logo isranews

logo small 2

ผอ.ไทยพีบีเอสยันกองบก.บีบีซีไทยต้องตอบใช้มาตรฐานอะไรนำเสนอข่าว

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 08 ตุลาคม 2558 เวลา 14:23 น.
เขียนโดย
thaireform

ผอ.ไทยพีบีเอสเผยไม่มั่นใจกระบวนการทำงานบีบีซีไทยใช้มาตรฐานเดียวกันกับในอดีตหรือไม่ ระบุถึงไม่เปิดเผยแหล่งข่าวแต่ต้องยืนยันกับสังคมได้ว่านักข่าวอยู่ในเหตุการณ์

somchai2

 จากกรณีบีบีซีไทยนำเสนอข่าวเผยแพร่ข่าว “บีบีซีไทย แฉ ไทยขอจัดฉากจับมือโอบามา” ผ่านสื่อออนไลน์ในเพจเฟชบุ๊กชื่อ บีบีซีไทย จนเกิดการท้วงติงถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวและมาตรฐานการทำงานของบีบีซีไทยในโลกออนไลน์ขึ้น

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) อดีตหัวหน้าแผนกวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย กล่าวกับ สำนักข่าวอิศราว่า กรณีเกิดข้อถกเถียงเรื่องมาตรฐานการทำงานของบีบีซีไทยในขณะนี้ ไม่แน่ใจว่ากระบวนการการคัดเลือกเนื้อหาหรือข้อมูลมาลงนั้นจะคล้ายกับสมัยที่ตัวเองทำวิทยุหรือไม่  เนื่องจากอาจจะมีการคัดเลือกเนื้อหาที่แตกต่างกัน เพราะปัจจุบันเนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆในโซเชียลมีเดียค่อนข้างมากและมีการแข่งขันสูง ซึ่งการเผยแพร่เนื้อหาในเฟชบุ๊กของบีบีซีไทยก็ไม่ได้จำเพาะข้อมูลเพียงซีกใดซีกหนึ่ง  ดังนั้นการตัดสินใจของกองบรรณาธิการอาจจะตัดสินใจบนพื้นฐานของความหลากหลาย  ซึ่งเราไม่สามารถไปเดาใจกองบรรณาธิการได้

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามบีบีซีมีมาตรฐานของสื่ออยู่แล้วว่าเนื้อหาหรือข้อมูลที่ได้มานั้น จะต้องระบุแหล่งที่มาได้  มีความสมดุล ฉะนั้นเนื้อหาที่นำเสนอจนเกิดเป็นประเด็นทางบีบีซีก็ต้องตอบให้ได้ว่าผ่านเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่

“ในระยะหลังไม่ค่อยได้ติดตามกระบวนการทำงานของบีบีซีไทยมากนัก  แต่สำหรับงานเขียนที่มีปัญหาได้อ่านข้อมูลแล้วเห็นว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องแหล่งที่มาและความสมดุลจริง  แต่ก็ไม่แน่ใจว่ากระบวนการทำงานปัจจุบันใช้มาตรฐานเดียวกันกับในอดีตหรือไม่  เรื่องนี้คงต้องกลับไปถามย้ำกับฝ่ายบริหารที่คุมกองบรรณาธิการ”

ผอ.ไทยพีบีเอส ระบุว่า ข้อมูลที่นำเสนอหรือการรายงานข่าวบีบีซีต้องตรวจสอบว่าคนเขียนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงหรือไม่แม้จะไม่เปิดเผยแหล่งข่าวก็ตาม ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นคือกระบวนการเบื้องหลังการถ่ายไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ และความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับใด ถ้าคนเขียนไม่อยู่ในเหตุการณ์แล้วเขาเอามาจากไหน กระบวนการทำงานข่าวเป็นอย่างไร  ทำไมบีบีซีไทยตัดสินใจนำเสนอข้อมูล แล้วตัดสินใจด้วยมาตรฐานหรือมาตรการที่บีบีซีเองเคยประกาศเอาไว้หรือไม่ นี่คือคำถามที่ฝ่ายบริหารกองบรรณาธิการบีบีซีไทยต้องตอบให้ได้