- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- การศึกษา เด็ก และเยาวชน
- วิกฤต.."พนักงานมหา'ลัย" วิกฤต..อุดมศึกษาของประเทศ??
แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
วิกฤต.."พนักงานมหา'ลัย" วิกฤต..อุดมศึกษาของประเทศ??
กลายเป็นประเด็นร้อนๆ ในแวดวงมหาวิทยาลัยไทย เมื่อ "เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่ "พนักงานมหาวิทยาลัย" ควรจะได้รับ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับ "ข้าราชการ" ในรั้วมหาวิทยาลัย!!
หลังจากที่พนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มองว่าไม่ได้รับการดูแลจาก "ผู้บริหาร" มหาวิทยาลัย และ "รัฐบาล" เท่าที่ควร!!
กว่า 10 ปีแล้ว ที่พนักงานมหาวิทยาลัยได้ถือกำเนิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ภายหลังรัฐบาล "นายชวน หลีกภัย" มีนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ เนื่องจากรัฐต้องแบกรับงบประมาณในส่วนของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ สูงถึง 40% ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศในแต่ละปี รัฐบาลในยุคนั้นจึงมีนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ ซึ่งครอบคลุมถึง "สถาบันอุดมศึกษา"
บวกกับมหาวิทยาลัยของรัฐในขณะนั้น เริ่มทยอยเปลี่ยนสถานภาพเป็น "มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ" ทำให้เมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ อัตรากำลังจะถูกยุบในทันที และการรับบุคลากรใหม่ทดแทน จะมีฐานะเป็นเพียง "พนักงานมหาวิทยาลัย" ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินบำเหน็จบำนาญ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น เหมือนที่ข้าราชการได้รับ ที่สำคัญคือ "ความไม่มั่นคง" เพราะพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นระบบ "สัญญาจ้าง" พนักงานมหาวิทยาลัยจะต้องถูกประเมินตามสัญญาว่าจ้าง หาก "ไม่ผ่าน" การประเมิน จะไม่ได้รับการต่อสัญญา!!
และเพื่อชดเชยสิ่งที่พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับ รัฐบาลจึงมีมติให้เพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยเป็น 1.5 - 1.7 เท่าของข้าราชการ เพื่อหวังที่จะจูงใจคนดี และคนเก่งเข้าทำงาน
10 กว่าปีที่ผ่านมา ดูเหมือนพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กลับรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม และได้รับการปฏิบัติเยี่ยง "พลเมืองชั้นสอง" ของมหาวิทยาลัยไปโดยปริยาย...
เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน 5% ให้ข้าราชการ หรือแม้แต่นโยบายล่าสุดของรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่มีวุฒิปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท ก็ไม่ครอบคลุมถึงพนักงานมหาวิทยาลัย!!
ทั้งที่ปัจจุบัน พนักงานมหาวิทยาลัยมีมากถึง 60% หรือประมาณ 50,000 กว่าคน จากจำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ขณะที่มีข้าราชการเหลืออยู่เพียง 40% โดยในบางแห่งมีพนักงานมหาวิทยาลัย 70% บางแห่ง 80% บางแห่ง 90% และสำหรับมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น จะมีพนักงานมหาวิทยาลัย 100% เต็ม
ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อย่าง "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ปัจจุบันก็มีพนักงานมหาวิทยาลัยมากถึง 80% เหลือข้าราชการอยู่เพียง 20% เท่านั้น
ในขณะที่พนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นคนส่วนใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัย กลับถูกละเลย และไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจากมหาวิทยาลัย และรัฐบาล จึงทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยจากสถาบันอุดมศึกษากว่า 50 แห่ง รวมตัวกันในนามของเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และปัจจุบันมีสมาชิกมากเกือบ 10,000 คน ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีขวัญ และกำลังใจที่จะสอนนิสิตนักศึกษา
ล่าสุด ที่เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาออกมาเคลื่อนไหว เพราะมองว่าถูกมหาวิทยาลัยต้นสังกัด "เอารัดเอาเปรียบ" เริ่มจากมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง หักเงินเดือนบางส่วนไปใช้จัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับเงินเดือน 1.5 - 1.7 เท่าของข้าราชการตามมติ ครม.และที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องศาลปกครอง คือกรณีพนักงาน มก.ยื่นฟ้อง "อธิการบดี มก." และ "คณะกรรมการบริหาร มก" เพราะมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการถูกหักเงินเดือน 0.2 เท่า เพื่อนำไปใช้จัดสวัสดิการ ทำให้ไม่ได้เงินเดือน 1.7 ของเงินเดือนข้าราชการตามมติ ครม.และเมื่อคำนวณแล้วจะเห็นว่าเงินที่แต่ละคนถูกหักไปไม่ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท
ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ยืนยันว่า "สภามหาวิทยาลัย" สามารถบริหารจัดการเงินก้อนนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินเดือน 1.5 - 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย
ซึ่งประเด็นนี้คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองว่า "สภามหาวิทยาลัย" มีสิทธิที่จะทำได้หรือไม่ และไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ก็น่าจะใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่กำลังจ่อคิวที่จะยื่นฟ้องร้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ อาทิ การจ่ายเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการระดับ "ศาสตราจารย์", "รองศาสตราจารย์" และ "ผู้ช่วยศาสตราจารย์" ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะจ่ายให้กับผู้มีตำแหน่งที่เป็นข้าราชการ 2 เท่า ตามนโยบายรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการแต่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จะได้เงินประจำตำแหน่งในอัตราเดิม ทำให้ข้าราชการที่มีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ได้เงินประจำตำแหน่งมากกว่าพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นรองศาสตราจารย์
