
อ่านประกอบ:
สหกรณ์วิเศษฯโต้ยิบผู้ว่าฯสิงห์บุรีปมอุ้ม อ.ต.ก.จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำขัดมติ ครม.
ยื่นค้านปลัด ก.ยุติธรรมให้กรมราชทัณฑ์สอบพวกเดียวกันปมจัดซื้ออาหารดิบ‘อยุธยา’
“พี่เขย-น้องเมีย”ใช้เอกสาร“พิมพ์เดียวกัน” เสนอราคาจัดซื้ออาหารเรือนจำอ่างทอง
ซ้ำรอยเดิม!รองปลัดส่งกรมราชทัณฑ์สอบทุจริตซื้ออาหารทัณฑสถานวัยหนุ่มอยุธยา
ชงยิบ สตง.สอบเรือนจำอ่างทองซื้ออาหารวิธีพิเศษเอื้อเอกชน-เงื่อนงำอื้อ
ร้องผู้ว่าฯสั่งยกเลิกสัญญาซื้ออาหารดิบเรือนจำอ่างทองปี58 ทำผิดเงื่อนไข
ส่งหนังสือผู้ว่าฯ สตง.สอบจัดซื้ออาหารเรือนจำอ่างทองรัฐเสียหาย 4.7 ล้าน