กำลังคนภาครัฐ : สภาพปัจจุบันและแนวโน้ม
วันที่ 16 มกราคม 2560 สำนักงาน ก.พ. เปิดข้อมูล กำลังคนภาครัฐ : สภาพปัจจุบันและแนวโน้ม
อัตรากำลังภาครัฐ
1. ปัจจุบันภาครัฐเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีอัตรากำลังทุกประเภท ทั้งในฝ่ายพลเรือนและทหาร รวมทั้งสิ้น 2841,259 อัตรา โดยร้อยละ 63.41 มีสถานะเป็นข้าราชการที่เหลืออีกร้อยละ 36.59 ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานช้าง) โดยกำลังคนภาครัฐส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในราชการบริหารส่วนกลางและภูมิภาค มากกว่าส่วนท้องถิ่น
2. ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2538-2558) อัตรากำลังภาครัฐทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.74 ต่อ ปี โดย
2.1 อัตราข้าราชการในสังกัดฝ่ายบริหารในราชการบริหารส่วนกลางและภูมิภาค มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.65 ต่อปี (ข้าราชการที่มีจำนวนลดลง ได้แก่ ข้าราชการทหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงทำให้จำนวนใน ภาพรวมลดลง)
2.2 อัตราข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการกรุงเทพมหานคร พนักงานส่วนตำบล และพนักงานเทศบาล) ข้าราชการนอกฝ่ายบริหาร (ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้าราชการตุลาการและข้าราชการอัยการ) และพนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.59 34.60 และ 14.49 ต่อปี ตามลำดับ
3.ข้าราชพลเรือนสามัญมีแนวโน้มเกษียณอายุราชการจำนวนมาก โดยในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุราชการสะสม จำนวน 33,448 คน และในช่วง 10 ปี (นับถึงปี พ.ศ.2566) จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุราชการ จำนวน 93,506 คน (ร้อยละ 9.15 และร้อยละ 25.57 ตามลำดับ)
4. ลูกจ้างประจำมีแนวโน้มเกษียณอายุราชการจำนวนมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือในระยะ 10 ปี (พ.ศ.2560-2569) มีจำนวน 55,680 คน และในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) จะมีลูกจ้างประจำเกษียณอายุสะม จำนวน 72,659 คน (ร้อยละ 75.8 และร้อยละ 98.98 ของจำนวนลูกจ้างประจำทั้งหมด ตามลำดับ)
สำหรับการทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการ โดยผลของมาตราการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2557-2561) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 กำหนดให้ส่วนราชการสามารถบรรจุข้าราชการทดแทนอัตราที่ว่างจากการผลการเกษียณอายุราชการได้ทั้งหมด (ไม่มีการยุบเลิกตำแหน่ง) แต่ไม่ให้มีการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ในภาพรวมสำหรับข้าราชการทุกประเภท ยกเว้นกรณีจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งให้ยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างจากการเกษียณอายุ และว่างโดยเหตุอื่นในทุกภาคส่วนราชการ (ยกเว้น สำนักพระราชวัง สำนักราชการเลขาธิการและกรมราชองครักษ์ โดยหากจำเป็นให้ใช้พนักงานราชการ หรือพนักงานสัญญาจ้างแทน)
คุณภาพอัตรากำลังภาครัฐ
5. คุณภาพของบุคลากรภาครัฐ หากพิจารณาจากระดับการศึกษา พบว่า ข้าราชการในฝ่ายพลเรือนมีวุฒิการศึกษาระดับตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปเพิ่มมากกว่า อาจสะท้อนว่าราชการเป็นองค์กรที่ใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติงาน (Knowledge Worker) โดยในปี พ.ศ. 2558 มีผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวนสูงร้อยละ 82.82 และต่ำกว่าปริญญาตรีมีเพียงร้อยละ 17.13 สำหรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 273,957 คน (ร้อยละ 21.18 ) และวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก มีจำนวน 20,538คน (ร้อยละ 1.59) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2555
6.หากพิจารณาจากคุณสมบัติบุคคลของผู้ที่สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป พบว่า ในปี พ.ศ.2556-2558 กลุ่มผู้สมัครที่สอบผ่านมากที่สุด มีคะแนนเฉลี่ยสะสม 3.00-3.49 โดยผู้สมัครที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐมีอัตราการสอบผ่านมากกว่าผู้ที่จบจากสถาบันอื่นๆ
7. อย่างไรก็ตาม ระดับการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งพิจารณาจากค่าใช้จ่ายฝึกอบรมและค่าใช้จ่ายทุนการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2554-2555 และปีงบประมาณ พ.ศ.2558 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาบุคลากรต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี มีระดับค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ คิดเป็นร้อยละ 0.29 ร้อยละ 0.24 และร้อยละ 0.19 ตามลำดับ
การดำเนินการต่อไปของสำนักงาน ก.พ.
8. สำนักงาน ก.พ. พิจารณา เกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน แนวโน้ม และปัญหาการบริหารกำลังคนภาครัฐในการประชุม ก.พ. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ซึ่ง ก.พ. มีมติให้ อ.ก.พ. วิสามัญที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เสนอ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
9. คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งสำนักงาน ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดกรอบอัตรากำลังและวางแผนบรหารกำลังคนภาครัฐเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำข้อเสนอสำหรับการบริหารขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี แล้ว ซึ่งจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป