- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
- The Journey Journal: ส่องบรูไน ดูวิสัยทัศน์ในวันที่น้ำมันใกล้หมด
The Journey Journal: ส่องบรูไน ดูวิสัยทัศน์ในวันที่น้ำมันใกล้หมด
The Journey Journal สัปดาห์นี้ยังคงอยู่ที่บรูไน ประเทศที่ร่ำรวยเต็มไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สำรวจความเป็นมา ส่องวิสัยทัศน์ใหม่ๆ พวกเขาทำอย่างไร ในวันที่น้ำมันกำลังจะหมดประเทศ
(แท่นขุดเจาะน้ำมันและมัสยิดในเมืองซีเรีย Seria ประเทศบรูไน )
เชื่อว่าเมื่อพูดถึงบรูไน สิ่งแรกที่เรามักนึกถึงคือประเทศที่ร่ำรวยด้วยน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ใช่แล้วครับ GDP ของบรูไนกว่า 60% พึ่งพาทรัพยากรด้านนี้ แต่หากนับมูลค่าส่งออกแล้ว น้ำมันคือสินค้าส่งออกมากถึง 95% คือพูดง่ายๆ ว่าน้ำมันคือทั้งหมดของประเทศ และหากจัดอันดับในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน บรูไนถือเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 4 รองจากอินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซีย ตามลำดับ ทั้งยังครองอันดับ 4 ของโลก ประเทศที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว
จากที่พูดไปในตอนที่เเล้ว ว่าคนที่บรูไนนิยมขับรถยนต์มาก จนไม่แปลกที่เราแทบจะไม่เห็นคนเดินริมถนนเลยเพราะด้วยราคาน้ำมันที่ถูกมาก คืออยู่ที่ลิตร 15 บาทเท่านั้น ราคาที่ถูกขนาดนี้มาจากการอุ้มราคา(subsidize) ของรัฐบาล
อ่านประกอบ:ส่องบรูไน ดูกิจกรรม'บันดาร์ กูเชอเรีย 'เปลี่ยนเมือง-ถนนให้เป็นของทุกคน
(ราคาน้ำมันตกอยู่ลิตรละ 0.530 ดอลล่าร์บรูไน หรือประมาณ 15 บาท)
ผมมีโอกาสได้ไปเยือนยังเมือง Seria อ่านว่า ซีเรีย (ตอนเพื่อนบอกว่าจะไปซีเรีย นึกว่าประเทศที่ตะวันออกกลาง) เมืองนี้คือเมืองที่เต็มไปด้วยแท่นขุดเจาะน้ำมัน และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ บริษัท Brunei Shell Petroleum Company Sdn Bhd (BSP) ด้วย
เมืองนี้เป็นแห่งแรกๆ ที่มีการขุดน้ำมันเพื่อการพาณิชย์ และนั่นจึงไม่แปลกที่ทุกอย่างในเมืองนี้จะเป็นของเชลล์บรูไน หรือเรียกว่าเป็นอาณาจักรก็ได้ มีครบทุกอย่างตั้งแต่ออฟฟิศ โรงกลั่น แท่นขุดเจาะ พิพิธภัณฑ์ บ้านพักพนักงาน สนามกอล์ฟ
ไหนๆ ก็มาถึงที่นี่เเล้ว เรามาย้อนดูความเป็นมาของการค้นพบอัญมณีสีดำที่เปลี่ยนประเทศเล็กๆ ให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ในกลุ่ม Upper income class และมีรายได้ประชากรต่อหัว (Income per capita) สูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มอาเซียน โดยพบว่า ชาวบรูไนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่า 49,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งสูงกว่ารายได้ต่อหัวของคนไทยถึงกว่า 5 เท่าตัวเลยทีเดียว
(ศูนย์ข้อมูลวิชาการและพิพิธภัณฑ์การค้นพบน้ำมันในประเทศบรูไน)
ย้อนกลับไป การค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบรูไนเริ่มต้นขึ้นเมื่อค.ศ. 1899 ที่เมืองบรูไน หรือ เมืองบันดาร์เสรีเบกาวันในปัจจุบัน บ่อน้ำมันแห่งแรกที่ขุดพบคือ Ayer Berkunchi ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณหมู่บ้านน้ำ (Kampong Ayer) ในอดีตมีบริษัทจากต่างชาติที่เข้ามาร่วมสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมัน 6 บริษัท ได้แก่
(1) British Borneo Petroleum Syndicate Limited
(2) the Shanghai Langkat Company
(3) Nederlandsche Koloniale Petroleum Maatschappij (Royal Dutch Shell)
