- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- เปิดครบ! ผู้ต้องหา"บึ้ม7จังหวัด–วางแผนบอมบ์กรุง" ไทยเสี่ยงก่อการร้ายภายใน?
เปิดครบ! ผู้ต้องหา"บึ้ม7จังหวัด–วางแผนบอมบ์กรุง" ไทยเสี่ยงก่อการร้ายภายใน?
“ความโชคดีของเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเราก็คือ แม้จะออกจากพื้นที่มาบ้าง แต่การออกไม่ออกต่อเนื่อง ถ้าการขยายตัวของความรุนแรงออกต่อเนื่อง ผมว่าสังคมไทยจะเผชิญปัญหาความรุนแรงมากกว่านี้”
นี่คือการประเมินจากนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ถึงความเสี่ยงของประเทศไทยต่อการก่อความไม่สงบด้วยยุทธวิธีก่อการร้าย ซึ่งอาจขยายออกมานอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเหตุระเบิดเกือบ 20 จุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ระหว่างวันที่ 10-12ส.ค.59 กับการจับกุมแก๊งเตรียมก่อวินาศกรรมกลางกรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือน ต.ค.เป็นตัวอย่างของความน่าสะพรึงกลัว
แต่อาจารย์สุรชาติก็ยอมรับตรงๆ ว่าวันนี้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ฟันธงลำบากว่าขยายพื้นที่ปฏิบัติการมายังภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพฯแล้วหรือไม่ และสังคมไทยกำลังเผชิญกับ “การก่อการร้ายภายใน” ที่อาจเกิดระเบิดตูมตามขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ จริงหรือเปล่า
เพราะจนถึงวันนี้ หากนับห้วงเวลาจากเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเมื่อเดือน ส.ค. ถือว่าผ่านมานานกว่า 4 เดือนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบหลักในทางคดีก็ยังสรุปไม่ได้ว่า มูลเหตุจูงใจของการก่อเหตุระเบิดแบบปูพรมครั้งนั้นคืออะไร มีเพียงการออกหมายจับรวม 11 คน และควบคุมตัวได้แล้วเพียง 3 คน
# ระเบิดภูเก็ต #
นายอาหามะ เล็งฮะ ชาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
นายมูฮำหมัด มูฮิ ชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (จับกุมแล้ว)
นายยูโซ๊ะ แมะตีเมาะ ชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
นายอับดุลสตอปา สุหลง ชาว จ.ปัตตานี
# ระเบิดหัวหิน #
นายรุสลัน ใบมะ ชาว อ.เทพา จ.สงขลา
นายเสรี แวมามุ ชาว อ.เทพา จ.สงขลา
นายอัสมีน กาเต็มมาดี ชาว อ.เมือง จ.ปัตตานี
# ระเบิดพังงา #
นายอิสมาแอ อาแวกะจิ (จับกุมแล้ว)
นายซูกีมัน กูบารู ชาวจังหวัดนราธิวาส
# ระเบิดนครศรีธรรมราช #
นายฮากีม ดอเลาะ ชาว ต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี
# ระเบิดตรัง #
นายอับดุลกอเดร์ สาแล๊ะ ชาว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี (จับกุมแล้ว)
เหตุระเบิดครั้งใหญ่หนนั้นเริ่มขึ้นที่ จ.ตรัง เมื่อเกิดเสียงตูมสนั่นหน้าตลาดเซ็นเตอร์พอยต์กลางเมืองช่วงกลางวันแสกๆ ความตื่นตระหนกยังไม่ทันจางหาย ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นซ้ำๆ อีกหลายลูกในเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอย่างหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ในค่ำคืนเดียวกัน
กลางดึกคืนนั้นต่อเนื่องถึงช่วงเช้า ยังเกิดระเบิดและไฟไหม้ขึ้นอีกจากการใช้ระเบิดเพลิงในตลาดและห้างสรรพสินค้าที่ จ.พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช รวมทั้งที่ห้างค้าปลีกชื่อดังของ จ.ตรัง และใกล้หอนาฬิกาเมืองหัวหินซ้ำอีกลูกในช่วงเช้า กับที่ป้อมตำรวจหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต
รายชื่อผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจออกหมายจับทั้งหมดหลังเกิดเหตุ ล้วนเป็นคนที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งมีหมายจับในคดีความมั่นคงอยู่ก่อนแล้ว
