- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- การสร้างสำนึกร่วมของชุมชน
- MAHAKAN VERNADOC จากเส้นสายสู่เป้าหมาย อนุรักษ์บ้านเก่า ‘ป้อมมหากาฬ’
MAHAKAN VERNADOC จากเส้นสายสู่เป้าหมาย อนุรักษ์บ้านเก่า ‘ป้อมมหากาฬ’
ถอดบทเรียน MAHAKAN VERNADOC สำรวจรังวัด ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธีดั้งเดิม อนุรักษ์บ้านเก่า 24 หลัง สร้างสรรค์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
...กระดาษ...ตลับเมตร...ดินสอ เป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่กลุ่มเยาวชนอาสากว่า 30 ชีวิต ใช้บันทึกสภาพบ้านเรือนใน ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับ ‘กรอบแนวคิด’ ในเรื่องการอนุรักษ์มากที่สุดของกรุงเทพฯ ระหว่างภาครัฐและชาวชุมชน
วิธีการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยการสำรวจรังวัด ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นพื้นฐานนี้ คือ การศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เรียกว่า VERNADOC (Vernacular Architecture Documentation) โดยเป็นที่รู้จักในไทยครั้งแรกในปี 2550 ถือเป็นหลักการเขียนแบบสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกใช้กันมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา
มีสถาปนิก สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว เป็นผู้ทดลองจัดค่าย ASA VERNADOC คนแรกในไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Association of Siamese Architects:ASA) จวบจนถึงปัจจุบันกับการจัดค่าย MAHAKAN VERNADOC
“เราทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ” สถาปนิก สุดจิต หรืออาสาสมัครในค่ายเรียกกันว่า อาจารย์ตุ๊ก [ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว] พูดในเวทีถอดบทเรียนจากค่าย MAHAKAN VERNADOC จากเส้นสายสู่เป้าหมายในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าอย่างมีส่วนร่วม
พร้อมกับบอกเล่าถึงลำดับขั้นตอนการทำงาน อาสาสมัคร ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะต้องฝังตัวอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬสองอาทิตย์ เรียกได้ว่า เข้าไปศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง และไม่เฉพาะพูดคุยกับอาคารเท่านั้น แต่จะต้องพูดคุยกับชาวบ้านด้วย รู้แม้กระทั่งร้านขายเครปเปิดกี่โมง และเครปรสไหนอร่อยมากที่สุด
กลุ่มอาสาสมัคร MAHAKAN VERNADOC
ทัศนียภาพสวนสาธารณะตามเเนวคิด พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
อาจารย์ตุ๊ก บอกว่า ที่ผ่านมาได้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เห็นถึงคุณค่าของการเก็บอนุรักษ์บ้านไม้โบราณในชุมชนป้อมมหากาฬไว้ ซึ่งร่วมมือกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ จนเกิดผลสำเร็จ ทำให้มีการพูดถึงการอนุรักษ์บ้านพื้นถิ่น ด้วยมองว่า สิ่งเหล่านี้คือชีวิต วิถีชีวิต และชุมชน ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับบ้าน
นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสซักถามถึงกรณีป้อมมหากาฬ เมื่อทอดพระเนตรภาพต้นฉบับของ MAHAKAN VERNADOC ณ งานสถาปนิก’60 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค อารีนา เมืองทองธานี
พระองค์เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการที่จัดแสดงในบูทอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม และภาคีเครือข่าย ได้ตรัสถามถึงชุมชนป้อมมหากาฬว่า “ตอนนี้ชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง”
อาจารย์ตุ๊ก กล่าวว่า คนที่อยู่ในงานวันนั้นคงจะได้ยินกับหูว่า พระองค์ทรงห่วงใยชาวบ้านอย่างไร
จึงได้ทูลพระองค์ว่า ขณะนี้ข้อเสนอสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ถูกนำไปพิจารณาในเรื่องการเก็บรักษาบ้านแล้ว แต่อาจมีปัญหาเรื่องการยังไม่เก็บชุมชน
สมเด็จพระเทพฯ จึงมีรับสั่งว่า มีแต่บ้าน ไม่มีคนได้อย่างไร มันก็จะไม่เป็นชุมชน
เเบบสำรวจสภาพปัจจุบัน บ้านเลขที่ 123 ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธี VERNADOC
เเบบสำรวจสภาพปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธี VERNADOC
สำหรับความคืบหน้านั้น เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2560 สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดประชุมเพื่อประเมินและระบุคุณค่าของพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ โดยได้กำหนดวางหลักเกณฑ์และกรอบประเมินคุณค่า 5 ด้าน คือ คุณค่าด้านประวัติศาสตรื ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และผังเมือง ด้านสังคม วิถีชีวิต ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ
