- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ‘ประมงเรือเล็กระยอง' ยันไม่รับเงินชดเชยน้ำมันรั่ว จี้'พีทีทีซีจี' ทำเเผนฟื้นฟูทะเล
‘ประมงเรือเล็กระยอง' ยันไม่รับเงินชดเชยน้ำมันรั่ว จี้'พีทีทีซีจี' ทำเเผนฟื้นฟูทะเล
ศาลระยองไกล่เกลี่ยคดีน้ำมันรั่วไม่เป็นผล ชาวบ้านยันไม่คุยเรื่องเงินชดเชย หากบริษัทฯ ไม่จริงใจทำแผนฟื้นฟูทะเล ชี้แผนฯ เดิมทำร่วมหน่วยงานรัฐเน้นแก้ท่องเที่ยว ไม่สนใจขจัดมลพิษ ศาลนัดหน้า 13 มี.ค. 58
วันที่ 16 มกราคม 2557ที่ศาลจังหวัดระยอง นายสรพงค์ ไกรสุวรรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยองออกนั่งไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก ระหว่างโจทก์ สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง พร้อมชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลพื้นที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 รวม 429 ราย ซึ่งยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายและขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู กับ จำเลย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (พีทีทีจีซี) ในฐานะผู้ก่อมลพิษ
นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความโจทก์ เปิดเผยว่า การไกล่เกลี่ยในวันนี้มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและชาวบ้านแต่ละชุมชนเข้าเจรจากับฝ่ายจำเลย โดยชาวบ้านต้องการให้มีการพูดคุยเรื่องแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลก่อนการเจรจาเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัว
ขณะที่ฝ่ายจำเลย บริษัท พีทีทีจีซี ระบุว่า การฟื้นฟูทะเลนั้น บริษัทฯ มีแผนการและได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยราชการอยู่แล้ว และเห็นควรให้เจรจาเรื่องค่าเสียหายก่อน อย่างไรก็ดีชาวบ้านยังยืนยันตามเจตนารมณ์เดิม คือ หากจะมีการพูดคุยเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะ จะต้องมีการพูดคุยเรื่องแผนการฟื้นฟูทะเลที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรอย่างแท้จริงก่อน
ศาลจึงนัดให้มีการไกล่เกลี่ยครั้งที่สอง ในวันที่ 13 มี.ค. 58 เวลา 9.00 น. โดยให้จำเลยนำแผนการฟื้นฟูทะเลที่ทำร่วมกับหน่วยงานราชการมาร่วมเจรจาในครั้งหน้าด้วย
ด้านนายไพบูลย์ เล็กรัตน์ แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน โจทก์ในคดี กล่าวว่า เห็นแผนฟื้นฟูทะเลระยอง ซึ่งบริษัทฯ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยราชการนั้น มุ่งเน้นฟื้นฟูแต่การท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดเป็นหลัก โดยไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหาทรัพยากรทะเล โดยเฉพาะตะกอนน้ำมันที่ยังตกค้างเป็นสารพิษในธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม จึงเสนอให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนหลักคิดการฟื้นฟูมามุ่งเน้นที่การฟื้นฟูทะเลก่อน หากทรัพยากรทะเลกลับมาสมบูรณ์ การท่องเที่ยวก็จะดีตามมา
"เรื่องค่าเสียหายซึ่งทางบริษัทฯ พยายามให้เจรจาก่อนนั้น เราเห็นเป็นเรื่องรอง เพราะชาวบ้านและชาวระยองจะเดือดร้อนยิ่งกว่าถ้าไม่สามารถฟื้นฟูทรัพยากรทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ได้" เเกนนำชาวประมงพื้นบ้าน กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ชาวบ้านจึงได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย โดยมีแนวทางคร่าว ๆ ในการฟื้นฟู คือ
1.ต้องมีการสำรวจและจัดเก็บตะกอนน้ำมันที่ยังตกค้างตามร่องน้ำและแนวปะการังให้หมดก่อน
2. ควรมีกระบวนการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบให้การฟื้นฟูทะเล เช่น การปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมทางมลพิษ
3.เสนอให้มีการปิดอ่าวโดยห้ามเครื่องมือประมงอวนลาก และคราดหอยซึ่งจะลากเครื่องมือไปตามผิวหน้าดิน ทำให้ตะกอนน้ำมันกระจาย
4.เสนอให้ประกาศเขตควบคุมพิเศษทางมลพิษซึ่งห่างจากชายฝั่งไป 20 ไมล์ทะเล จากนั้นจึงค่อยดำเนินการฟื้นฟูอย่างจริงจัง เช่น การสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ฯลฯ ต่อไป
“ยืนยันให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำเงินจากผลกำไรโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีของบริษัทฯ มาใช้ดำเนินการแก้ปัญหา โดยไม่ควรนำภาษีของประชาชนมาใช้ เพราะผู้ทำให้เกิดความเสียหายควรเป็นผู้จ่าย” เเกนนำชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ที่มาของคดีดังกล่าว สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลออกทะเล พื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 รวม 429 ราย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท พีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษ (คดีแพ่ง) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง (คดีปกครอง) ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน(กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำบัดแก้ไขปัญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ต่อศาลจังหวัดระยอง ความแพ่ง และศาลปกครองระยอง ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยได้ขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพโดยประมาณกว่า 400 ล้านบาท และขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว โดยให้บริษัทฯ จัดสรรงบประมาณสู่กองทุนฯคิดเป็นร้อยละ 10 ของกำไรเฉลี่ยต่อปี (บริษัท พีทีทีจีซี มีกำไรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 30,000 ล้านบาท)