- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ล่องเจ้าพระยาไปกับ Friend of River หยุดโครงการพัฒนาริมน้ำ
ล่องเจ้าพระยาไปกับ Friend of River หยุดโครงการพัฒนาริมน้ำ
“คณะรัฐมนตรีต้องมีสำนึกในการดูเรื่องผลกระทบสำหรับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน ต้องให้มีการศึกษาให้ผ่าน รวมถึง กทม.เองควรที่จะทำหน้าที่บนความรับผิดชอบต่อสังคม”
หลังจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 14 กม.ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวบ้านและนักวิชาการหลายกลุ่มว่า หากพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจะถูกเนรมิตให้กลายเป็นถนนคอนกรีต 4 เลน กว้างแต่ละฝั่ง 19.5 เมตร ยกสูงจากระดับน้ำทะเล 3.25 เมตร ด้วยงบประมาณ 14,000 ล้านบาท จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง
สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสร่วมเดินทางล่องเรือไปกับกลุ่ม Friend of River (FOR)ซึ่งรวมกลุ่มกันทำงาน เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หลังริมฝั่งน้ำจะถูกสรรสร้างให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่คนเมืองหลวง โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการล่องเรือเพื่อชมภูมิทัศน์ของริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานซังฮี้ไปจนถึงท่าเรือคลองสาน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามีโอกาสนั่งเรือ แต่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัสบรรยากาศพร้อมชมทัศนียภาพของริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจัง แม้สภาพอากาศในวันนี้จะดูครึ้มฟ้าครึ้มฝนแต่ผู้ร่วมเดินทางทุกคนก็ยังมุ่งมั่นจะลงเรือลำเดียวกันเพื่อสัมผัสธรรมชาติที่มีทีท่าว่ากำลังจะเลือนหายไป
เรือสีน้ำตาลอ่อน โครงสร้างไม้ที่แข็งแรง ท้องเรือโค้งมน ที่ดูคล้ายเหมือนบ้านทรงไทยมาอยู่ในน้ำ ทว่ามองไปก็ดูเข้ากันระหว่างแม่น้ำกับเรือ ระยะเวลาร่วม 2 ชั่วโมง กับสายน้ำที่ไม่หยุดนิ่งของสถานที่แห่งนี้ เราจึงได้เห็นบรรยากาศสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเข้าไปยังแม่น้ำ และแลเห็นวิถีชีวิตของผู้คนละแวกนั้นว่า กำลังจะห่างไกลจากแม่น้ำไปเรื่อยๆ
"ดวงฤทธิ์ บุนนาค" สถาปนิกและนักออกแบบ เปิดคำถามขึ้นภายหลังกิจกรรมล่องเรือ แลนด์มาร์คใหม่จะบังแลนด์มาร์คเดิมหรือไม่
ส่วนตัวเขาคิดว่า ถ้าเกิดแลนด์มาร์คขึ้นมาจริง โครงการนี้ต้องเรียกว่า "ทางด่วนแม่น้ำ" เนื่องจากบริษัทที่รับออกแบบเป็นบริษัทที่รับจ้างทำทางด่วนให้กับทาง กทม. จึงเป็นการเอาดีไซน์ของการทำถนนมาทำ ระดับของความสูงก็เป็นความสูงของทางด่วนมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากมายมหาศาล ทั้งสถานที่สำคัญ
และหากโครงการนี้เสร็จอาจจะมีคนบางส่วนได้ประโยชน์ จากการที่มีพื้นที่ในการเดินเล่น ถ่ายรูป ดังนั้นการใช้เงินจำนวน 14,000 ล้านบาท ควรจะมีกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ เพราะเงินมาจากภาษีประชาชน
“การทำโครงการลักษณะนี้ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ ไม่อยากให้กระแสในความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เงียบหายไป จุดนี้จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะพูดในเรื่องนี้ซ้ำอีก จนแน่ใจว่า ไม่มีใครเห็นด้วยกับพวกคุณ แต่ถ้าคุณยังดำเนินต่อ “การตอกเสาเข็มในเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นการตอกอยู่ในความไม่เห็นด้วยของพวกเรา”
