- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แกะรอยโศกนาฏกรรมบางสะพาน กับคำถามที่กรมชลฯ-รัฐต้องตอบ (1)
แกะรอยโศกนาฏกรรมบางสะพาน กับคำถามที่กรมชลฯ-รัฐต้องตอบ (1)
แทนที่รัฐบาลจะออกมาแถลงว่าเหตุการณ์ที่บางสะพานไม่ใช่น้ำท่วมแค่น้ำไหลบ่ารัฐควรสอบสวนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของกรมชลฯรวมทั้งหน่วยงานอื่นว่าได้ปฏิบัติแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดหรือไม่
เหตุการณ์อุทกภัยอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และผู้บริหารระดับสูงของกรมชลประทานออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่มีหน้าที่ชี้แจงเตือนภัย จนทำให้เกิดสับสนว่าตกลงแล้วกรมชลประทานมีหน้าที่หรือไม่นั้น
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ได้วิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามต่อการทำงานของกรมชลประทานและรัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ซึ่งหากนำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 10 ตุลาคม 2559 ของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอ้างถึงพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2558 โดยมี นายทวี นริศศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้อำนวยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ลงนามอนุมัติ
ในข้อที่ 4.2 เรื่องการแจ้งภัยระบุว่า การแจ้งเตือนภัยเป็นหน้าที่ของกรมชลฯ รายละเอียดในเอกสารดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าต้องทำไม่ต่ำกว่า 120 ชั่วโมง โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบฯ สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด โครงการชลประทานประจวบฯ เป็นหน่วยงานประสานงานร่วมกับสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดประจวบฯ ในการจัดวางแนวทาง มาตรการ และขั้นตอนการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และแจกจ่ายข้อมูลข่าวสาร
ในขณะที่เอกสารอีกฉบับ ซึ่งเป็นคำสั่งของกรมชลประทาน ที่ 143/2555 เรื่องการแบ่งงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ลงนามโดยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ระบุถึงหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาใหม่
ทั้งนี้ แนบท้ายคำสั่งดังกล่าว ระบุในหัวข้อที่ 2 ว่า ส่วนบริหารจัดการน้ำมีหน้าที่บริหารน้ำทั่วประเทศทั้งในระบบลุ่มน้ำและระบบชลประทาน
นอกจากนั้น ยังระบุในหัวข้อ 2.3 สรุปได้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการจัดสรรน้ำมีหน้าที่ ติดตามตรวจสอบวิเคราะห์สภาพน้ำฝน น้ำท่า น้ำในอ่างเก็บน้ำ และสภาพการใช้น้ำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและฉับพลัน รวมทั้งควบคุมบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การให้ข้อมูลสำหรับใช้ในการเตือนภัย และการวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาสภาวะน้ำท่วม จัดทำรายงานสำหรับสรุปสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาวะปกติและภาวะวิกฤต พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ
หากได้ติดตามการทำงานของกรมชลฯ ที่ผ่านมา จะพบว่า มีหลายอย่างที่ยังข้องใจในการทำงานครั้งนี้คือ
1. ทั้งที่มีการประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนเกี่ยวกับฝนที่จะตกหนักในพื้นที่นี้ล่วงหน้า มีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนทั้ง 3 เขื่อนอย่างไร
2. หลังจากมีประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาล่วงหน้า มีการพร่องน้ำออกก่อนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับฝนที่จะตกหนักหรือไม่
3. ถ้ามีการบริหารจัดการ การบริหารจัดการเป็นอย่างไร เหตุใดจึงปล่อยให้น้ำล้นสันเขื่อน
4. มีการติดตามตรวจสอบวิเคราะห์สภาพน้ำฝน น้ำท่า น้ำในอ่างเก็บน้ำ และสภาพการใช้น้ำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและฉับพลันหรือไม่ อย่างไร มีการควบคุมบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร
5. มีการให้ข้อมูลสำหรับใช้ในการเตือนภัยและการวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาสภาวะน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร
6. มีการวางแผนป้องกันแก้ไขภาวะน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร
7. ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะตอนค่ำวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่น้ำล้นสันเขื่อนทั้ง3 แห่งในเขต อ.บางสะพาน ศูนย์ที่สังกัดกรมชลประทานได้มีการจัดทำรายงานสำหรับสรุปสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ หรือไม่ อย่างไร
8. เป็นคำถามถึงรัฐบาล นั่นก็คือ แทนที่จะออกมาแถลงว่า เหตุการณ์ที่บางสะพานไม่ใช่น้ำท่วม แค่น้ำไหลบ่า รัฐบาลจะมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของกรมชลฯ รวมทั้งหน่วยงานอื่นว่า ได้ปฏิบัติแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดประจวบฯ หรือไม่ รวมทั้งกรมชลปฏิบัติตามคำสั่งนี้กรมชลฯ เองหรือไม่ หากมีหลักฐาน จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร
“คำถามทั้งหมดนี้ กรมชลประทานและรัฐบาลควรจะตอบคำถามโดยแถลงต่อสื่อมวลชน เพื่อให้สังคม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมโดยเฉพาะในลุ่มน้ำคลองบางสะพานเมื่อคืนวันที่ 9 มกราคม ได้หายข้องใจ” ดร.ไชยณรงค์ ระบุ
ขอบคุณภาพประกอบจาก
ภาพเอกสารจาก เฟซบุ๊ค Chainarong Sretthachau