การประกอบกำลังไปวางระเบิด พบว่ามี 3 ทีมใหญ่เข้าร่วม คือ “ทีมปัตตานี” “ทีมคาร์บอมบ์หาดใหญ่” และ “ทีมคาร์บอมบ์สมุย” โดยเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ส่วนเหตุคาร์บอมบ์ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นเมื่อปี 2558
รายชื่อผู้ต้องหาจากเหตุระเบิดใหญ่ 3 ครั้ง คือ ระเบิด 7 จังหวัด, คาร์บอมบ์หาดใหญ่ และคาร์บอมบ์สมุย แยกได้ดังนี้
# ทีมปัตตานี (จากเหตุระเบิด 7 จังหวัด) #
นายมูฮำหมัด มูฮิ (จับกุมแล้ว) => ระเบิดภูเก็ต
นายยูโซ๊ะ แมะตีเมาะ => ระเบิดภูเก็ต
นายอับดุลสตอปา สุหลง => ระเบิดภูเก็ต
นายอัสมีน กาเต็มมาดี => ระเบิดหัวหิน
นายฮากีม ดอเลาะ =>ระเบิดนครศรีธรรมราช
# ทีมคาร์บอมบ์หาดใหญ่ ปี 2555 #
นายรุสลัน ใบมะ => ระเบิดหัวหิน
นายเสรี แวมามุ => ระเบิดหัวหิน
# ทีมคาร์บอมบ์สมุย ปี 2558 #
นายอัสมีน กาเต็มมาดี => ระเบิดหัวหิน
นายฮากีม ดอเลาะ => ระเบิดนครศรีธรรมราช
จากข้อมูลของตำรวจจะเห็นได้ว่าผู้ต้องหาที่ลอบวางระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนนั้น บางส่วนซ้อนทับกับผู้ต้องหาคดีระเบิดใหญ่ครั้งอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่มีคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปวางระเบิดนอกพื้นที่ปลายด้ามขวาน
นอกจากนั้น ในทางการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเชื่อว่า เหตุคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาเทิร์นวิว ปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 23 ส.ค.59 เป็นฝีมือของ นายฮากีม ดอเลาะ ผู้ต้องหาคดีระเบิดที่ จ.นครศรีธรรมราชด้วย โดยก่อเหตุห่างกันเพียง 11 วันเท่านั้น
ขณะที่เหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่หน้าวัดปิยาราม อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 17 พ.ย. นายตำรวจระดับสูงอย่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังระบุว่า เป็นฝีมือของ นายอับดุลสตอปา สุหลง ผู้ต้องหาในคดีระเบิดภูเก็ตด้วย
และรถที่ใช้ทำคาร์บอมบ์ ก็เป็นรถยนต์เก๋งฮอนด้า ซีวิค คันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแจ้งเตือนว่าอาจมีการนำไปประกอบระเบิดเป็นคาร์บอมบ์ โจมตีห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งมีการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือเอซีดี
โดยเหตุการณ์ที่ตำรวจอ้างว่ามีการวางแผนลอบวางระเบิดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาแล้ว 9 ราย เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาหรือมีบ้านภรรยาอยู่ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่เชื่อว่านี่คือ “ทีมศรีสาคร”
# 9 ผู้ต้องหาวางแผนวินาศกรรมกรุงเทพฯ #
นายตามีซี โต๊ะตาหยง
นายอับดุลาซิร สือกะจิ
นายมูบารีห์ กะนะ
นายอุสมาน หรือมัง เจาะเงาะ
นายมีซี เจ๊ะหะ
นายปฐมพร มิหิแอ
นายอัมรัม มะยี
นายวิรัติ หะมิ
นายนิเฮง ยีนิง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหา 3 คนแรกถูกออกหมายจับล็อตแรก และส่งตัวเข้าศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 12 พ.ย. และส่งตัวให้กองบังคับการปราบปรามเมื่อ 30 พ.ย.
ส่วนอีก 6 คนที่เหลือโดนหมายจับรอบ 2 และส่งตัวให้กองบังคับการปราบปราม เมื่อ 12 ธ.ค.
จากรายชื่อและประวัติของผู้ต้องหาทั้งหมด ทั้งเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เหตุระเบิดใหญ่นอกพื้นที่ชายแดนใต้อีก 2 ครั้งสำคัญ คือที่ อ.หาดใหญ่ และเกาะสมุย รวมถึงเหตุวางแผนลอบก่อวินาศกรรมกลางกรุงเทพฯ เมื่อพิเคราะห์แล้วทำให้พบคำตอบว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเป็นการขยายพื้นที่ของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ก่อเหตุอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ นั่นเป็นเพราะ...
