ไขคำตอบ "สถาบันอิศรา" กับ "สสส."
โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา
หมายเหตุ: เป็นการปรับปรุงเนื้อหา จากบทสัมภาษณ์ ” ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กับ "มติชนทีวี" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 ถึงประเด็น "มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ" ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มียอดรวมเกือบร้อยล้านใน 8 ปีซึ่งแม้ว่า เวลาจะผ่านไปกว่าหนึ่งปี สื่อมวลชนบางส่วนและกลุ่มคนบางกลุ่มยังนำประเด็นและข้อมูลเดิมมานำเสนอซ้ำอีกหลายรอบ
@ความสัมพันธ์ ระหว่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอย่างไร
มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนนั้น ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยสมาคมนักข่าวและ สภาการหนังสือพิมพ์ เพราะเห็นว่า คนในวงการวิชาชีพข่าวทั้งระบบ หมายถึงองค์กรสื่อมวลชนเจ้าของหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน ขณะที่ระบบราชการและเอกชนอื่น ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน ให้ความรู้สม่ำเสมอ แต่ในวงการสื่อให้ความสำคัญน้อย
สมาคมนักข่าวก็เห็นว่า เรื่องนี้ควรมีการฝึกอบรม ก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็ยังไม่เป็นระบบ ทำระยะสั้น ไม่เป็นระบบ ทางสภาการหนังสือพิมพ์และสมาคมนักข่าวช่วงนั้น ก็เห็นว่า ควรจะมีการฝึกอบรมระยะยาว ให้กับสมาชิก หรือ คนในวงการเพื่อจะได้พัฒนาวงการ ไม่ใช่ทำงานอยู่หน้าจอ อยู่หน้าโต๊ะอยู่แต่เฉพาะในกองบรรรณาธิการ ไม่ได้ไปไหน เพื่อให้มีความรู้กว้างขวางทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความซับซ้อน จึงทำหลักสูตรขึ้นมา
ต่อมาในราวปี 2547 จึงจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา โดยสภาการหนังสือพิมพ์ กับ สมาคมนักข่าวฯ ให้ทุนประเดิมในการตั้งมูลนิธิ ที่ละแสนบาท เพราะ การตั้งมูลนิธิต้องมีทุนประเดิม 2 แสน ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิจะประชุมปีละ 1-2 ครั้ง ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่อง จึงจัดตั้ง สถาบันอิศราขึ้นมาเพื่อจะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
สำหรับโครงสร้างสถาบันอิศรา ก็มีกรรมการบริหาร คอยกำกับดูแลผู้อำนวยการบริหารว่า ทำตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีประชุมทุกเดือน ผู้อำนวยการฯ ก็ต้องรายงานว่าทำอะไรไปบ้าง ใช้เงินเท่าไหร่ การเงินเป็นอย่างไร กิจกรรมก้าวหน้าถึงไหน เพื่อให้ระบบการเงิน โปร่งใส มีความชัดเจนแน่นอน ได้จ้างนักบัญชี ให้เจ้าหน้าที่แต่ละโครงการ ส่งการใช้จ่ายเงินให้นักบัญชีเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ต้องทำสรุป จ่ายอะไรไปบ้าง เหลือเงินเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ รายรับเท่าไหร่ รวบรวมไว้เป็นเดือนๆ พอครบปี ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต จาก สสส. ก็จะมาตรวจการใช้จ่ายอีกครั้งหนึ่งในส่วนเฉพาะที่ได้รับทุนจาก สสส.ซึ่งตรวจสอบละเอียดมากตามหลักเกณฑ์ที่ สสส.กำหนด เอกสารผิดเพียงเล็กน้อยก็ต้องทำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง
@ชื่อคุณประสงค์ รับผิดชอบโครงการที่รับเงินจาก สสส. เป็นการลงนามในนามมูลนิธิฯ ใช่หรือไม่
ใช่ เพราะมูลนิธิเป็นนิติบุคคล แต่สถาบันอิศราไม่ใช่นิติบุคคล ฉะนั้น ประธานมูลนิธิ(นายมานิจ สุขสิมจิตร) ก็มอบอำนาจมาให้ผู้อำนวยการบริหารเซ็น เป็นขั้นตอนตามกฎหมายปกติ
@ตัวเลขที่มูลนิธิฯ รับผิดชอบโครงการ เกือบร้อยล้าน ใน 8 ปี
โครงการทั้งหมดเป็นโครงการต่อมาเนื่อง 8 ปี ตัวเลขประมาณ 96 ล้าน เฉลี่ยแล้วปีละ 12 ล้านเศษ ซึ่งสถาบันอิศราเป็นเพียงตัวกลาง โดยงบประมาณไม่ได้อยู่ที่สถาบันทั้งหมด เพราะตอนเริ่มต้นเสนอโครงการ สมัยคุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี รักษาการ ผู้อำนวยการ ถ้าให้องค์กรสื่อแต่ละองค์กรไปเสนอของบประมาณจาก สสส.โดยตรง เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชมรมนักข่าวไอที สสส. มองว่าเป็นภาระกับเขาในการมานั่งตรวจโครงการแต่ละโครงการ จากองค์กรที่เขาให้ทุนโดยตรง จะเป็นภาระและทำให้การกำกับดูแลยาก ฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะให้มีองค์กรกลางในการเป็นตัวเชื่อมโยงกับ สสส. ซึ่งก็คือ สถาบันอิศรา นั่นคือเหตุผลที่ 1) ทำให้งบประมาณผ่านสถาบันอิศรา ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร หลักฐานการตรวจสอบ การกำกับดูแล มาทำทีเดียวเลย เป็นการลดภาระและการตรวจสอบง่ายขึ้น
เหตุผลที่ 2) ทิศทางการบริหาร เช่น การพัฒนาระบบสื่อ หรือ พัฒนาศักยภาพสื่อ ต้องเป็นทิศทางเดียวกัน ฉะนั้น ให้สถาบันอิศรามาดู โครงการที่เขาเสนอมาจากแต่ละองค์กรทั้ง 5 องค์กร เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบหรือไม่ จะได้ปรับ ให้เป็นระบบเดียวกัน ฉะนั้น ปีละ 11-12 ล้านบาท โดยเฉลี่ย ก็ถูกกระจายไปยังองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักข่าว ก็มีโครงการอบรมนักข่าวใหม่ ซึ่งเชิญนักข่าวทุกฉบับ ทุกสิ่งพิมพ์ มติชน ข่าวสด ก็ไปหมด ทีวีก็ไป หรือ สภาการหนังสือพิมพ์ ก็มีโครงการทำตำรา ให้ทุนวิจัย ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์
ที่สำคัญคือเรื่องจริยธรรมที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนเป็นอย่างมาก นายกรัฐมนตรีเองก็วิพากษ์วิจารณ์และให้ความสำคัญเรื่องนี้ ก็มีการให้ทุนไปฝึกอบรมอาจารย์ด้านนิเทศศาตร์และผู้ประกอบวิชาชีพและจัดทำตำราด้านจริยธรรมขึ้น หรือสมาคมนักข่าวนัดหนังสือพิมพ์ฯจะมีโครงการวิชาการ วิชาชีพ ก็คือ เอานักวิชาการ ที่ต้องการมาในภาคปฏิบัติ มาดูงานที่มติชนบ้าง ดูงานที่บางกอกโพสต์บ้าง ที่เนชั่นบ้าง เป็นเวลาแล้วแต่กำหนด อาจจะ 2 สัปดาห์ หรือ 4 สัปดาห์
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯก็ทำแบบเดียวกัน คือ เอาอาจารย์ที่สอนด้านวิทยุโทรทัศน์ ไปดูงาน อสมท. ไปดูงาน เนชั่นทีวี ซึ่งสถาบันอิศราไม่ได้ดำเนินการ เพราะเป็นเพียงผู้กำกับขั้นตอนส่งเอกสารให้ถูกต้อง
หรือ ชมรมนักข่าวไอที ก็มีประกวดข่าว มีอบรมนิสิตนักศึกษา ฉะนั้น ปีละ 10 กว่าล้าน คือ ทุกองค์กรที่เป็นภาคีได้รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระบบสื่อมวลชนให้ดีขึ้นซึ่งต้องใช้เวลา เพราะที่ผ่านมาพวกเราไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้
ส่วนโครงการที่สถาบันอิศราทำโดยตรง คือ "โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสารสุขภาวะ" เป็นการอบรมระยะยาว 3 ระดับ คือ ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง(บสส.) ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง(บสก.) และการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นละ 50 คน งบประมาณรวม 5-6 ล้านบาท ขณะที่การอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่มักมีการพูดถึงใช้หลักสูตรละหลายสิบล้านบาท
หลักสูตร บสส. คือระดับบรรณาธิการ ผู้ช่วยบรรณาธิการเรียน 6 เดือนทุกวันเสาร์ ส่วน บสก. เรียน 5 เดือน ก็เป็นหัวหน้าข่าว และ กสต.เป็นนักข่าวอายุงาน 3 ปีขึ้นไป เรียน 3 เดือน โดยเชิญทุกสื่อทุกแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี เว็บไซต์ ซึ่งมีถึง 30 คน ใน 50 คน ที่เหลือกระจายเป็นอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ องค์กรอิสระ ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ตอนนี้อบรมถึงรุ่นที่ 6 แล้ว มีผู้ผ่านการอบรมไม่ต่ำกว่า 800 คน
เรายังมีกรรมการหลักสูตร มีการปรับหลักสูตรทุกปี ประธานหลักสูตร คือ คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธาน บมจ.มติชน เป็นประธานหลักสูตร กรรมการ มี อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานทีดีอาร์ไอ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย จากนิด้า และอีกหลายคน กรรมการหลักสูตร มาเถียงทุกปีว่าหลักสูตรนี้ควรจะเปลี่ยนยังไง ให้เข้ากับภาวการณ์ของสังคม
