ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้จะยังไม่ชัดเจนนักว่า “กองทัพ” หรือจะกล่าวให้ชัดก็คือ “รัฐไทย” ยอมรับอย่างเป็นเอกภาพแล้วหรือยังว่าขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงโดยมีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้คือ “กลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต” ตามที่ พล.ต.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เคยเสนอเป็นสมมติฐานเอาไว้ และเขียนหนังสืออธิบายแนวคิดนี้ตามมาอีกหลายต่อหลายเล่มก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงที่รับรู้ตรงกันไม่ว่าตำรวจ ทหาร นายอำเภอ หรือชาวบ้านในพื้นที่ ก็คือใน “หมู่บ้านจัดตั้ง” ของฝ่ายขบวนการ หรือที่ทางการเรียกว่า “หมู่บ้านสีแดง” มีแกนนำระดับหมู่บ้านที่เรียกว่า “อาเยาะห์” เคลื่อนไหวอยู่ โดยอาเยาะห์มีหน้าที่คอยควบคุมสอดส่องความเป็นไปในหมู่บ้าน และคอยอำนวยความสะดวกให้กับบรรดากองกำลังติดอาวุธ หรือที่เรียกว่า “อาร์เคเค” เมื่อเลือกเข้ามาปฏิบัติการในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
การดำรงอยู่ของ “อาเยาะห์” คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ ยิ่ง “อาเยาะห์” มีมากและเข้มแข็งขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่า “กลุ่มขบวนการ” ย่อมแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสพูดคุยแบบ “เจาะลึก” กับอาเยาะห์รายหนึ่งในพื้นที่สีแดงอำเภอหนึ่งของ จ.นราธิวาส แม้ว่าปัจจุบันเขาจะหันหลังให้กับขบวนการแล้ว และการพูดคุยจะเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นเพราะปัญหาเรื่องความปลอดภัย แต่เรื่องราวจากปากที่บอกเล่าถึงสิ่งที่เขาเคยทำ และหน้าที่ที่เขาเคยได้รับมอบหมาย น่าจะพอคลี่ปมปริศนาให้พอหายข้องใจถึงวิธีการทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
O อยากให้อธิบายความเป็น “อาเยาะห์” ว่าคืออะไร และมีหน้าที่อะไรบ้าง?
อาเยาะห์เป็นองค์กรล่างสุดของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (BRN-CO) ที่ได้จัดตั้งเอาไว้ในหมู่บ้าน มีชื่อเต็มว่า “อาลี ยาวาซัน กำปง” หรือคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นองค์กรลับที่ขบวนการจัดตั้งเพื่อเป็นฐานที่มั่นให้แก่อาร์เคเค (กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ที่ผ่านหลักสูตรการฝึกรบแบบจรยุทธ์) ทั้งใช้เป็นสถานที่หลบซ่อน (ในหมู่บ้านที่อาเยาะห์อาศัยอยู่) และฝึกอาร์เคเค ตลอดจนให้การสนับสนุนคัดเลือกเยาวชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบเพื่อฝึกเป็นอาร์เคเคด้วย
อีกด้านหนึ่ง ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต จัดตั้งอาเยาะห์หรือผู้ใหญ่บ้าน (ในสายของกลุ่มขบวนการ) เอาไว้ในหมู่บ้านเพื่อทับซ้อนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่มีอยู่ในทุกหมู่บ้านเช่นกัน โดยหลักการของบีอาร์เอ็นฯ ต้องการให้อาเยาะห์อยู่กับที่ และต้องเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นตลอดเวลา ส่วนอาร์เคเคจะเป็นหน่วยเคลื่อนที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนในหมู่บ้าน
O การเลือกคนเข้าสู่ขบวนการเพื่อเป็นอาเยาะห์และอาร์เคเคมีหลักการและขั้นตอนอย่างไร?
กลุ่มขบวนการจะเน้นเลือกคนที่มีนิสัยเงียบๆ ไม่ชอบยุ่งกับใคร เป็นคนรักครอบครัว เคร่งศาสนา เรียนจบชั้น 10 หรือชั้นซานาวีจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือเป็นครูสอนโรงเรียนตาดีกา สาเหตุที่กลุ่มขบวนการเลือกคนเหล่านี้มาทำหน้าที่อาเยาะห์ เพราะพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากคนในหมู่บ้าน ส่วนอาร์เคเคจะคัดกรองจากเยาวชนที่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการในแนวทางญิฮาด (การต่อสู้ในแนวทางของพระเจ้า)
O แล้วตัวอาเยาะห์เอง เข้าสู่ขบวนการได้อย่างไร?
ผมเปิดร้านขายของชำและเป็นครูสอนตาดีกาอยู่ในหมู่บ้าน ประมาณปี 2550 มีกลุ่มขบวนการมาเคาะประตูบ้าน เราก็ต้องเปิดให้เพราะบ้านขายของชำ เมื่อเปิดประตูก็ตกใจ เพราะคนที่อยู่ต่อหน้าแต่งกายคล้ายทหาร 4 คน จากนั้นเขาก็ให้สลาม (การยื่นมือทักทายแบบอิสลาม) ทำให้เข้าใจเลยว่าเป็นฝ่ายขบวนการ พวกเขาเข้ามาประมาณ 20 นาที มาเล่าประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีในอดีต โดยตลอดเวลาที่พวกเขาพูด เขาจะห้ามถาม ตอนที่ฟังพวกเขาเล่าผมก็คิดอยู่ในใจว่าเรื่องที่เล่ามานั้นผมรู้เรื่องดี และรู้เยอะกว่าที่เขามาเล่าเสียอีก แต่ไม่สามารถพูดอะไรได้
จากนั้นกลุ่มคนแต่งกายคล้ายทหารก็ออกจากบ้านไป ทิ้งช่วงประมาณ 10 วันก็กลับมาอีกรอบ ที่นี้มากันหลายคน มาเคาะประตูบ้านเช่นเคย บอกว่าให้หุงข้าว จากนั้นก็ตั้งข้าวให้พวกเขากิน เสร็จแล้วก็ออกไป และแจ้งว่าจะแต่งตั้งให้เป็น “อาเยาะห์” โดยให้เรียกแนวร่วมในหมู่บ้านมาประชุมที่บ้านของผมทั้งหมด เลือกใช้จังหวะที่อ้างว่าที่บ้านจัดงานเลี้ยงเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ โดยเงินที่จัดเลี้ยงใช้เงินส่วนตัวของผมเองทั้งหมด
สองปีเต็มที่ผมอยู่ในขบวนการ ใจผมคิดหาทางออกจากขบวนการตลอด แต่ไม่มีเหตุผลที่ดีพอ กระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดล้อมในหมู่บ้าน และตรวจค้นที่บ้านของผม โชคดีที่วันนั้นผมไม่อยู่บ้าน พอกลับมาภรรยาบอกว่าเจ้าหน้าที่มาค้นบ้าน ผมเลยโทร.หาผู้ใหญ่ในพื้นที่ บอกว่าจะมอบตัว และอ้างว่ามีความจำเป็นต้องดูแลลูกกับภรรยา โดยส่วนตัวคิดว่าเราน่าจะคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ ผมจึงตัดสินใจอ้างเหตุที่ถูกค้นบ้าน แล้วหยุดทำหน้าที่อาเยาะห์
O การตัดสินใจออกจากขบวนการส่งผลกระทบอะไรกับตัวเองหรือไม่?
ช่วงที่ออกจากขบวนการใหม่ๆ ชาวบ้านกล่าวหาว่าผมเป็น “มูนาฟิก” (คนกลับกลอก นอกศาสนา) แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เพราะผมใช้วิธีซื้อหมากรุกมาไว้ที่บ้าน และให้เพื่อนบ้านมาเล่น ใครมาก็ให้ภรรยาต้มกาแฟให้กิน เมื่อได้เล่นหมากรุกกันก็มีการพูดคุยกัน หลายคนที่เคยเป็นแนวร่วมผมก็ชวนให้กลับใจ ประกอบกับมีแกนนำในพื้นที่หลายคนถูกจับด้วย ทำให้ในหมู่บ้านของผมสถานการณ์ดีขึ้นมาก
O อยากทราบสาเหตุที่ตัดสินใจออกจากขบวนการ ไม่กลัวหรือ?
สองปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในขบวนการ ผมตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ ซึ่งฝ่ายขบวนการอ้างว่าเป็นการต่อสู้นั้น เราทำเพื่ออะไรกันแน่ หลายๆ เรื่องผมคิดว่าไม่ตรงตามหลักศาสนา ชีวิตในช่วงนั้นเหมือนอยู่ในที่มืด ต้องปิดหู ปิดตา ปิดปาก ไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น ต้องมอบชีวิตให้กับขบวนการตลอดเวลา
ที่ผมยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ว่าผมกลัว แต่คิดว่าการต่อสู้ที่กลุ่มขบวนการพยายามบอกตลอดเวลาว่าเป็นญิฮาดมันไม่เป็นความจริง ในยุคของท่านนบี (นบีมูฮำหมัด – ศาสดา) ท่านไม่ฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้ อย่างผู้หญิง เด็ก และคนแก่ ที่สำคัญท่านจะไม่ทำลายศพ ทำลายต้นไม้ที่ให้ดอกให้ผล แต่สิ่งที่ขบวนการทำมันตรงกันข้าม เขาทำลายหมด แล้วจะเรียกว่าญิฮาดได้อย่างไร
O กลุ่มขบวนการทำงานอย่างไรบ้างในพื้นที่?
ฝ่ายขบวนการแทบไม่ต้องทำงานอะไร พวกเขาปล่อยข่าวอย่างเดียว เวลามีการยิงกันในพื้นที่ ทั้งที่พวกเขาทำกันเอง แต่ฝ่ายปล่อยข่าวก็จะออกมาพูดว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนวิธีการสังเกตคนปล่อยข่าวลือนั้นง่าย แค่ดูว่าเป็นบุคคลที่พูดน้อย พูดแล้วคนเชื่อ และได้รับการยอมรับ ส่วนคนที่พูดมากจะไม่ได้รับการยอมรับเข้าขบวนการ เพราะกลัวว่าจะเก็บความลับไม่ได้
O การเข้าขบวนการต้องซุมเปาะ (สาบาน) ด้วยหรือไม่ ถ้ามีการซุมเปาะ การออกจากขบวนการต้องถอนซุมเปาะด้วยหรือเปล่า?
ในความเห็นของผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องถอนซุมเปาะ เนื่องจากการซุมเปาะที่พระเจ้ายอมรับนั้น ใจเราต้องยอมรับด้วย แต่กรณีของผมมันไม่ใช่ ผมไม่เคยยอมรับกับคำพูดซุมเปาะที่ได้พูดออกไปเลย ผมทำไปเพราะต้องการเอาชีวิตรอด แล้วก็ได้ตำแหน่งอาเยาะห์มา ตลอดเวลาสองปีเต็มที่ทำไป ใจผมไม่ได้ยอมรับ ถ้าใจผมเห็นด้วยกับขบวนการ ผมไม่ออกมามอบตัวหรอก ที่มอบตัวเพราะเห็นว่าพวกนี้ทำไม่ถูกหลักศาสนา
ในสายตาชาวบ้าน สมาชิกกลุ่มขบวนการจะวางตัวใหญ่โต เป็นนักเลง วางอำนาจ จนชาวบ้านหัวหดหมด ซึ่งผิดหลักศาสนาทั้งนั้น อีกอย่างต้องมีการออกเงินส่วนตัวด้วย โดยมีการเก็บเงินจากสมาชิกฝ่ายเศรษฐกิจ
O วิธีการเก็บเงินเข้าขบวนการทำกันแบบไหน?
