- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- INFO : เทียบ 4 วิกฤตโรคระบาด ‘ไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น’ กระทบไทยหนักสุด
INFO : เทียบ 4 วิกฤตโรคระบาด ‘ไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น’ กระทบไทยหนักสุด
"...เบื้องต้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในช่วง 3 เดือน หรือตั้งแต่ 27 ม.ค.-เม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ทางการจีนสั่งห้ามทัวร์จีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนในไทยลดลง 1.89 ล้านคน จากปกติ 2.7 ล้านคน หรือลดลง 70% และเมื่อคิดจากค่าใช้จ่ายรายหัวที่อยู่ที่ 5 หมื่นบาท ไทยจะสูญเสียรายได้ 94,500 ล้านบาท..."
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ‘โคโรน่า’ สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ยังคงลุกลามและแพร่ระบาดไปทั่วโลก
ข้อมูลจากเว็บไซด์ gisanddata.maps.arcgis.comโดยทีมงาน Johns Hopkins Center for Systems Science and Engineering (CSSE) รายงานว่า ณ 14.30 น. ของวันที่ 29 ม.ค.2563 จำนวนผู้ติดเชื้อฯอยู่ที่ 6,057 คน และมีผู้เสียชีวิต 132 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ในประเทศจีน หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2.17%
เมื่อแยกเป็นรายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่า มีผู้ติดเชื้อในจีนมากที่สุดหรือ 5,970 คน รองลงมาเป็นผู้ติดเชื้อที่พบในไทย 14 คน ฮ่องกง 8 คน ไต้หวัน 8 คน ญี่ปุ่น 8 คน มาเก๊า 7 คน มาเลเซีย 7 คน สิงคโปร์ 7 คน ออสเตรเลีย 5 คน สหรัฐฯ 5 คน ฝรั่งเศส 4 คน เยอรมนี 4 คน เกาหลีใต้ 4 คน แคนาดา 2 คน เวียดนาม 2 คน กัมพูชา 1 คน เนปาล 1 คน และศรีลังกา 1 คน
อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรก และเป็นชาติแรกในตะวันออกกลางที่พบผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อฯมีจำนวน 6,058 คน จาก 19 เขตเศรษฐกิจ/ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า พบการติดเชื้อจาก ‘คนสู่คน’ ในประเทศญี่ปุ่นด้วย
เบื้องต้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในช่วง 3 เดือน หรือตั้งแต่ 27 ม.ค.-เม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ทางการจีนสั่งห้ามทัวร์จีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนในไทยลดลง 1.89 ล้านคน จากปกติ 2.7 ล้านคน หรือลดลง 70% และเมื่อคิดจากค่าใช้จ่ายรายหัวที่อยู่ที่ 5 หมื่นบาท ไทยจะสูญเสียรายได้ 94,500 ล้านบาท
ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดว่า นักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ จะหายไปประมาณ 4-5 แสนคน/เดือน หรือคิดเป็น 1.2-1.5 ล้านคน ในช่วง 3 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของภาคการท่องเที่ยวประมาณ 60,000-75,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปพิจารณาการระบาดของเชื้อไวรัสครั้งใหญ่ ซึ่งแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงไทยก่อนหน้านี้ พบว่ามีการระบาดของเชื้อไวรัสครั้งใหญ่มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง เริ่มจากโรคซาร์ส (SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ซึ่งพบการติดเชื้อครั้งแรกในช่วงปลายปี 2545 ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน และมีการระบาดอย่างรุนแรงในปี 2546
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2546 มีผู้ติดเชื้อ 8,098 คน ใน 29 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 774 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 9.8% ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2546 ซึ่งแถลงในเดือน ส.ค.2546 ว่า ผลกระทบจากโรคซาร์ส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย.-มิ.ย.2546 ลดลงมาอยู่ที่ 1.45 ล้านคน หรือลดลง 40.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 2.42 ล้านคน และไทยสูญเสียรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นเงิน 31,000 ล้านบาท
ต่อมาในเดือนเม.ย.2552 มีรายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศเม็กซิโก ก่อนที่จะระบาดไปยัง 116 ประเทศทั่วโลก ซึ่งข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ในปี 2552 พบว่ามีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 6.2 แสนคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 18,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.28%
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยพบว่าตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.2552 ไทยมีผู้ติดเชื้อฯ 30,956 ราย และข้อมูลจากกระทรวงสาธารสุข ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในไทยอยู่ที่ 196 ราย (10 ม.ค.2552) ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้กลายเป็นโรคประจำฤดูกาลของไทยไปแล้ว และแต่ละปีพบผู้ติดเชื้อหลายพันคน โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขไทยยังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคทุกปี โดยเฉพาะการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
ในขณะที่โรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 พบการติดเชื้อครั้งแรกที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในปี 2555 ก่อนแพร่กระจายไป 27 ประเทศนั้น มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 2,494 ราย เสียชีวิต 858 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4%
สำหรับประเทศไทยพบว่า มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อจำนวน 2 ราย ในปี 2558 เป็นชาวโอมาน 1 ราย และชาวคูเวต 1 ราย ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคเมอร์ส ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด เห็นได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2558 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 29.92 ล้านคน เทียบกับปี 2557 ที่อยู่ที่ 24.80 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.11 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 20.6%
ดังนั้น หากเปรียบเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น และการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆครั้งใหญ่ 3 ครั้ง ในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ โรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ 2009 และโรคเมอร์ส จะพบว่า ไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมากที่สุด
เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยสูงถึงเกือบ 11 ล้านคนและคิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ขณะที่เมื่อ 17 ปีก่อนนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 6-7 แสนคนเท่านั้น และคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2545 ที่มีจำนวน 10.8 ล้านคน
ในขณะที่รัฐบาลไทยเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างข้มข้น จะพบว่าหลายประเทศมีใช้มาตรการเข้มข้นกับนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่ ไต้หวันสั่งงดการออกวีซ่าให้ชาวจีน ล่าสุดฟิลิปปินส์เป็นชาติที่ 2 ที่สั่งงดออกวีซ่า ณ ปลายทาง ให้กับนักท่องเที่ยวจีน เป็นต้น