- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จิตสำนึกใหม่
- ‘มักกะสัน สวนสร้างสรรค์’ ปอดผืนสุดท้ายใจกลางกรุง
‘มักกะสัน สวนสร้างสรรค์’ ปอดผืนสุดท้ายใจกลางกรุง
ภาคประชาสังคมส่งเสียงดังถึง ‘บิ๊กตู่’ ค้านปลุกผีมักกะสันคอมเพล็กซ์ ชงโมเดล ‘สวนสร้างสรรค์’ เป็นแหล่งออกซิเจนใจกลางกรุง ยกระดับเป็นสวนสาธารณะระดับชาติ เทิดพระเกียรติ ร.5 เชื่อเกิดคุณค่ามากกว่า
‘มักกะสัน’ บนพื้นที่เกือบ 500 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายที่มีศักยภาพระดับเมืองใจกลางกรุงเทพฯ กำลังถูกหยิบยกเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อเครือข่ายมักกะสันลงขันความคิดปั้นแต่งสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ ภายใต้โมเดล ‘มักกะสัน สวนสร้างสรรค์’ เพื่อเป็นแหล่งสร้างปอดสำหรับคนเมือง
ทั้งนี้ หากจำความได้ สมัยนายประภัสร์ จงสงวน นั่งเก้าอี้ผู้ว่า รฟท. มีความพยายามจะดำเนินโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ในพื้นที่แห่งนี้ โดยแบ่งเป็น 5 เฟส มูลค่าการลงทุนราว 2 แสนล้านบาท เพื่อหวังเพิ่มรายได้และล้างหนี้จำนวนมหาศาลแก่การรถไฟฯ ทว่า ท้ายที่สุด โครงการกลับถูกชะลอไว้รอวันปลุกผี!
จวบจนปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สัญญาจะพัฒนาพื้นที่มักกะสันเป็นแหล่งสร้างปอดสำหรับคนเมือง แต่เสียงแว่วมาว่า ประธานบอร์ดการรถไฟฯ ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของนโยบายดังกล่าว ประกอบกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ เสียงแตก ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ท่ามกลางความไม่แน่นอน กลายเป็นคำถามว่า เราจะพัฒนาพื้นที่มักกะสันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทิศทางใด ระหว่างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณค่า สร้างอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจ กับคอมเพล็กซ์ที่มีมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล และรายล้อมไปด้วยตึกสูงระฟ้า
‘ภารเดช พยัฆวิเชียร’ นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ชี้ให้เห็นมูลค่าของเม็ดเงินไม่ทำให้เกิดคุณค่าได้ แต่คุณค่าสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีจนเกิดมูลค่าได้ ที่ระบุเช่นนี้ เนื่องจากคนไทยมักมองการอนุรักษ์เป็นเรื่องเสียโอกาสในการพัฒนาความเจริญ แตกต่างจากหลายเมืองในโลก ไม่ว่าจะเป็น บาร์เซโลน่า ลอนดอน หรือนิวยอร์ก ล้วนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทั้งสิ้น เพราะจะดึงดูดนักเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือน นั่นคือมูลค่าที่เกิดขึ้น
การอนุรักษ์ที่เอ่ยถึง คือ โรงงานมักกะสัน ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟไทย และเต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี ‘รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเห็นว่า เป็นพื้นที่ควรแก่การอนุรักษ์ความทรงจำ ด้วยที่ผ่านมารู้จักพื้นที่นี้ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น ขบถมักกะสัน คนงานมักกะสัน หรือขบวนการแรงงานรถไฟ ดังนั้น สวนสร้างสรรค์จึงมีความสำคัญสำหรับการบรรจุความทรงจำ