ดวงฤทธิ์ ยังฝากถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ว่า ปัญหาในกรุงเทพฯ หลายอย่างที่กทม.จะต้องจัดการและแก้ไข ดังนั้นควรมีการลำดับก่อนหลังว่าควรทำเรื่องใดก่อน และอยากให้ย้อนหลับไปในอดีตช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้งว่า เคยสัญญาอะไรไว้บ้าง เรียงลำดับเรื่องที่จะทำ ซึ่งโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้จัดอยู่ในยุทธศาสตร์ของผู้ว่าฯ กทม.ด้วยซ้ำไป
นักสถาปนิกและนักออกแบบรายนี้ ให้ข้อมูลอีกว่า รู้หรือไม่? พื้นที่ริมน้ำไทยไม่เหมือนต่างประเทศ พร้อมทั้งอธิบายให้ฟังว่า ในต่างประเทศถ้ามีการสร้างพื้นที่แบบนี้ล้ำลงไปในแม่น้ำต้องมีการศึกษาผลกระทบของแม่น้ำทั้งเส้น มีการศึกษากันเป็นปีๆ และในการออกแบบเราจะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมส่งต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมว่ามีผลกระทบอย่างไร
แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือทำไมไม่มีการศึกษา หากตามตัวบทกฎหมายไม่มีการเขียนไว้ แต่ตัวของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมควรมีการตรวจสอบ
“คณะรัฐมนตรีต้องมีสำนึกในการดูเรื่องผลกระทบสำหรับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน ต้องให้มีการศึกษาให้ผ่าน รวมถึง กทม.เองควรที่จะทำหน้าที่บนความรับผิดชอบต่อสังคม เราต่างให้ความสำคัญในการคอรัปชั่นฝั่งการเมืองค่อนข้างมาก แต่ไม่เคยมีใครพูดการคอรัปชั่นในฝั่งราชการเลย และผมคิดว่าการที่จะทำให้ประเทศนี้ก้าวหน้าไปได้ เราก็ต้องพูดในสิ่งที่ชัดเจน”
ส่วนความแคลงใจเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ยังคงดังกึกก้องอยู่ในใจของชาวบ้านในพื้นที่
อาจารย์ยศพล บุญสม สมาชิก Friend of River (FOR) บอกว่า การทำโครงการนี้ทางนายกรัฐมนตรีคงมองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แต่คิดว่าเป็นการมองผิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปถามตัวชุมชนว่า เป็นสิ่งที่เขาต้องการไหม และถ้ามีแล้วทางชุมชนจะได้อะไร เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถือเป็นมรดกของชาติ
ปัญหาที่เป็นห่วง คือ การสร้างทางเพื่อมาทับถมในพื้นที่เดิมบังทัศนียภาพ มองว่าเป็นความน่าเกลียดที่ไม่ได้มาจากประชาชน
“การดำเนินงานของโครงการนี้ได้ให้วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงไม่กล้าแสดงความขัดแย้ง “เงินจำนวน 14,000 ล้านบาทถือว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่งในการพัฒนา แต่ถ้าเราจะใช้ควรมีการศึกษา ในเรื่องปัญหาระบบนิเวศ การจัดการน้ำ เพื่อที่จะได้รู้ว่าตรงไหนที่ควรจะทำไม่ควรจะทำ”
ด้านนางสาวปรีห์กลม จันทรนิจกร ผู้ก่อตั้ง Ma:D Hub for Social Enterpreneurs ตอบคำถามถึงเรื่องทัศนียภาพและวิถีชีวิตของคนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ว่า จากการที่เคยได้นั่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาสายนี้ เห็นชีวิตริมฝั่งแม่น้ำ สะท้อนอดีตความเป็นมา และอะไรได้อีกหลายอย่าง เป็นทั้งมรดกและวัฒนธรรมที่ดีของคนกรุงเทพฯ เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบเท่านั้นที่จะไม่เห็นด้วยกับโครงการ รวมถึงไม่ใช่โครงการแรกที่เป็นแบบนี้ที่เป็นการทำโครงการโดยไม่ถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเลย
“พวกเราตัวเล็กมาก เราไม่มีส่วนร่วมอะไรหรือความเห็นอะไร เราไม่มีปากมีเสียง จะบอกว่า ไม่จริงเลย เพราะเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญไม่ใช่แค่โครงการนี้ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เป็นคุณภาพชีวิตของทุกคน ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชนริมน้ำเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับคนหลายคนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม”
