ทีมข่าวอิศราได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษชุด “ผ่าโครงสร้างใหม่ทหารพราน” ตอนที่ 1 เล่าถึงมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้จัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มขึ้นอีก 4 กรม 60 กองร้อย งบประมาณ 2,692 ล้านบาทเศษ เพื่อใช้ในภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทดแทนกำลังทหารหลักที่จะทะยอยถอนออกจากพื้นที่
ทว่าหลังจากนั้นไม่นานกลับมีข่าวการเตรียมการจัดตั้ง “กองทัพน้อยที่ 4” ขึ้นในกองทัพภาคที่ 4 เพื่อรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้เป็นการเฉพาะ
ประเด็นที่น่าติดตามก็คือการถอนกำลังทหารหลัก เพิ่มกำลังทหารพรานเพื่อใช้ทดแทน แต่ในขณะเดียวกันก็เตรียมจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเพิ่มอัตรากำลังและบรรจุกำลังพลเพิ่มเติมอีกจำนวนไม่น้อย จะเป็นการคืนพื้นที่ชายแดนใต้ให้กองกำลังประจำถิ่นดูแลตามแผน 10 ปีของอดีตผู้บัญชาการทหารบกจริงหรือ
นขต.ทบ.รับทราบตั้งกองทัพน้อยที่ 4
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน ตอนหนึ่งว่า ที่ประชุม นขต.ได้รับทราบถึงการเสนอขอเตรียมจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 (ทน.4) โดยมีเหตุผลเนื่องจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไป ทำให้กองทัพภาคที่ 4 ต้องปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน และภารกิจอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการจัดตั้งกองทัพน้อยจะเป็นการช่วยกันทำงานให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปฏิบัติการ
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า กองทัพน้อยที่ 4 จะตั้งหน่วยที่ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ใช้อาคารสถานที่ที่มีอยู่เดิม ส่วนกรอบระยะเวลาการจัดตั้งมีอยู่ 3 ระยะเวลา กล่าวคือ ขั้นตอนแรกคือการขออนุมัติหลักการ ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ จะใช้เวลาจนถึงเดือน ธ.ค.นี้ และนำเสนอต่อกองทัพไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ขั้นตอนที่สอง คือ การเตรียมการ ซึ่งจะดำเนินการจนถึงช่วงเดือน ก.ย.ปีหน้า และจัดทำโครงการจัดตั้งหน่วยให้เรียบร้อยภายใน 3 ปี คือปี 2555-2557 มีการเสนอขออนุมัติตามสายงานต่างๆ
ขั้นตอนที่สาม คือ ขั้นการจัดตั้งหน่วย อยู่ระหว่างปี 2555-2558 จะเป็นเรื่องของการออกคำสั่งจัดตั้งหน่วย การบรรจุกำลังพลตามแผนที่กำหนด รวมถึงการแจกจ่ายยุทโธปกรณ์
แจงคนละส่วนกับนโยบาย “ถอนทหาร”
แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า กองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพเดียวใน 4 กองทัพที่ไม่มี “กองทัพน้อย” ฉะนั้นการจัดตั้งกองทัพน้อยขึ้นนับว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อแบ่งเบาภารกิจของกองทัพใหญ่ โดยเฉพาะในภาคใต้มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อ หากมีกองทัพน้อยก็จะรับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง ทำให้กองทัพใหญ่มีสรรพกำลังและความพร้อมเพียงพอในการทำงานด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
“กองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาต้องทุ่มกำลังและยุทโธปกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อย่างมาก ทำให้กระทบต่อการปฏิบัติภารกิจด้านอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ จ.ระนอง ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ได้เปิดหน่วยส่วนแยกไว้ดูแลปัญหาด้วย หรือภารกิจการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย หรือภารกิจการจัดการปัญหาโรฮิงญา เป็นต้น”