เพียงแต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เมื่อมีสวนสร้างสรรค์เกิดขึ้น คนในชุมชนมักกะสันที่อาศัยอยู่เดิมจะมีสิทธิในพื้นที่ใหม่หรือไม่ เพราะคนจนไม่มีอะไรจะเสียไปกว่านี้อีกแล้ว ฉะนั้นมีช่องทางใดบ้างที่สามารถให้พวกเขามีส่วนร่วม
ฝัน 'มักกะสัน' เป็น National City Park
ด้าน ‘กนก เหวียนระวี’ ประธานกรรมการบริหาร กรุงกวี บจก. ฟันธงว่า พื้นที่มักกะสันต้องเป็นสวนสาธารณะเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้แล้ว หากเดินหน้าพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะธุรกิจลักษณะเดียวกันต้องปรับตัวแย่งลูกค้า และคนไทยคงไม่มีศักยภาพเพียงพอจะลงทุนพัฒนาพื้นที่นี้มูลค่าหลายแสนล้านบาท
“จะต้องนำเงินลงทุนมาจากแหล่งใด ในเมื่อคนไทยไม่มีศักยภาพสู้ไหว?” ผู้บริหาร กรุงกวี ตั้งคำถาม และว่า อาจกลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นก็ได้
เขายังเปรียบสวนสาธารณะเป็นหัวใจและสติปัญญา มิได้เป็นเฉพาะตับ ไต ปอด เท่านั้น ซึ่งมีงานวิจัยค้นพบว่า ผู้อยู่อาศัยในขอบเขตพื้นที่สวนสาธารณะจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ความรุนแรงในชุมชนลดลง เด็กมีสมาธิมากขึ้น ที่สำคัญ นอกจากคนกรุงเทพฯ ได้รับประโยชน์จากการพัฒนามักกะสันเป็นสวนสาธารณะแล้ว คนทั่วประเทศยังได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย
ในเมื่อมักกะสันอยู่ในกรุงเทพฯ จะส่งผลประโยชน์แก่คนทั่วประเทศอย่างไร ผู้บริหาร กรุงกวี บอกว่า ถ้าเราปฏิเสธพัฒนาพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ ถือเป็นการทำลายโอกาส และคนกรุงเทพฯ จะไม่สามารถหยุดยั้งคนชนบทเลิกทำลายป่าได้ เพราะเรากำลังทำเป็นตัวอย่าง จึงไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ หากได้พัฒนาสวนสาธารณะเป็นต้นแบบความคิดด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ รณรงค์ให้เห็นคุณค่า สร้างเทรนด์ในพื้นที่ คนชนบทจะเห็นคุณค่า และช่วยกันรักษาป่า เป็นหูเป็นตาแทนกรมป่าไม้ ซึ่งรักษาผืนป่าไว้ไม่ได้
เขายังฝันอยากให้มักกะสันกลายเป็นสวนสาธารณะระดับชาติ (National City Park) สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในฐานะทรงสละที่ดินเพื่อการรถไฟ โดยขอพระราชทานนามว่า ‘สวนสมเด็จพระปิยมหาราช’
“การยกที่ดินให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ แม้การรถไฟฯ ได้รับรายได้ตอบแทน แต่ถามว่า มีคนกลุ่มใดบ้างที่มีโอกาสเข้าไปในศูนย์การค้า ดังนั้น จึงอยากเห็นพื้นที่แห่งนี้กลับมาเป็นของประชาชน” กนก กล่าว
ไม่ปฏิเสธศูนย์การค้า เเต่ต้องเหมาะสม