(4) the Anglo-Saxon Petroleum Company Limited
(5) Asiatic Petroleum Company (Federated Malay States) Limited
และ (6) the British Malayan Petroleum Company Limited (BMPC)
โดยเฉพาะบริษัท Royal Dutch Shell มีบทบาทอย่างมากในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ทั้งนี้ บริษัทเคยมีการค้นพบแหล่งน้ำมันที่เมือง Miri ในรัฐซาราวักตั้งแต่ ค.ศ. 1913
ต่อมาใน ค.ศ. 1918 บริษัทอื่น ๆ ได้ถอนตัวออกไปมีเพียงบริษัท Royal Dutch Shell เท่านั้นที่ยังคงดำเนินการสำรวจและขุดเจาะในตำบล Labi บริเวณเขต Beliat แต่การค้นพบน้ำมันยังอยู่ในปริมาณที่น้อย และไม่เพียงพอเพื่อการใช้เชิงพาณิชย์
จนกระทั่ง ค.ศ. 1929 แหล่งน้ำมันเชิงพาณิชย์แห่งแรกของบรูไนได้ถูกค้นพบที่บริเวณเมืองซีเรีย (Seria) โดยบริษัท British Malayan Petroleum Company Limited (BMPC) ซึ่งควบคุมโดยบริษัท Royal Dutch Shell หรือบริษัท Brunei Shell Petroleum Company Sdn Bhd (BSP) ในปัจจุบัน
แหล่งน้ำมันในเมืองซีเรียนับเป็นแหล่งน้ำมันเชิงพาณิชย์บนฝั่ง (onshore) ของบรูไน ที่มีการขุดเจาะบ่อน้ำมันถึง 48 บ่อ ในระหว่างค.ศ. 1914 –1960 ซึ่งใน ค.ศ 1940 มีการเพิ่มปริมาณการผลิตถึง 17,000 บาเรลต่อวัน ถึงแม้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณแหล่งน้ำมันดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ภายหลังสงครามก็สามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้ในจำนวน 15,000 บาเรลต่อวัน
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในช่วง ค.ศ.1960 ทำให้บรูไนสามารถเริ่มขุดเจาะแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่ง (offshore) ได้ในบริเวณ South West Ampa ซึ่งอยู่ห่างจากเขต Kuala Belait ออกไป 13 กิโลเมตร และยังนำมาซึ่งการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติ บรูไนจึงเริ่มผลิต Liquefied Natural Gas (LNG) ใน ค.ศ. 1972 ซึ่งถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกที่อยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งบรูไน และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบรูไนสามารถส่งก๊าซธรรมชาติไปยังญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1972
บรูไนได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันอีกมากมายหลายบ่อ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1979 บรูไนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันได้ถึง 250,000 บาเรลต่อวัน และใน ค.ศ. 1991 เป็นปีที่สำคัญของประวัติศาสตร์การผลิตน้ำมันของบรูไน เพราะบรูไนสามารถผลิตน้ำมันได้สูงถึง 1 พันล้านบาเรล และ เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม ค.ศ. 1991 บรูไนจึงได้สร้าง The Billionth Barrel Monument ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จนี้
(อนุเสาวรีย์ The Billionth Barrel Monument ฉลองผลิตน้ำมันได้สูงถึง 1 พันล้านบาเรลในปี 1991ตั้งอยู่ที่เมือง ซีเรีย)
(แผนที่แสดงพื้นที่ขุดเจาะและท่อส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติทั่วประเทซบรูไน: ภาพจากhttps://forum.lowyat.net/topic/3211759/all)