ส่วนนางสาวมิ่งขวัญ รัตนคช ผู้ลงพื้นที่สำรวจ บอกถึงสิ่งที่น่าตกใจ คือ การรับรู้ของชาวบ้านที่รู้แค่ว่าจะเกิดโครงการนี้ขึ้น แต่กลับไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด เสียงชาวบ้านส่วนใหญ่เกิดคำถามย้อนกลับมาว่า ทำแล้วใครจะมาใช้? และคนที่ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่นี้จะเป็นใคร? ให้นักท่องเที่ยวใช้ หรือให้คนในพื้นที่ใช้? เพราะการทำพื้นที่ในเฟสแรก ไม่ได้อยู่ในย่านท่องเที่ยว ควรมีการถามชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ก่อน แต่ทางรัฐไม่ได้มีการถามถึงเรื่องเหล่านี้ แต่กลับกำลังจะตอกเสาเข็มในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ดังนั้นจึงเกิดคำถามกับโครงการพัฒนาริมสองฝั่งเจ้าพระยาว่า ได้ถามคนที่อยู่ริมน้ำบ้างหรือไม่
และอีกหนึ่งคำถามที่ยังคาใจไม่หายคือจะทำเพื่อเป็นทางจักรยานอย่างเดียวไม่ ตัวแทนจากสมาคมจักรยาน ก็ลุกขึ้นมาพูดและอธิบายให้ฟังว่า คนปั่นจักรยานไม่รู้ที่มาของโครงการนี้เลย ว่าจะเกิดการสร้างทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น และมีความเห็นว่าทางที่จะทำมีความใหญ่เกินไป เราจึงมีความกังวลว่าชีวิตตามริมฝั่งแม่น้ำจะหายไป รถจะเข้ามายุ่งมากกว่าจะเป็นทางเดินหรือทางจักรยาน ปกติแล้วในกลุ่มคนปั่นจักรยาน จะเป็นการปั่นเพื่อชมวิวตามชุมชนกับแม่น้ำ แต่ดูโครงการนี้แล้วมองว่า เหมือนเป็นการสร้างกำแพงๆ หนึ่งขึ้นมาบังความสวยงามทัศนียภาพเหล่านั้น
ขณะที่นายวิชัย ตัณตราธิวุธ อุปนายกสมาคมสถาปนิกเมืองไทย มีข้อเสนอและความคิดเห็นต่อโครงการนี้อยู่ 6 เรื่องคือ
1) ผู้ที่จะใช้พื้นที่โครงการนี้เป็นใคร เป็นการลงทุนที่เสียทั้งเงินและพื้นที่ว่างของทางเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาค่าไม่ได้
2.) ทางจักรยานที่มีอยู่ทำไมไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น และทำไมถึงไม่พัฒนาคลองต่างๆ บูรณะขึ้นมาสร้างเป็นทางจักรยาน โดยไม่ต้องไปรบกวนพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา
3.) ปัญหาของเศษขยะและผักตบชวาที่จะไปค้างอยู่ตามเสาและริมน้ำ มีงบประมาณเท่าไหร่ในการดูแลและแก้ปัญหา
4.) ความปลอดภัยในระยะทาง 14 กม.มีการจัดดูแลอย่างไรในเรื่องของ ไฟฟ้าส่องสว่าง การควบคุมจากโจรหรือมิจฉาชีพ ประตูเปิดปิด ค่าดูแลรักษารวมถึงงบประมาณมาจากไหน
5.) การสร้างโครงการนี้จะสร้างอย่างไร เวนคืนที่ดินเข้าไป เพราะเป็นการลุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา 20-30 เมตร
6.) ถ้าในที่สุดทางที่ทำขึ้นมามีคนใช้น้อย ไม่มีค่าบำรุงรักษาจะเกิดการทิ้งขว้างพื้นที่แห่งนี้
อุปนายกสมาคมสถาปนิกเมืองไทย ทิ้งท้ายว่า การสร้างพื้นที่ว่างใน กทม. นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ในการทำโครงการนี้ควรชะลอไว้ก่อน เพราะในที่สุดคิดว่าจะเกิดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ช้าก็เร็ว ความจำเป็นจริงๆ ตอนนั้นควรจะผนวกเป็นโครงการเดียวกันเลยทั้งถนน เขื่อน ทางเดิน ทางจักรยาน
(คำถามจากชาวบ้านสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตร)
สำหรับ ประชาชนผู้สนใจ ร่วมชมนิทรรศการ"คำถามจากริมน้ำ 14 กม." เพียงเดินทางไปที่ The Jam Factory คลองสาน เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งนิทรรศการจะมีวันนี้เป็นวันสุดท้ายของกิจกรรม