- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ข่าวการเมือง
- เครือข่ายบำนาญประชาชนค้านยุบเลิกพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ
เครือข่ายบำนาญประชาชนค้านยุบเลิกพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ
เอ็นจีโอค้านยุบเลิกพ.ร.บ.กองทุนการออมเเห่งชาติ เตรียมหารือร่วมก.คลัง 22 ส.ค. 56 'สุนี ไชยรส' ชี้รัฐส่อไม่ชอบธรรม หลังมีนัยยะทำกม.ตกจนมูลเหตุฟ้องศาลปค.หาย
จากกรณีน.ส.กรรณิการ์ เอกเผ่าพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีหนังสือด่วนถึงน.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญประชาชน เรื่อง ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ....
พร้อมกับเอกสารที่ส่งมาด้วย 2 ฉบับ ได้แก่ 1.เอกสารรับฟังความคิดเห็น เรื่องการเสนอร่างพ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.... และ 2.แบบสำรวจความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.... นั้น
ล่าสุด น.ส.อรุณี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า รัฐบาลไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะออกกฎหมายยกเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะยังไม่มีการดำเนินงานขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเลย จึงมองเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะกับแรงงานนอกระบบที่หวังจะให้เป็นสวัสดิการของตนเอง ประกอบกับหากมีการเสนอความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะนำไปพิจารณา
“ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังสศค.ว่าหากเครือข่ายแรงงานนอกระบบไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกกฎหมายกอช. รัฐบาลจะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของเราหรือไม่ กลับได้รับคำตอบว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในประเด็นที่จะหารือ” ประธานเครือข่ายบำนาญประชาชน กล่าว และว่าหากมีการนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจริง เชื่อว่ารัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยจะอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในสภาโหวตเพื่อผลักดันผ่านกฎหมายได้ โดยไม่สนใจเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
น.ส.อรุณี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อ 29 ก.ค. 56 เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) และผอ.สศค. ต่อศาลปกครอง ฐานละเลยหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดโดยมิชอบ ภายหลังไม่ดำเนินการเปิดรับสมัครสมาชิกกอช. ตามกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 12 พ.ค. 54 ซึ่งประกาศให้เปิดรับสมาชิกหลังจาก 360 วันที่ได้ประกาศใช้กฎหมายแล้ว นั่นหมายถึงตั้งเเต่วันที่ 8 พ.ค. 55
ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองยังไม่มีการไต่สวนใด ๆ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกำลังเร่งยกเลิก ทำให้ในวันที่ 22 ส.ค. 56 เครือข่ายแรงงานนอกระบบจะเข้าหารือกับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในการขอความเห็นครั้งนี้
“กอช.ออกโดยรัฐบาลชุดก่อน พอรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศเลยไม่อยากได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเป็นเกมการเมืองมากเกินไป ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะประชาชนจะเสียสิทธิประโยชน์ แต่ควรให้เกิดการบังคับใช้ฎหมายก่อน หากไม่ดีจึงค่อยแก้ไขต่อไป” ประธานเครือข่ายบำนาญประชาชน ทิ้งท้าย
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวส่วนตัวมองว่าทุกคนจะยอมรับได้หากมีการบังคับใช้กฎหมายกอช.แล้วและพบว่าไม่ดีจึงยกเลิก แต่หากจะยกเลิกโดยที่ยังไม่มีการบังคับใช้ถือว่าไม่ควรทำ
ทั้งนี้ การส่งหนังสือถึงน.ส.อรุณี ศรีโต เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 เพียงผู้เดียวถือว่าไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับมีการให้ส่งความเห็นกลับภายในวันที่ 21 ส.ค. 56 ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียง 5 วัน ถือว่าเป็นไปไม่ได้กับคนหลายล้านคน
ที่สำคัญกอช.ถูกออกแบบเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ คณะกรรมการมาจากหลายฝ่าย รวมทั้งตัวแทนของผู้ออมอย่างน้อย 6 คนด้วย ขณะที่โครงสร้างแบบนี้กลับนำไปใช้กับการบริหารกองทุนประกันสังคม ซี่งขาดตัวแทนภาคแรงงานนอกระบบ เท่ากับละเมิดหลักการที่ดีอยู่แล้ว
“แม้จะสมมติอ้างว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมในอนาคต แต่คงไม่เหมือนกับการเขียนไว้ในกฎหมายโดยตรง ประกอบกับกอช.มีเงินรองรับอยู่แล้ว 1 พันล้านบาท มีโครงสร้างหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนากองทุนเหล่านี้ให้สามารถรองรับผู้คนให้มีชีวิตที่ดีได้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะปรับโครงสร้างให้ดีขึ้นเลย”
รองประธานคปก. ยังกล่าวว่าได้มีการฟ้องร้องศาลปกครองแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งรัดให้มีการดำเนินงานกอช.ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มิใช่เร่งรัดให้ยกเลิกถือว่ามีนัยยะต้องการให้กฎหมายตกไป คล้าย ๆ กับมูลเหตุของการฟ้องร้องหายไป ดังนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายจึงเป็นคำถามว่าจะฟ้องไปทำไม นั่นแสดงถึงความไม่ชอบธรรม .
แบบสำรวจความคิดเห็น
การเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ. ....(ส่งกลับภายใน ๒๑ สค.ที่ก.คลัง)
วัน............ เดือน............. พ.ศ..........
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ - นามสกุล ผู้ตอบ ..........................................
ตำแหน่ง (ถ้ามี)................. ชื่อหน่วยงาน (ถ้ามี) ........................
สถานที่ติดต่อ ....................................................................
....................................................................................
หมายเลขโทรศัพท์.......................... หมายเลขโทรสาร....................
E-mail address ..................................................
อาชีพ/ประเภทธุรกิจ ............................................
สถานะของผู้ตอบ/หน่วยงาน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
oหน่วยงานราชการ oหน่วยงานเอกชน
oหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ oองค์กรอิสระ
oแรงงานนอกระบบ oประชาชนทั่วไป
oอื่นๆ (โปรดระบุ............................................ )
ความเห็นและข้อเสนอแนะ
1. ความคิดเห็นต่อ“การเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ....”
o เห็นด้วย
o ไม่เห็นด้วย (โปรดระบุเหตุผล)...................................................................
2. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
...........................................................................................................................................................
สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ. ....
- มาตรา3 ให้ยุบเลิก กอช.
- มาตรา4 กอช. จะยังคงอยู่เท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
- มาตรา5 รมว.กค. แต่งตั้งคณะกรรมการชำระบัญชีไม่เกิน 7 คนอย่างน้อยประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
- มาตรา6 คณะกรรมการชำระบัญชีได้รับเงินตอบแทนตามที่ รมว.กค. กำหนดและจ่ายจากทรัพย์สินของ กอช.
- มาตรา7 ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องการชำระบัญชีกับอำนาจหน้าที่ผู้ชำระบัญชีกอช.
- มาตรา8 ให้คณะกรรมการชำระบัญชีมีอำนาจดำเนินคดีทั้งที่ค้างอยู่ก่อนและเกิดขึ้นจากการยุบเลิกแทนกอช.
- มาตรา9 เมื่อชำระบัญชีเสร็จแล้วให้
- เสนอรายงานการชำระบัญชีต่อรมว.กค. เพื่อพิจารณาอนุมัติ และเสนอ ครม. เพื่อทราบ และประกาศราชกิจจานุเบกษา
- โอนทรัพย์สินคงเหลือให้กระทรวงการคลังเงินที่เหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
- มอบสมุดบัญชี เอกสารทั้งหมดให้กระทรวงการคลังรักษาไว้ 10 ปี
- มาตรา10 พนักงานลูกจ้างของ กอช. จะโอนไปปฏิบัติงานที่สำนักงานประกันสังคมก็ได้ โดยแจ้ง ความจำนงภายใน 15 วันนับจาก พรบ.ยุบเลิกฯมีผลใช้บังคับ โดยการโอนถือว่าให้ออกจากงานมีสิทธิได้รับชดเชยตามข้อบังคับที่ กอช.กำหนด