‘อาจารย์ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส’ คณะกรรมการบริหารสมาคมอิโคโมสไทย ในฐานะสถาปนิก ระบุว่าถึงเวลาแล้วต้องสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม เพราะมักกะสันเป็นพื้นที่ของรัฐ ฉะนั้นการบริหารจัดการต้องถามประชาชนด้วย เพราะการรถไฟฯ ไม่ใช่เจ้าของ แต่เป็นเพียงผู้ดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องหาทางพูดคุยหารือกันให้ได้ และคอยส่งเสียงดัง ๆ ถึงนายกรัฐมนตรี
เธอยังตั้งคำถามว่า ขณะนี้ภาครัฐดูแลประชาชาชนดีหรือไม่ นอกจากถนนหนทางแล้ว พบว่ายังไม่มีพื้นที่สันทนาการเลย เพราะฉะนั้นต้องออกมาแสดงเจตนารมณ์ผลักดันเป็นสวนสร้างสรรค์ นอกเหนือจากนำไปขายเพื่อล้างหนี้ให้การรถไฟฯ พร้อมยืนยัน ไม่เคยย่อท้อต่อการขับเคลื่อน เพราะยังมีคนไม่รู้หรือเห็นคุณค่าในของที่มีอยู่ ยกตัวอย่าง อาคารเก่าแก่ในโรงงานมักกะสันของการรถไฟฯ
“การพัฒนาเป็นศูนย์การค้าบริเวณฝั่งถนนเพชรบุรี พื้นที่ติดกับสถานีรถไฟฟ้ามักกะสันให้เกิดมูลค่าสูงสุดทางการเงินสามารถทำได้ เพราะเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีบึง และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นไม่ทำลายคุณค่าเดิม แต่ต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม” เธอกล่าว และว่า เราไม่ต้องการสวนสาธารณะที่มีเฉพาะต้นไม้ แต่ต้องการทุกอย่างมารวมกัน ซึ่งพื้นที่มักกะสัน 80% สามารถพัฒนาเป็นสีเขียวได้ ภายใต้โมเดลสวนสร้างสรรค์ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของโลก โดยประชาชนสามารถร่วมกันสร้างโปรแกรม ทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นตามความต้องการที่แท้จริง จนกลายเป็นปรากฎการณ์ (phenomena) ของโลก
ขณะที่ ‘ปุณลาภ ปุณโณทก’ ผู้ก่อตั้งเพจ เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า มักกะสันเป็นงานเผือกร้อนสำหรับรัฐบาล จำได้ว่า วันที่เริ่มรณรงค์ในเพจ ผู้ว่าการรถไฟฯ ออกทีโออาร์ 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งขาดรายละเอียด มุ่งเน้นความคิดทางการเงิน โดยแบ่งพื้นที่ 30% พัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ ซึ่งมองไม่ค่อยเห็นโอกาสความสำเร็จ และยิ่งนำพื้นที่มาพัฒนา 100% มูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านบาท ความคาดหวังความสำเร็จใน 3-4 ปี จะต่ำมาก นอกเสียจากแก้กฎหมายเพิ่มอายุสัมปทานจาก 30 ปี เป็น 50 ปี ยังพอลุ้นกำไร
สำหรับโจทย์ที่ต้องดำเนินการ เขาบอกว่า อยากให้รัฐบาลศึกษาวิจัยในช่วง 2 เดือน หลังจากนี้ ในแง่มูลค่าภาคสิ่งแวดล้อม การทำสวนสรรค์สร้างมูลค่ามากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐศาสตร์ก้อนเดียว ซึ่งมีโอกาสลุ้น ทว่า อาจไม่สวนหรูตามที่คิด
ผู้ก่อตั้งเพจฯ กล่าวด้วยว่า สวนสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นไม่มีขอบเขต เพราะเป็นแหล่งรองรับไอเดียที่สร้างคุณค่าให้กรุงเทพฯ ถ้ารัฐบาลใจเย็น หันมาศึกษาวิจัยคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ท่านจะพบว่า การพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นประชาชนจะช่วยกันส่งเสียง และหากสวนแห่งนี้เกิดขึ้นจริง เชื่อมั่นคนกรุงเทพฯ จะรักท่าน