นอกจากนั้น มีการห้ามผู้เข้าอบรมจัดกิจกรรมหาทุน ไม่เช่นนั้น จะมีข้อครหาเหมือนหลักสูตรอื่น ๆ มีการประเมินหลักสูตร การเรียนการสอนในทุกด้านซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
@ในแง่หลักการได้รับเงินจาก สสส. แต่โครงการเกี่ยวข้องกับสุขภาวะ อย่างไร
คำอธิบาย สุขภาวะ อาจจะต้องให้ สสส. อธิบายเอง แต่ผมจะพยายามอธิบายตามแนวคิด สสส. สุขภาวะ คือ ร่างกาย สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพจิต เกิดจากอะไรบ้าง เช่น ภาวะแวดล้อม ถ้าคุณไปดู สื่อ เนื้อหา ไม่ดี สุขภาพจิตเสียไหม ก็เสียถูกไหม ฉะนั้น เราก็ต้องคิดว่า เนื้อหาของสื่อ ต้องมีคุณภาพ การมีคุณภาพคือ คนต้องมีคุณภาพ ซึ่งก็ต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ นอกจากนั้นสื่อมวลชนต้องเปิดเพื้นที่ให้กับประชาชนในการนำเสนอนโยบายสาธารณที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ฉะนั้น เนื้อหาหลักสูตรจะครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อะไรต่างๆ ครบหมด สิ่งแวดล้อม การศึกษา เพื่อให้ผู้เข้าอบอรมมีความรู้ เพราะระดับที่มาเรียนคือ บรรณาธิการ ถ้าคุณมาเรียนแล้วคุณเอาความรู้พวกนี้ไปพัฒนาบุคคลากรของคุณเอง สื่อที่คุณผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่สายลมแสงแดด เนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ก็ทำให้คนดู คนอ่าน คนฟังได้ประโยชน์ ต่อสุขภาพจิต ถ้าเจอแต่สิ่งที่ไม่ดี ก็จิตตก นี่คือสุขภาวะ ไม่ใช่สุขภาพในความหมายแบบแคบ ๆ
ถ้าเกิดเราเขียนโครงการไปขอทุน ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สสส. ซึ่งเขามีกรรมการตั้งแต่ชุดย่อยชุดใหญ่ ชุดระดับบริหารไปดูเป็นชั้นๆ มีการแก้ไข มีการซักถาม ถ้าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์คงไม่ผ่านการอนุมัติ
@ผลงานที่เป็นที่รู้จักมาก คือ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ด้วยหรือไม่
สมาคมนักข่าวฯ ได้จัดตั้งศูนย์ข่าวภาคใต้ขึ้นมาใน ปี 2547 จากนั้นก็พัฒนาเรื่อยมาจนจัดตั้งเป็นสำนักข่าวอิศราในปี 2554 โดยก่อนหน้าที่จะจัดตั้งสำนักข่าวอิศรา เป็นทางการ มีช่วงหนึ่งมีการปฏิรูปยุคคุณหมอประเวศ วะสี ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณหมอประเวศ มีโครงการพัฒนาฐานข้อมูล เอาฐานข้อมูลมาเผยแพร่ เป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศในขณะนั้น ต่อมาก็พัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ได้เกี่ยวกับข่าวสืบสวน เป็นเฉพาะเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องน้ำ
@จากเดิมทำเรื่องภาคใต้ เหตุใดระยะหลังเน้นตรวจสอบนักการเมือง
ต่อมาในปี 2554 ผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการบริหาร เพื่อให้สะดวกในการบริหารเลยรวบเว็บไซต์ศูนย์ข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะ และศูนย์ข่าวชุมชน มารวมกันจัดตั้งเป็นสำนักข่าวอิศราในปี 2554 ซึ่งในการจัดตั้งสำนักข่าวอิศราก็เพื่อเนื้อหาด้านข่าวสืบสวนเข้ามา ซึ่งส่วนนี้ได้รับทุนที่สถาบันอิศราหามาจากองค์กรเอกชนต่าง ๆ ที่เห็นว่าการทำข่าวที่มีคุณภาพต้องอาศัยกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่า ข่าวเชิงสืบสวนขึ้นมา โดยองค์กรที่ให้ทุนมีทั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) open society foundation มูลนิธิเอสซีจี ธนาคารไทยพาณิชย์
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข่าวภาคใต้ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2547 เคยหาทุนเองแต่ละปี ทำหนังสือขายได้ตั้งหลายล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนศูนย์ข่าวภาคใต้ เพิ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ สสส.ให้ทุนศูนย์ข่าวภาคใต้เพื่อให้นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพมากกว่าการวางระเบิดที่นั่นที่นี่ ซึ่งศูนย์ข่าวภาคใต้เป็นเว็บข่าวด้านนี้ที่มีผู้ชมมากที่สุด
|
หมายเหตุ - เทปบันทึกภาพและเสียง นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 กรณี สถาบันอิศราฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.