เบื้องต้น สมาคมสถาปนิกสยามฯ มีข้อเสนอทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้กับทุกฝ่าย กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ โดยเห็นด้วยให้มีการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน บนฐานของ ‘อัตลักษณ์และศักยภาพของพื้นที่’
ล่าสุด MAHAKAN VERNADOC เห็นควรให้คงไว้ซึ่งบ้านไม้ดั้งเดิมในชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งมีทั้งหมด 24 หลังคาเรือน ประกอบด้วย
-บ้านไม้โบราณเรือนไทยเดิมใต้ถุนสูง (สมัยก่อนรัชกาลที่ 5) จำนวน 2 หลังคาเรือน ได้แก่ บ้านเลขที่ 99 และ 97
-บ้านไม้โบราณเรือไทยอิทธิพลตะวันตก (สมัยรัชกาลที่ 5-7) จำนวน 14 หลังคาเรือน ได้แก่ บ้านเลขที่ 75, 89, 91, 93, 95, 109, 111, 123, 125, 127, 127/1, 121, 119 และ 129
-บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ร่วมสมัย (สมัยรัชกาลที่ 9) จำนวน 8 หลังคาเรือน ได้แก่ บ้านเลขที่ 63, 107,107/4, 107/3, 113, 179, 155 และ 157
ในขณะที่สภาพแวดล้อมอื่น ๆ ในชุมชนป้อมมหากาฬ ยังสามารถพัฒนาเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต’ ได้ตามที่ กทม.ต้องการ แต่ต้องเป็นไปอย่างบูรณาการ ภายใต้การร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน (ประชารัฐ) และควรกำหนดบทบาทสวนสาธารณะใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับบริบทโดยรอบเพื่อเพิ่มทางเลือกให้การเข้าถึงทางน้ำและบก
ยกตัวอย่าง การรื้อฟื้นท่าเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว การสร้างสะพานคนเดินข้ามคลองโอ่งอ่างจากถนนมหาไชยผ่านตรอกพระยาเพชร สู่ภูเขาทอง หรือกทม.ปิดถนนมหาไชยหนึ่งวันต่อสัปดาห์เพื่อทำเป็นถนนคนเดิน MAHAKAN VERNADOC เชื่อว่าจะดึงดูดให้มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยือน และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและเปลี่ยว
เเบบสำรวจสภาพปัจจุบัน บ้านเลขที่ 125 ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธี VERNADOC
เเบบสำรวจสภาพปัจจุบัน บ้านเลขที่ 109 ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธี VERNADOC
‘ลุงกบ’ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของชุมชนเก่าว่า เป็นเขตปกครองที่มีลักษณะเฉพาะในความพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกายภาพ การตั้งถิ่นฐาน หรือแม้กระทั่ง ถ้าหากจะกล่าวถึงชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ หนึ่งเท่านั้น แต่จิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ นี้ ได้ช่วยต่อเติมผืนย่านเมืองเก่าให้สมบูรณ์
หากจะนำวัตถุมาแทนที่คน เขาคิดว่า สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการบูรณาการร่วมกัน อย่างกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ จะรื้อบ้าน หรือย้ายคนออก แล้วสร้างสวนสาธารณะ มีต้นไม้ใหญ่ คำถามเกิดขึ้นทันทีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นปอดของคนเมืองในอนาคตหรือไม่?
ลุงกบ มองว่า เป็นเรื่องท้าทาย ไม่เฉพาะชุมชนป้อมมหากาฬเท่านั้น แต่รวมถึงสาธารณชนทั้งหมด กำลังถูกท้าทายในเรื่องการจัดการเมือง
“ต้องขอขอบคุณวิกฤตปัญหา เพราะหากไม่เกิดวิกฤติปัญหา จะไม่คิดเรื่องการแก้ไข” ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าว และว่า ปัจจุบันทุกคนหลุดพ้นจากการเป็นมนุษย์ไปแล้ว และสร้างตัวตันให้กลับมากลายเป็นพลเมือง
เเบบสำรวจสภาพปัจจุบัน บ้านเลขที่ 123 ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธี VERNADOC
เเบบสำรวจสภาพปัจจุบัน บ้านเลขที่ 97 ชุมชนป้อมมหากาฬ ด้วยวิธี VERNADOC
ลุงกบ กล่าวว่า ระยะเวลาที่เกิดปัญหาความขัดแย้งตลอด 25 ปีที่ผ่านมา คนในชุมชนไม่ได้ท้าทายอำนาจรัฐ แต่กำลังแสดงศักยภาพละจากความเป็นมนุษย์ แล้วสร้างตัวตนกลับมาเป็นพลเมือง โดยต่อไปสิ่งที่ต้องทำ คือ จะสืบทอดเรื่องราวอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด นั่นคือการบูรณาการ
สุดท้าย ฝันเป็นจริงในการเปิดโอกาสให้เราได้รับมอบหมายเป็นพลเมืองร่วมกับรัฐท้องถิ่นในการพัฒนา
ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์เต็ม ที่กลุ่มอาสาสมัคร MAHAKAN VERNADOC อยู่ในชุมชน เพื่อสำรวจรังวัดบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อคาดหวังให้เป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนเห็นคุณค่า และถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปถึงบุคคลภายนอกเกิดจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์
เหนือสิ่งอื่นใด คาดหวังให้ กทม. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหารือเกี่ยวกับแผนการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ เห็นความสำคัญ และเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ไปสู่เป้าหมายที่เกิดประโยชน์สูงสุด .