logo isranews

logo small 2

นักวิจัย มจธ. ศึกษายุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำระดับปท. เสนอนายกฯ ธ.ค.56

นักวิชาการ มจธ.วิจัยแนวคิดการพัฒนาโครงสร้างศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เชื่อมโยงโมดูล A6-B4 เล็งจัดสัมมนาระดับชาติส่งมอบผลการศึกษายุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำระดับ ปท.เสนอนายกฯ ประกอบแผนแม่บทหลัก

 00114010m013

 วันที่ 4 ตุลาคม ศูนย์วิจัยวิศวกรรมและการจัดการน้ำ (วารี) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "แนวคิดการพัฒนาโครงสร้างศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ" ณ โรงแรม Pullman Bangkok Power กรุงเทพฯ โดยเป็นผลมาจากงานวิจัย ที่ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อศึกษาโครงสร้างศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ การออกแบบรูปแบบ วิธีบันทึก เทคโนโลยีคลังข้อมูล แผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในการดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย กล่าวถึงงานวิจัยว่า ศึกษาใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ทิศทางที่เหมาะสมของนโยบายการจัดการน้ำและศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ 2.โครงสร้างองค์กรและกลไกที่เหมาะสมของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3.ระบบที่เหมาะสมสำหรับการประกันภัยและการชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 4.แนวทางในการจัดการภัยพิบัติด้านน้ำที่เหมาะสมกับประเทศไทยโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 5.การกำหนดดัชนีภัยแล้งรวมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

โดยมุ่งเน้นศึกษาน้ำทั้งระบบ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก สภาพปัญหาในทุกลุ่มน้ำ ระบบสารสนเทศด้านน้ำ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การจัดทำนโยบายและแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดภัยพิบัติ ใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ 2.การบริหารจัดการองค์กรด้านน้ำ 3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และ4.การประกันภัยพิบัติ

"หลังจากรับฟังข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ เมื่องานวิจัยเสร็จสิ้น จะสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำ "ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ และการวิจับเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ" และจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ ในเดือนธันวาคม 2556 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จะเชิญตัวแทนภาครัฐมาร่วม พร้อมกันนี้จะมีพิธีส่งมอบผลการศึกษาชิ้นนี้ให้แก่นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ประกอบเป็นนโยบาย และแผนแม่บทในการบริหารจัดการและลดผลกระทบจากภัยพิบัติระดับชาติต่อไป"

ทั้งนี้ งานวิจัยเบื้องต้น เสนอให้พัฒนาระบบการให้ข้อมูลด้านน้ำ ที่มีมาตรฐานเดียวกันในแต่ละหน่วยงาน ใช้เทคโนโลยีด้านการเก็บรวบรวม ประมวลผลและนำเผยแพร่ข้อมูลที่ทันสมัย เข้าถึงประชาชนทุกวัย ทุกที่ ทุกเวลาและมีศูนย์บัญชาการที่กำหนดแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การศึกษาวิจัยเรื่องโครงสร้างศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่พูดถึงแนวทางการพัฒนาศูนย์สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการออกแบบระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ มีความเชื่อมโยงกับ โมดูล A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาทที่กลุ่มบริษัทค้าร่วมล็อกซเล่ย์-เอจีทีชนะการประมูล จาก 9 โมดูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาทของรัฐบาล