- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ข่าวการเมือง
- ภาคปชช.ชี้ 15 ปี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร “ยังเข้าถึงยาก"
ภาคปชช.ชี้ 15 ปี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร “ยังเข้าถึงยาก"
15 ปี กม.ข้อมูลข่าวสาร-20ปี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ภาค ปชช.ชี้ชาวบ้านยังเข้าไม่ถึง ภาครัฐแจง จนท.ยังบอด กม. แค่ป้ายเตือนสารพิษยังรอคลอด
วันที่ 6 พ.ย. 55 ที่โรงแรมดิเอมเมอรัล สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดเสวนา ‘การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเชิงรุก : สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของไทยในปัจจุบันยังกีดกันแนวคิด ‘เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น’ ซี่งไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย เพราะการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ-อีเอชไอเอ) ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากภาคประชาชนต่อวิธีการได้มาของเนื้อหา และตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจในการปกปิดข้อมูลของภาครัฐด้วย อีกทั้งควรเปิดเผยผลกระทบรอบด้านเป็นลายลักษณ์อักษรในสถานที่สาธารณะ มิใช่ติดในสถานประกอบการที่ประชาชนเข้าไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ภาครัฐและเจ้าของโรงงานต้องคำนึง คือ การเปิดเผยใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการ เพราะในใบอนุญาตจะมีเงื่อนไขบันทึกแนบท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรับรู้ เพื่อนำไปปฏิบัติและตรวจสอบ นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการเสียค่าใช้จ่ายขอเอกสารข้อมูลจากภาครัฐที่สิ้นเปลืองเกินไป โดยคิดเป็นค่าถ่ายเอกสารแผ่นละ 1 บาท ค่าลายเซ็นตรวจสอบความถูกต้องแผ่นละ 3 บาท
“ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมิได้เกิดจากโรงงานอย่างเดียว แต่ปัจจุบันยังเกิดจากการก่อสร้างอาคารคอนโดที่ขาดการป้องกันที่ดี เช่น ไม่มีการติดตั้งนั่งร้านรองรับเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่น ขาดผ้าใบป้องกันฝุ่นละออง ทั้งที่ในคำแนบท้ายรายงานอีไอเอได้ระบุไว้ชัดเจน ทำให้การบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายผิดไป” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว
น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ ผอ.โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามีบทบาทในการบังคับใช้ระเบียบต่าง ๆ เพื่อเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการจริงจัง รวมถึงส่งเสริมกระบวนการภาคประชาชนในการเข้าใจและเข้าถึงการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ แต่ภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลรอบด้าน เพราะเชื่อมั่นว่าประชาชนไม่ปฏิเสธแหล่งอุตสาหกรรม หากมีส่วนร่วมในกระบวนการรับรู้ข้อมูลทั้งหมด
ด้านนายปรีชา รุ่งรัตน์ ผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการเกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะประชาชนไม่รับรู้ถึงผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของรัฐ แม้ปัจจุบันเสียงคัดค้านของชุมชนจะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐก็ตาม แต่ความจริงต้องยอมรับว่ารัฐยังมีอำนาจการตัดสินใจอยู่มาก อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ ได้แก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานให้ผู้ประกอบการติดป้ายเตือนผลกระทบของสารพิษจากการดำเนินงานให้รับทราบในที่สาธารณะแล้ว เพราะต้องการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ เนื่องจากบุคลากรภาครัฐน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนโรงงาน 1.4 แสนแห่งทั่วประเทศ แต่กฎหมายดังกล่าวเพิ่งยกร่างเสร็จ อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาก่อนประกาศใช้ต่อไป
“การขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งด้านดีและเสียให้ทุกภาคส่วนรับทราบ เพราะหากประชาชนไม่ได้รับข้อเท็จจริงจะค้านหัวชนฝาอย่างเดียว ทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินงานได้ เช่น การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะเชื่อมั่นว่าโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนได้” ผอ. สำนักส่งเสริมฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีเสวนาย่อยมีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่น่าสนใจ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการโดยการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลของราชการ พ.ศ.2540 โดยมีปัญหาในการใช้กฎหมาย คือ แม้ประชาชนจะตระหนักถึงสิทธิแต่ไม่ทราบว่าจะสามารถขอข้อมูลได้จากแผนก/หน่วยงานใด โดยเฉพาะกรณีที่ข้อมูลที่ต้องการมีความเกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของหลายหน่วยงาน บางกรณีประชาชนเกิดความเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เช่น ชักสีหน้า ขณะดำเนินการขอข้อมูล และแม้ว่าได้ข้อมูลมาแล้วประชาชนบางส่วนก็ไม่เชื่อถือว่าเป็นความจริง
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐเองที่ส่วนใหญ่ที่ไม่ทราบว่าประชาชนมีสิทธิใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ บางครั้งเกิดการโยนความรับผิดชอบ ขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วนไม่ทราบว่าข้อมูลใดเปิดเผยได้หรือยกเว้นห้ามเปิดเผยตามกฎหมาย และเมื่อประชาชนไปขอข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจนว่าต้องการขอมูลไปเพื่ออะไร(ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ผู้ร้องขอข้อมูลไม่จำเป็นต้องระบุเหตุผล) ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่อาจปฏิเสธการให้ข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ขอ โดยปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน แม้จะมีกฎหมายออกมารองรับกว่า 15 ปีแล้ว
ในเวทีมีการเสนอให้หน่วยงานรัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ข้อมูลแก่ และมีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารท้องถิ่นขึ้นในแต่ละตำบล เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารใกล้ตัวที่ประชาชนในท้องที่นั้นๆต้องการทราบ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐส่วนกลางอย่างเดียว
นายปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เพียงเพราะขาดทัศนคติที่ดีต่อการเปิดเผยข้อมูล แต่ยังติดขัดด้วยเรื่องงบประมาณของหน่วยงาน ภาระงานและกำลังคนโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ส่งผลให้มอบข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้ล่าช้าหรือเกิดการปฏิเสธการให้ข้อมูล
พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9 ระบุไว้ชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐต้องจัดหาข้อมูลไว้ให้ประชาชน ซึ่งประชาชนมีสิทธิขอรับข้อมูลข่าวสารทางราชการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งเรื่องอื่นๆได้ทุกเรื่อง แต่ข้อมูลบางอย่างอาจได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งประชาชนต้องใช้สิทธิร้องเรียนและอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯเพื่อวินิจฉัย หรือส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป
อย่างไรก็ดีมองว่ากฎหมายนี้ออกแบบมาดี แต่ยังมีจุดอ่อนตรงที่ไม่สามารถสั่งการหรือบังคับให้หน่วยงานให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้ เป็นเพียงการให้คำแนะนำปรึกษาแก่หน่วยงานเท่านั้น โดยพบว่าปัจจุบันปัญหาการใช้กฎหมายอยู่ที่การขาดความเข้าใจต่อการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งข้อมูลบางอย่างควรเปิดเผยก็ยังพบว่ามีการปกปิด อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าข้อมูลใดควรเปิดเผยหรือไม่ได้โดยไม่ต้องกลัวความผิด แต่หากประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้องสามารถมาร้องเรียนที่สขร.ซึ่งจะมีการพิจารณาต่อไป โดยจะพยายามผลักดันและส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
“ประชาชนที่มาใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารแสดงว่าเขาเดือดร้อนถึงที่สุดแล้วซึ่งจุดนี้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจ แต่หากเจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อคำขอ ประชาชนยุคนี้ก็สามารถใช้เทคโนโลยีใช้โทรศัพท์บันทึกวิดีโอไว้เป็นหลักฐานได้ หรืออาจยื่นขอใหม่เรื่อยๆ การกระหน่ำใช้สิทธิจะทำให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ในการปฏิบัติงาน” พ.ต.ท.เธียรรัตน์ กล่าว