ศิลปินผนึกกำลังหนุน 'มักกะสัน สวนสร้างสรรค์'
‘ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล’ หรือ คุณชายอดัม นักจัดรายการวิทยุและผู้กำกับกองสามภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งคำถามว่า เหตุใดเราไม่สร้างสัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์ในกรุงเทพฯ เหมือนสถานที่โดดเด่นอื่น ๆ ดังเช่น ร้านแมคโดนัลด์ ในพื้นที่รกร้างมักกะสันบ้าง
“เรามีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว จะไปจ้างคนมาทุบทิ้ง และลงทุนเป็นพัน ๆ ล้าน เพื่อสร้างสิ่งใหม่ทำไม หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของใครบางคน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ได้” คุณชายอดัม ตั้งข้อสังเกต
‘ตุลย์ ไวฑูรเกียรติ’ หรือตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า บอกเล่าถึงจินตนาการอยากเห็นมักกะสันเป็นศูนย์กลางทางกีฬาและพื้นที่ปอดของกรุงเทพฯ รวมถึงแหล่งศิลปวัฒนธรรม พร้อมตั้งคำถามว่า ทุกคนต้องการมีชีวิตแบบไหน หรือเราต้องการเป็นเพียงหุ่นยนต์ทำงานเฉพาะจันทร์-ศุกร์ หาเงินเยอะ ๆ เพื่อผลาญในวันเงินเดือนออก เราจะใช้ชีวิตแบบนี้อีกนานเท่าไหร่
“เราอยากให้ลูกหลานเติบโตขึ้นมาเพื่อมีความสุขกับการใช้สตางค์ เพื่ออกไปตากแอร์งั้นหรือ อยากฝากให้คนคนกรุงเทพฯ รุ่นใหม่ช่วยจินตนาการว่า ในอนาคตเราอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน” ตุลย์ อพาร์ตเมนต์ คุณป้า ทิ้งท้าย
เช่นเดียวกับ พี่ก้อง ‘ทรงกลด บางยี่ขัน’ บรรณาธิการนิตยสาร a day ยอมรับว่า เป็นคนชื่นชอบรถไฟมาก ยิ่งรถไฟเก่ายิ่งชอบ และยังเป็นติ่งต้นไม้ด้วย ทำให้เวลาเดินทางจะชอบดูวิธีการจัดการ เพราะอยากรู้ว่าทำอะไรกันบ้างที่เกิดประโยชน์
สำหรับการจัดการพื้นที่รถไฟเก่าที่ผมเคยไปดูมา บก.a day ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาชานชาลารถไฟเก่าปัดฝุ่นเป็นคาเฟ่สำหรับคนรักรถไฟ นั่งจิบกาแฟ ชมรถไฟสายสำคัญวิ่งผ่าน และสามารถถ่ายรูปกับรถไฟได้ โดยมีคนแต่งชุดเป็นกัปตัน เพื่อถ่ายรูปกับมาสคอต
จึงเห็นว่า คนญี่ปุ่นฉลาดที่เปลี่ยนพื้นที่เก่าไม่ได้ใช่ประโยชน์ให้ทำเม็ดเงินได้ ดังนั้น หากการรถไฟฯ เจียดพื้นที่เพียงเล็กน้อยก็จะสร้างประโยชน์และกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
หากมักกะสันกลายเป็นพื้นที่สีเขียวจะทำให้เกิดคุณค่าต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ มากมาย และตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจระยะยาว ภายใต้การพัฒนาเมืองที่มีประชาชนร่วมออกแบบ กำหนดชะตาชีวิตตนเอง อันเป็นหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ดีที่สุดสำหรับมักกะสัน คืออะไร ฟังมุมคิด 'ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย'
คุณอยากให้มักกะสันเป็นคอมเพล็กซ์หรือพื้นที่สีเขียว
โมเดลจำลองมักกะสัน สวนสร้างสรรค์
ประตูระบายน้ำบึงมักกะสัน
บริเวณภายในพื้นที่มักกะสันฝั่งถนนเพชรบุรี
มุมสูงพื้นที่มักกะสันฝั่งถนนเพชรบุรี