- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- การสร้างสำนึกร่วมของชุมชน
- แถลงการณ์คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทย
แถลงการณ์คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทย
แถลงการณ์คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา
เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทย
ด้วยขณะนี้พี่น้องประชาชนไทยได้ลุกขึ้นคัดค้านต่อต้าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งต่อมาวุฒิสภาได้มีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพี่น้องประชาชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวยังมิได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้การชุมนุมประท้วงของพี่น้องประชาชนจึงยังคงดำเนินต่อไป เพราะแท้จริงแล้วพี่น้องประชาชนไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล เพราะขาดภาวะผู้นำ ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารงานของรัฐบาลได้ก่อปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาการกู้หนี้สาธารณะ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และการทุจริตมโหฬารในโครงการจำนำข้าว เป็นต้น ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทยที่สิ้นสุดความอดทนที่มีต่อรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ฯ
คณาจารย์ดังมีรายนามข้างท้ายเห็นว่า มูลเหตุของปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา” โดยนายทุนที่ขาดจริยธรรมอาศัยเครื่องมือ ”ประชาธิปไตย” เป็นช่องทางเข้าแสวงหาอำนาจ เริ่มด้วยออกนโยบายประชานิยมและการซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเข้าเป็นรัฐบาล ก้าวต่อไปคือเข้ายึดกุมครอบงำกลไกของระบบรัฐสภา บงการให้ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนตระกูลชินวัตรใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองควบคุมระบบราชการ ข้าราชการผู้ใดจะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงจะต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าของอำนาจนอกระบบ ข้าราชการระดับสูงใต้ระบอบทักษิณและนักการเมืองที่คุมอำนาจได้ร่วมมือกันก่อการทุจริตผ่านโครงการนโยบายสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับพรรคพวกตน พร้อมกับวางฐานเสียงและอิทธิพลเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งในรอบต่อไป กระบวนการดังกล่าวเป็นวงจรอุบาทว์ ได้ฝังรากในสังคมไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมา
สรุปวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาต่าง ๆ ของประเทศชาติในปัจจุบันล้วนเป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเมืองแท้จริงของไทย คือ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา” หากสภาพการณ์ยังคงดำรงเช่นนี้ จะทำให้ความขัดแย้งในสังคมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะทนทุกข์ และประเทศไทยมีแต่จะอ่อนแอล้าหลังพัฒนาไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน ต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นกลับ
เพื่อแก้ปัญหาอันหนักหน่วงของชาติดังกล่าว คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงเสนอให้พลังของสังคมไทยทุกภาคส่วนร่วมชูธง “ปฎิรูปประเทศไทย” โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
๑. เป้าหมายการปฏิรูป : เปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อสร้างประเทศไทยสู่ “สังคมที่เป็นธรรม ประชาชนมีความมั่นคง และเป็นสุข”
๒. เนื้อหาการปฎิรูป : สร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญเร่งด่วน ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) ปฎิรูปการเมือง โดยเปลี่ยนแปลงระบบรัฐสภาให้เป็นองค์กรตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน สนองเจตนารมณ์ของประชาชน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภาแทนทุนสามานย์ที่มุ่งการถนทุนคืนให้หวนกลับมาอีก ๒) ปฎิรูประบบเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมกลไกตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ปราศจากอิทธิพลแทรกแซงจากภาครัฐ เศรษฐกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุน ปฎิรูประบบการพลังงาน แรงงาน เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ๓) ปฎิรูปสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ลดความเลื่อมล้ำ ได้แก่ ระบบการศึกษา ระบบการสาธารณสุข และระบบสวัสดิการ ๔) ปฎิรูประบบราชการและความยุติธรรม โดยเน้นความเป็นนิติรัฐ ส่งเสริมระบบราชการโดยระบบคุณธรรม ทำลายการทุจริตคอรับชั่นให้หมดไป ส่งเสริมข้าราชการทำงานเพื่อแผ่นดินโดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมือง ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ
๓. กระบวนการปฎิรูป : ให้มีองค์กรทำหน้าที่ประสานเป็นกระบวนการ ได้แก่ “สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ” “คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ” และ “คณะกรรมการปฏิรูปเฉพาะเรื่อง” โดยกำหนดให้มีระยะเวลาในการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นหลักประกันต่อประชาชน
คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีความเชื่อมั่นว่ามวลมหาประชาชนคือพลังสร้างสรรค์สูงสุด หากประชาชนขับเคลื่อนชูธงแห่งการปฏิรูปประเทศ ภารกิจดังกล่าวย่อมจะบรรลุเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็น “สังคมที่เป็นธรรม ประชาชนมีความมั่นคง และเป็นสุข”
ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น
คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