- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ชาวนาที่ดินหลุดมือ ผลวิจัยแนะรวมกลุ่มออมทรัพย์ บริหารจัดการเอง แทนกู้นอกระบบ
ชาวนาที่ดินหลุดมือ ผลวิจัยแนะรวมกลุ่มออมทรัพย์ บริหารจัดการเอง แทนกู้นอกระบบ
มูลนิธิชีวิตไท เปิดผลวิจัยปรับตัวชาวนา สุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ บางขุด จ.ชัยนาท พบส่วนใหญ่เป็นหนี้ เสี่ยงสูญเสียที่ดิน เหตุผลผลิตเสียหาย ต้นทุนสูง แนะทำเกษตรอินทรีย์ ลดปุ๋ยเคมี-ยาศัตรูพืช รวมกลุ่มออมทรัพย์ สร้างเครือข่ายส่งเสริมองค์ความรู้
วันที่ 13 ก.พ. 2561 มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยสังคมชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันคลังสมองของชาติ และกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร จ.ชัยนาท จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง การปรับตัวของชาวนาไทย เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายธีระพงษ์ วงษ์นา นักวิจัยมูลนิธิชีวิตไท เปิดเผยผลงานวิจัย เรื่อง “กระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร เพื่อสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและหนี้สิน” โดยระบุถึงความเป็นมาของการศึกษา เกิดจากการค้นพบข้อมูลสถิติในระดับประเทศที่พบปัญหาเรื่องหนี้สินและที่ดินของเกษตรกรไทยมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบกับข้อมูลผลการศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท เช่นในปี พ.ศ.2557 เกษตรกร จ.เพชรบุรี ร้อยละ 82 สูญเสียที่ดินจากปัญหาหนี้สิน
ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยด้านศักยภาพการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร ปี พ.ศ.2560 พบชาวนามีความพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดทางเศรษฐกิจ เช่น การทำการผลิตที่หลากหลาย การลดต้นทุน ใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง แต่กลับมีข้อจำกัดที่ทำให้ชาวนาประสบปัญหาความยากลำบากในการปรับตัว คือ การมีที่ดินทำกินน้อย และมีภาระหนี้สินมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
นักวิจัยมูลนิธิชีวิตไท กล่าวต่อว่า การวิจัยครั้งใหม่จึงมุ่งเน้นในเรื่องปัจจัยเงื่อนไขของชาวนาในการปรับตัวสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินและหนี้สิน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมทางเลือกในการปรับตัว โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายจากสมาชิกกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 1 ปี ตั้งแต่ มี.ค. 2560-ก.พ. 2561
ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า ชาวนา ต.บางขุด มีภาระในครอบครัวสูง ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย มีสมาชิกที่ยังไม่อยู่ในวัยแรงงานมาก ทำให้ต้องมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ นอกจากนี้ยังมีการขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน และการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ
ขณะที่ปัญหาหนี้สินนั้น ทีมวิจัยพบว่า สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ฯ กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มากที่สุด เนื่องจากต้องการนำเงินลงทุนภาคการเกษตร แต่เมื่อกู้เงินมาแล้วไม่สามารถใช้หนี้ได้ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากปัญหาโรคและแมลง รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ ไม่เฉพาะการเป็นหนี้ ธ.ก.ส.เท่านั้น แต่จากกรณีศึกษายังพบชาวนากู้เงินจากหลายแหล่ง ทั้งในและนอกระบบ ดังนั้นเมื่อขาดทุนจากการทำเกษตร จึงมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน
นายธีระพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีความไม่มั่นคงในที่ดิน พบหนี้สินเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียที่ดินภาคเกษตร เช่น กรณีของแสงเดือน วัย 72 ปี มีหนี้นอกระบบราว 2 แสนบาท ปัจจุบันยังไม่สามาระใช้หนี้ได้ ทำให้ต้องเลือกวิธีโดยให้เจ้าหนี้ทำนาในที่ดินของเธอเองเพื่อส่งดอกเบี้ย วิธีการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ชาวนาไม่มีความมั่นคงในที่ดินของตนเอง นอกจากนี้ยังพบปัญหาชาวนามีต้นทุนในการผลิตสูงค่าปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช
ท้ายที่สุด ชาวนาจะปรับตัวบนเส้นทางแห่งความยั่งยืนได้นั้น นักวิจัยมูลนิธิชีวิตไท ระบุว่า ต้องสร้างประสบการณ์ โดยให้ชาวนารู้จักการวิเคราะห์สถานการณ์ จากความล้มเหลวในอดีตมาปรับใช้ และเลือกใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เข้ามาตอบโจทย์ โดยเฉพาะกรณีมีที่ดินน้อย แต่ได้ผลผลิตสูง พร้อมกับลดข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เพิ่มต้นทุน เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืช เพื่อจะไม่เกิดหนี้สินเพิ่ม ตลอดจนการเลิกกู้เงินจากแหล่งเงินทั้งในและนอกระบบ แต่ควรกู้เงินจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชาวนา เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการทุนของตนเองภายในเครือข่าย และสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายชาวนาด้วยกัน .