ในค.ศ. 1993 บรูไนได้จัดตั้ง Brunei Oil and Gas Authority (BOGA) ขึ้นอย่างเป็นทางการ และได้จัดตั้ง Brunei National Petroleum Company Sdn. Bhd. (PetrolemBRUNEI) ขึ้นใน ค.ศ. 2001 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งบริษัท (Companies Act - CAP39)โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นผู้บริหารผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และค.ศ 2005 ได้มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงาน ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบัน บริษัท Brunei Shell Petroleum Company Sdn Bhd (BSP) ยังคงมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในบรูไน โดยรัฐบาลบรูไน และบริษัท Asiatic Petroleumจำกัด มีการถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน
(แท่นขุดเจาะมีให้เห็นโดยทั่วไปบริเวณเมืองซีเรีย บางจุดปิดทำการไปแล้ว แต่ยังคงเปิดเดินเครื่องโชว์ในนักท่องเที่ยว)
แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลบรูไนจะหลงระเริงไปกับอัญมณีสีดำนี้เพียงอย่างเดียว มีการคาดการณ์ว่า ภายใน 25 ปีบรูไนจะถึงจุดที่น้ำมันหมดลง รัฐบาลกลางจึงออกแผนยุทธศาสตร์ชาติ ชื่อว่า "วิสัยทัศน์บรูไน 2578" หรือ "Wawasan Brunei 2035" ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ "non-energy based sectors" สร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ทั้งป่าไม้ ประมง และแร่ทรายขาว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลบรูไนต้องการผลักดันและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่งคั่งและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคที่ไร้น้ำมัน[1]
เพื่อนชาวบรูไน เล่าให้ผมฟังว่า มีนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลประกาศ คือ การเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศให้สูงขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเกิดใหม่ให้ได้ 10,000 คนภายใน 10 ปี ซึ่งเขาเองก็หัวเราะให้กับแนวคิดนี้ เพราะจำนวนที่ว่ายังน้อยมาก ในแง่การเพิ่มอัตราการบริโภคภายในประเทศ
เพื่อนผมยังเล่าให้ฟังอีกว่า แม้คนบรูไนจะมีรายได้ต่อหัวที่สูงมาก แต่ไม่ใช่ว่ากิจการในประเทศจะเจริญรุ่งเรืองในแบบที่ไทยเป็น
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารจสังเกตเห็นได้เลยว่า คนบางตามาก หรืออาจจะบูมแค่ช่วงแรกที่เปิดร้านใหม่ๆ แต่ในระยะยาวจะพบว่า หลายร้านไปไม่รอด เพราะจำนวนประชากรที่น้อย ความต้องการการบริโภคก็น้อยตามไปด้วย และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการลดเพดานภาษีในระดับที่ต่ำมาก หรือแทบจะไม่เก็บเลย แต่ก็อย่างที่ว่าไปข้างต้น เมื่อตลาดภายในเล็ก ความน่าสนใจในการลงทุนจึงน้อยตามไปด้วย
ถามว่าแล้วคนบรูไนส่วนใหญ่ช็อปปิ้งที่ไหน เพื่อนผมบอกว่า ถ้าพวกเขาอยากซื้อของจริงๆ มักบินไปช็อปกันที่สิงคโปร์(เพราะค่าเงินบรูไนกับสิงคโปร์เท่ากัน) หรือไม่ก็บินมาซื้อที่ไทยที่มีของถูกๆ เยอะแยะมากมาย
ตอนต่อไป The Journey Jounal พาผู้อ่านอิศรา ไปสำรวจ หมู่บ้านน้ำ (Kampong Ayer) หมู่บ้านเก่าแก่ใจกลางแม่น้ำ ที่ถือว่านี่คือจุดเริ่มต้นของประเทศเล็กๆ ที่มีชื่อว่า บรูไน ...
(บรรยากาศภายในตัวเมือง ตูตง หนึ่งในเมืองหลักของบรูไน)
อ้างอิง
[1] SCB Economic Intelligence Center (EIC). จับตาอนาคตบรูไน…หลังยุค Oil-rich economy?.https://www.scbeic.com/th/detail/product/1052
ประวัติอุตสาหกรรมน้ำมัน
History of Oil & Gas. https://www.bsp.com.bn/main/about-bsp/history-of-oil-gas
https://sites.google.com/site/anongnathadsai/bxna-man-laea-kas-thrrmchati
http://bruneiresources.blogspot.com/2006/11/bruneis-159-billion-gdp-revisited.html