หนึ่ง ผู้ต้องหาบางรายเคยร่วมก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่นที่เชื่อกันว่ามีเหตุจูงใจจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เช่น คดีคาร์บอมบ์สมุย
สอง ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีระเบิด 7 จังหวัดบางคน ไม่เข้าพวกกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ คือไม่ใช่ทีมปัตตานี ไม่ใช่ทีมคาร์บอมบ์หาดใหญ่ หรือทีมคาร์บอมบ์สมุย ทำให้ความน่าเชื่อถือในข้อมูลของตำรวจลดลง เช่น นายอาหามะ เล็งฮะ ซึ่งเป็นชาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และก่อนเกิดเหตุระเบิด 7 จังหวัด มีชื่อขอเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน
สาม ผู้ต้องหาคดีระเบิด 7 จังหวัดบางคนที่ถูกจับกุมตัวแล้ว โดยเฉพาะ นายอับดุลกอเดร์ สาแล๊ะ ชาว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ญาติมีหลักฐานยืนยันว่าขณะเกิดเหตุ เขาพำนักอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่หน้าตู้เอทีเอ็มแห่งหนึ่งยืนยัน แต่เมื่อยื่นเรื่องให้พนักงานสอบสวนทบทวนการดำเนินคดี กลับไม่ได้รับการพิจารณา
สี่ คดีวางแผนก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯ ถูกตั้งคำถามเรื่องพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ เพราะจากการตรวจค้นสถานที่ที่อ้างว่าผู้ต้องหาซุกซ่อนอุปกรณ์ประกอบระเบิดเอาไว้ คือห้องพักในเคหะบางพลีเมืองใหม่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่พบเพียงน้ำบูดู และของกินของใช้
ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่ท่าทีไม่กล้าฟันธงของนักวิชาการด้านความมั่นคงอย่างอาจารย์สุรชาติ ทั้งๆ ที่เกาะติดข้อมูลเหล่านี้มานาน
“ตอบลำบาก ไม่แน่ใจว่าข้อมูลงานข่าวกรองประเมินเรื่องพวกนี้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าประเมินจากผู้สนใจความมั่นคง ผมตอบด้วยคำตอบที่หยาบมาก ว่านี่ความโชคดีของเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายดนภาคใต้ เพราะแม้จะออกจากพื้นที่มาบ้าง แต่การออกไม่ออกต่อเนื่อง ถ้าการขยายตัวของความรุนแรงออกต่อเนื่อง ผมว่าสังคมไทยเผชิญปัญหาความรุนแรงมากกว่านี้”
“ฉะนั้นในบริบทที่แม้จะมีออกมานอกพื้นที่บ้าง เช่น กรณีระเบิด 7 จังหวัด แต่ก็จะเห็นว่าในท้ายที่สุดพื้นที่การก่อเหตุยังจำกัดกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บวงกับบางอำเภอของ จ.สงขลา ถ้ามองโจทย์นี้ในแง่งานความมั่นคงต้องถือว่าเรายังโชคดีที่ความรุนแรงไม่ขยายตัวเป็นความรุนแรงชุดใหญ่มากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน”
ความไม่ชัดเจนทั้งหมดนี้ทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในประเทศเผชิญกับปัจจัยที่ไม่มีความแน่นอน เพราะมีความเป็นไปได้ทุกสมมติฐาน ทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบจากชายแดนใต้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการ, กลุ่มการเมืองว่าจ้างกลุ่มนิยมความรุนแรงจากชายแดนใต้ขึ้นมาก่อเหตุ หรือคนบางกลุ่มที่ปลายด้ามขวานพร้อมก่อเหตุรุนแรงทุกที่ ทุกเวลา เพื่อความสะใจและแสดงตัวตนต่อต้านรัฐ
หรือว่า...พื้นที่ชายแดนใต้กำลังกลายเป็นแหล่งผลิตมือระเบิด แล้วส่งออกไปทำภารกิจต่างๆ ทั้งรับจ้างและอุดมการณ์
เมื่อไม่มีข้อไหนเป็นคำตอบสุดท้าย สังคมไทยจึงต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงสูงสุดต่อไป