- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- จิตสำนึกใหม่
- ชูสังคมสันติวัฒนธรรม ทางออกประเทศไทย
ชูสังคมสันติวัฒนธรรม ทางออกประเทศไทย
ดร.วรากรณ์ ชี้ทางออกประเทศ นำมาซึ่งความสงบสุขที่แท้จริง ต้องมุ่งไปสู่สังคมสันติวัฒนธรรม ขณะที่ ดร.เอนก ปรับวิธีคิดคนไทย อย่าสนใจแต่การเลือกตั้ง แต่ควรมุ่งหวังที่จะมี ‘เสรีประชาธิปไตย’ ไปพร้อมกันด้วย
วันที่ 8 ธันวาคม ศูนย์สันติวิธี สำนักกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดโครงการปรองดองเพื่อพ่อ ภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยกับสันติวิธีในวิถีประชาธิปไตย” ณ ห้องประชุมทวี บุณยเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี โดย รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานเปิดโครงการพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างสันติวัฒนธรรมผ่านเยาวชนในสังคมไทย”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงการจะเป็นสังคมสันติวัฒนธรรม (cuture of peace) นั้นต้องประกอบด้วย 6 ปัจจัย ได้แก่ 1.การยอมรับความแตกต่างที่เกิดขึ้น 2.เคารพในความแตกต่าง 3.อดทนอดกลั้นในความแตกต่าง 4.เชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ 5.เคารพสิทธิของผู้อื่น และ 6.ใช้เหตุและผล โดยมีกติกาสังคมเป็นฉันทามติร่วมกัน โดยสังคมสันติวัฒนธรรม จะต้องไม่ต่างกับสังคมประชาธิปไตย หรือพยายามให้เป็นสังคมเดียวกันมากที่สุด
รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวว่าการจะสร้างสังคมสันติวัฒนธรรมจะต้องมาจากการวางแผน กลไกตลาด และกลไกทางการเมือง ที่ต้องผนวกเอา หน่วยครอบครัว หน่วยการศึกษา และหน่วยสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่งหน่วยครอบครัวจะต้องเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดของสังคม เพราะเป็นหน่วยที่มีวัฒนธรรม และศีลธรรมมากที่สุด ส่วนหน่วยสังคม ทุกคนควรจะช่วยกันสร้างสรรค์สังคม แต่ต้องไม่ใช่สร้างให้เป็นสังคมอำนาจนิยม
“การสร้างสังคมสันติวัฒนธรรม เปรียบเหมือนกับการเหยาะเกลือที่ต้องค่อยๆ เหยาะ ไม่ได้เหยาะครั้งเดียวหมดขวด การอธิบายสังคมสันติวัฒนธรรมก็เช่นกันต้องค่อยๆ อธิบายทีละน้อย เพื่อให้แทรกซึม และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขที่แท้จริง การสร้างสังคมสันติวัฒนธรรม คือทางออกของประเทศไทย และอีกหลายประเทศในโลกที่มีประชาธิปไตย”
จากนั้น รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการอิสระ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประเทศไทยกับสันติวิธีในวิถีประชาธิปไตย” ว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ทุกประเทศที่มีประชาธิปไตย รวมทั้งประเทศไทยก็มุ่งหวังที่จะมี ‘เสรีประชาธิปไตย’ แต่คนไทยมักจะสนใจในเชิงปฏิบัติ เช่น การเลือกตั้ง ใครได้ – ใครตก ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะประชาธิปไตยจะต้องมี ‘ปรัชญาเสรีนิยม’ คือมีเสรีในตัวเอง ไม่ใช่แนวคิดที่รัฐจะต้องทำเพื่อประชาชนมากที่สุดเหมือนที่เข้าใจกัน
สำหรับหน้าที่หลักของรัฐบาลที่ดี รศ.ดร.เอนก กล่าวว่า คือ 1.ต้องรักษาสิทธิเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเองของบุคคล 2.มองเห็นว่าความขัดแย้งและความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถก่อให้เกิดพลังที่ดีได้ 3.ต้องไม่ไปจำกัดความขัดแย้ง และความแตกต่างที่เกิดขึ้น 4.ไม่ตัดสินปัญหาด้วยอำนาจ ความรู้ และชาติกำเนิด แต่ต้องผ่านการหารือ ไตร่ตรอง ปรองดองตามวิถีประชาธิปไตย และ 5.ปรัชญาเสรีนิยมเป็นระบบความคิดที่ต้องการคนใจกว้าง ที่พร้อมจะปรองดอง และสมานฉันท์
“แนวคิดปรัชญาเสรีนิยม เป็นอุดมการณ์ที่แปลก มองว่าการตัดสินคุณค่า และความเป็นจริงมีหลายชุดความคิด หลายมุมมอง จะไม่นำเสนอ หรือตัดสินว่าดี-ไม่ดี เพียงด้านเดียว”
รศ.ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า การใช้เสียงข้างมากเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ เพราะไม่ควรนำทุกเรื่องมาตัดสินด้วยการเมือง หรือใช้เสียงข้างมากอย่างที่เป็นอยู่ แนวคิดเสรีนิยมจะรวมกับประชาธิปไตยได้ดีนั้น ต้องไม่ให้อำนาจส่วนใหญ่มาตัดสินพร่ำเพรื่อ และต้องไม่ใช่การออกกฎหมายจากภาครัฐมาบังคับ หรือตัดสินจนมากเกินไป ควรให้เป็นการตัดสินดูแลกันเองของหน่วยสังคม-ชุมชน แต่ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นเสรีประชาธิปไตย-เสรีนิยมอย่างเต็มตัว อีกทั้งวัฒนธรรมสังคมไทยจะไม่นับถือ และมักจะดูถูกคนธรรมดา โดยมองว่ามีความรู้-การศึกษาด้อยกว่า แต่หากประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย จะต้องคิดสวนทางว่าบางเรื่องคนธรรมดาจะตัดสินใจได้ดีกว่า
“การเลือกตั้งไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียง หากแต่เป็นการสะท้อนความคิดของประชาชน คนธรรมดา ว่าต้องการนโยบายปกครองประเทศแบบไหนด้วย ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตยรัฐจะต้องลดอำนาจลง และเพิ่มอำนาจในการตัดสินให้เป็นของประชาชนมากขึ้น”