แหล่งข่าวรายนี้ บอกด้วยว่า หากจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 เรียบร้อย กองทัพน้อยก็จะรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ โดยเป็นกำลังหลักใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็อาจจะต้องมีการบรรจุกำลังพลเพิ่มและเปิดอัตราใหม่บ้าง
“เรื่องนี้จะไม่กระทบกับนโยบายถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะส่วนนั้นเป็นการถอนกำลังจากกองทัพภาคอื่นๆ ที่ลงมาช่วย คือกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 แต่การตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 เพื่อรับผิดชอบงานดับไฟใต้โดยตรง แต่ไม่ได้ไปแทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะโครงสร้าง กอ.รมน.ประกอบกำลังจากหลายหน่วย แต่กำลังพลจากกองทัพน้อยที่ 4 จะเป็นกำลังหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับโครงสร้างของกองทัพน้อย จะมีแม่ทัพน้อยเป็นผู้บังคับบัญชา ยศ “พลโท” เช่นเดียวกับแม่ทัพภาค การประกอบกำลังของกองทัพน้อยแต่ละกองทัพจะไม่เหมือนกัน ยอดกำลังพลก็ไม่เท่ากัน ขึ้นกับภารกิจเป็นหลัก
เพิ่มทหารพราน 5 กรมทดแทนทหารหลัก 7 กองพัน
ส่วนความคืบหน้าการเพิ่ม “กรมทหารพราน” ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอขออนุมัติจาก ครม.จำนวน 4 กรมจาก 4 กองทัพภาคนั้น ขณะนี้ทางกองทัพภาคที่ 4 จะเพิ่มกรมทหารพรานขึ้นอีก 1 กรม ทำให้กรมทหารพรานใหม่จะมีทั้งสิ้น 5 กรม
ลำดับความเป็นมาของการจัดตั้งกรมทหารพรานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากนับตั้งแต่ปี 2547 หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กองทัพบกได้เคลื่อนย้ายกำลังส่วนต่างๆ เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยกำลังส่วนหนึ่ง ได้แก่ กำลังทหารพรานจำนวน 3 กรม และ 3 หมู่ทหารพรานหญิง
ต่อมาในปี 2549 ได้มีการขยายหน่วยทหารพรานเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 กรมทหารพราน และ 4 หมวดทหารพรานหญิง ปรากฏว่าสามารถทดแทนกำลังทหารหลักซึ่งมาจากกองทัพภาคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี กองทัพบกจึงขออนุมัติรัฐบาลเพิ่มเติมกำลังทหารพรานเพื่อทดแทนกำลังทหารหลักอีก 5 กรมทหารพราน และ 5 หมวดทหารพรานหญิง ให้พร้อมปฏิบัติงานในเดือน ต.ค.2554 และ เม.ย.2555 ซึ่งกำลังทหารหลักจะถอนกำลังกลับจำนวน 7 กองพัน
ดังนั้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปจะมีทหารพราน 12 กรม กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิงเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในพื้นที่ควบคู่กับกองพลทหารราบที่ 15
12 กรมทหารพรานคุมพื้นที่ชายแดนใต้
สำหรับกรมทหารพรานที่มีอยู่แล้วและปฏิบัติภารกิจอยู่ในปัจจุบัน 7 กรม ประกอบด้วย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ที่ อ.รามัน จ.ยะลา
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ตั้งอยู่ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ตั้งอยู่ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ตั้งอยู่ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา
ส่วนกรมทหารพรานที่กำลังจัดตั้งขึ้นใหม่ในปี 2554-2555 อีก 5 กรมทหารพราน ประกอบด้วย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 11 โดยกองทัพภาคที่ 1
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 โดยกองทัพภาคที่ 2
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 33 โดยกองทัพภาคที่ 3
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 โดยกองทัพภาคที่ 4
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 โดยกองทัพภาคที่ 4
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กกล.ทพ.จชต.)
อ่านประกอบ : ผ่าโครงสร้างใหม่ทหารพราน (1) แผนถอนทหารหลักพ้นชายแดนใต้