เขาจะไม่มาไล่เก็บที่ละบ้านๆ ตามเวลาที่แน่นอน แต่พวกเขาจะนัดมารับเงิน โดยแจ้งล่วงหน้า อาจจะไปรับที่บ้านหรือที่ตลาดแล้วแต่เขาจะนัด ส่วนวันเวลาก็ไม่แน่นอนอีกด้วย บางคนเขาก็จะให้ซื้อเสื้อผ้าแล้วนำไปขาย รายได้ก็ส่งเข้าขบวนการ เท่าที่ผมประเมินคิดว่าเดือนๆ หนึ่งได้เงินไม่น้อย ระดับจังหวัดน่าจะหลักแสนหรือหลักล้าน
O สรุปแล้วสมาชิกขบวนการในระดับนำที่ไม่ใช่แนวร่วมทั่วไป มีกี่กลุ่ม กี่ฝ่ายในแต่ละพื้นที่?
จริงๆ แล้วการบริหารงานของกลุ่มขบวนการจะแบ่งเป็น 6 ฝ่ายด้วยกัน คือ
1.ฝ่ายอูลามาหรือฝ่ายศาสนา จะเป็นบุคคลที่มีความรู้ทางศาสนา และเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน อาจจะดูแลโรงเรียนตาดีกาเพื่อขัดเกลาเยาวชนและปลูกฝังความคิดในแนวทางของขบวนการ
2.ฝ่ายเศรษฐกิจ หรือฝ่ายการเงิน จะทำหน้าที่หาเงินส่งให้กับกลุ่มขบวนการ เช่น เก็บเงินจากสมาชิกวันละ 1 บาท หรือขอขี้ยางจากสมาชิกครอบครัวละ 1 ต้นต่อวัน นอกจากนั้นฝ่ายเศรษฐกิจยังแนะนำให้สมาชิกปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา กักตุนอาหารแห้งเอาไว้เพื่อเป็นเสบียงในช่วงสงครามด้วย
3.ฝ่ายกืออามานัน หรือฝ่ายปกครอง จะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับอาเยาะห์ และยังทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับอาร์เคเคที่เข้ามาหลบซ่อนตัว พร้อมๆ กับสอดส่องความเคลื่อนไหวของคนในหมู่บ้าน
4.ฝ่ายเปอร์มูดอ หรือฝ่ายเยาวชน ทำหน้าที่คัดเลือกเยาวชนเพื่อฝึกเป็นอาร์เคเค และยังคอยกำกับดูแลเยาวชนไม่ให้ออกนอกทาง
5.ฝ่ายตุรงแง หรือฝ่ายช่วยเหลือ จะทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่บ้าน ทั้งงานศพ งานแต่งงาน เวลามีงานก็จะเข้าไปช่วย ไปพูดคุย
และ 6.ฝ่ายปรอปวน หรือฝ่ายสตรี ทำหน้าที่รักษาพยาบาลเบื้องต้นให้กับอาร์เคเคที่ได้รับบาดเจ็บ และทำหน้าที่ชุมนุมประท้วง นอกจากนั้นยังเป็นฝ่ายลำเลียงอาหาร อาวุธ และส่งข่าวให้กับอาร์เคเคที่หลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ด้วย
ทั้ง 6 ฝ่ายนี้จะมีอาเยาะห์เป็นตัวเชื่อมประสาน อาเยาะห์จึงเป็นฐานอันแข็งแกร่งของขบวนการ พื้นที่ไหนที่อาเยาะห์ทำงานได้ดี มวลชนในพื้นที่นั้นก็จะเข้มแข็ง และเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง เนื่องจากขบวนการจะก่อเหตุในพื้นที่ที่ปลอดภัย 100% เท่านั้น
-------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
-ปากคำ“แนวร่วม”กู้ชาติปัตตานี...เปิดยุทธวิธีกลุ่มก่อความไม่สงบ!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4569&Itemid=86
-เรื่องเล่าจากปากอาร์เคเค ...ผ่าแผนขบวนการฝึกนักรบกู้ชาติปัตตานี
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4632&Itemid=86