หรือกรณี "นักเรียนทุน" ที่ระบุในสัญญารับทุนว่าเมื่อเรียนจบกลับมา จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาจริงๆ กลับเป็นเพียงพนักงานมหาวิทยาลัย หรือกรณีที่ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท และเอก แต่เมื่อจบกลับมาทำงาน กลับ "ไม่ปรับ" วุฒิการศึกษาให้ โดยอ้างว่าถ้าต้องการปรับวุฒิการศึกษา จะต้องลาออก และสมัครเข้าทำงานใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในเวลานี้ ทำให้เกิดอาการ "สมองไหล" ออกจากรั้วสถาบันอุดมศึกษาอย่างมากมาย ซึ่งสวนทางกับ "หลักการ" ของการก่อกำเนิดพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ต้องการ "เพิ่ม" ประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากร แทนที่จะทำงานแบบ "เช้าชาม เย็นชาม" เช่นที่ข้าราชการถูกกล่าวหามาโดยตลอด เพราะการประเมินเป็นระยะๆ จะช่วยให้พนักงานมหาวิทยาลัยกระตือรือร้นในการทำงานอยู่ตลอดเวลา
แต่เมื่อเวลาผ่านไป..ทุกอย่างกลับไม่เป็นเช่นนั้น!!
เพราะในมหาวิทยาลัยที่ก่อกำเนิดเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้นอย่าง "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)" สภามหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการ และจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยจ่ายให้ 2 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ หรือจ่ายอัตราจ้างแรกเข้าสำหรับวุฒิปริญญาเอก 45,000 บาท ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยที่อายุงานมากๆ มีผลงานวิจัย และการสอนมีประสิทธิภาพ จะได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 80,000 บาท ทำให้คนดี คนเก่ง อยากวิ่งเข้าทำงานที่ มทส.กันมากมาย
แต่ในทางกลับกัน พนักงานมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่าง มทส.ก็เริ่มสมองไหลออกไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลแห่งอื่นๆ ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนสูง บางคนลาออกไปทำงานในภาคเอกชน
และที่กลับตาลปัตรคือ "อาจารย์มหาวิทยาลัย" แห่ไปสมัครสอบ "ครูผู้ช่วย" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะได้บรรจุเป็นข้าราชการ และยังได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเต็มที่ จากเดิมที่ "ครู" พยายามขวนขวายเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก เพื่อไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย!!
สารพัดปัญหาเหล่านี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจ ที่ผลวิจัยเรื่องความต้องการดำรงสถานภาพในสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ของพนักงานมหาวิทยาลัย พบว่า พนักงานมหาวิทยาลัยมากถึง 73.57% อยากกลับไปเป็นข้าราชการ
แต่เมื่อการจะขอกลับไปเป็นข้าราชการนั้น แทบจะเป็นไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา จึงเรียกร้องให้ปรับแนวทางปฏิบัติ หรือเกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย รวมถึง ปรับแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ให้เป็น "พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน และพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ..." เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมข้าราชการ
ซึ่ง "นพ.กำจร ตติยกวี" รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เตรียมนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ว่าจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เพราะขณะนี้มีทั้งที่เห็นควรให้ปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิม โดยเพิ่มในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยเข้าไป และอีกกลุ่มเห็นควรให้ยกร่างกฎหมายฉบับใหม่สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้ข้อสรุปอย่างไรนั้นคงต้อรอให้ ก.พ.อ.มีมติออกมาก่อน
ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึง รัฐบาล คงต้องหยิบยกกรณี "พนักงานมหาวิทยาลัย" ขึ้นมาพูดคุยกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงๆ จังๆ เสียที
เพราะคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นคนส่วนใหญ่ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไปแล้ว และกำลังจะกลายเป็นบุคลากรทั้งหมดในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ฉะนั้น หากอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ไม่มีขวัญกำลังใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีแล้ว ก็อย่าไปหวังว่า "มหาวิทยาลัย" จะกลายเป็นแหล่งที่จะผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ และผลิตบัณฑิตออกมารับใช้ประเทศ ยิ่งในยุคที่ไทยกำลังนับถอยหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ด้วยแล้ว.. ไม่ต้องพูดถึง หรือจะต้องรอให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยไทยค่อยๆ สมองไหลออกจนเหลือแต่ร่างที่ไร้วิญญาณ และทยอยล้มหายตายจากไปจนหมด ถึงจะสำนึกได้...
เมื่อประเทศไทยต้องล้าหลังเพื่อนบ้านในอาเซียนไปเสียแล้ว!!
ขอบคุณภาพประกอบ..
- ภาพมหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ : th.wikipedia.org
- ภาพมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี : www.pantip.com (Blue Planet) จากคุณ ชานไม้ชายเขา
เรื่อง 20ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี , นิตยสารออนไลน์ ชานไม้ชายเขา