- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม
- เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ไขปมสงสัย! ตัวเลขขยะติดเชื้อ 2 หน่วยงาน ต่างกัน 40,000 ตัน
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ไขปมสงสัย! ตัวเลขขยะติดเชื้อ 2 หน่วยงาน ต่างกัน 40,000 ตัน
“ตัวเลขบันทึกข้อมูลทั้งของกรมควบคุมมลพิษและกรมอนามัยเป็นเพียงตัวเลขที่ได้จากการประมาณการ ไม่ใช่ตัวเลขปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่แท้จริง ซึ่งการขาดฐานข้อมูลมูลฝอยติดเชื้อที่ชัดเจนแน่นอนเป็นปัญหาหลักในการจัดการขยะของประเทศไทย”
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เสนอข่าวปัญหาขยะมูลฝอยติดเชื้อหายจากระบบบันทึกของทางราชการกว่า 10,000 ตัน ล่าสุดตรวจสอบพบว่า ปริมาณมูลฝอยติดฝอยที่ถูกบันทึกไว้ในระบบของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรมอนามัย (กอ.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่งต่างกันมาก โดยในปี 2559 กรมควบคุมมลพิษเก็บข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อได้ 55,646.2 ตัน ในขณะที่กรมอนามัยกลับเก็บได้เพียง 16,973 ตันในปีเดียวกัน ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยต่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อและความหวาดกลัวว่ามูลฝอยติดเชื้ออาจถูกลักลอบทิ้งไว้ในพื้นที่ชุมชน
‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2561 ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตัวเลขบันทึกข้อมูลทั้งของกรมควบคุมมลพิษและกรมอนามัยเป็นเพียงตัวเลขที่ได้จากการประมาณการ ไม่ใช่ตัวเลขปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่แท้จริง ซึ่งการขาดฐานข้อมูลมูลฝอยติดเชื้อที่ชัดเจนแน่นอนเป็นปัญหาหลักในการจัดการขยะของประเทศไทย
เพ็ญโฉม กล่าวว่า สาเหตุที่ตัวเลขของกรมอนามัยน้อยกว่าของกรมควบคุมมลพิษอย่างมาก อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่กรมอนามัยสำรวจแต่ข้อมูลจากโรงพยาบาลใหญ่ ๆ แต่ไม่ได้ตรวจสอบไปยังสถานพยาบาลเล็ก ๆ เช่น กรมอนามัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดมูลฝอยติดเชื้อได้เช่นกัน
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวอีกว่า ขยะมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลในต่างจังหวัดมักถูกทิ้งปะปนไปกับขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ตัวเลขที่สำรวจได้ออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมูลฝอยติดเชื้อที่ถูกทิ้งปะปนไปโดยไม่มีการแจ้งจะไม่ถูกขึ้นทะเบียนและนำไปชั่งน้ำหนักวัดปริมาณตามกระบวนการ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการลักลอบทิ้งขยะในชุมชนได้อีกด้วย
เพ็ญโฉม หยิบยกปัญหาอีกประการในเรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อการคัดแยกขยะก่อนนำไปเข้าเตาเผา เนื่องจากขยะบางประเภท เช่น หลอดพลาสติกจากเข็มฉีดยาหรือสารปรอทจากปรอทวัดไข้หากนำไปเผาจะก่อให้เกิดมลพิษอย่างมาก รวมถึงอุณหภูมิของเตาเผาจะต้องคงที่ตามมาตรฐานการเผากำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากแนวหน้าและมูลนิธิโลกสีเขียว