ก่อน ส.ส.ส้มเทกโอเวอร์? ใครเป็นใคร-ทำความรู้จัก‘พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย-ผึ้งหลวง’
พลิกปูมหลัง ‘พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย-พรรคผึ้งหลวง’ จดทะเบียนจัดตั้งปี 57 เปลี่ยนชื่อ-ย้าย กก.บริหารพรรค ไปมาอุตลุต เลขาธิการฯเคยสังกัดพรรคพลังไทยรักไทย หน.พรรคเป็นเลขาธิการสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ก่อนถูก ‘พิธา-ส.ส.สีส้ม’ เทกโอเวอร์รีแบรนด์ใหม่เป็น ‘ก้าวไกล’
เมื่อช่วงเย็นวันที่ 6 มี.ค. 2563 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า บรรดา 55 ‘ส.ส.สีส้ม’ อดีตพรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เตรียมจะเปิดตัวเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ โดยคาดว่าจะใช้ชื่อพรรคว่า ‘ก้าวไกล’
โดยการสมัครสมาชิกพรรคครั้งนี้ เป็นการ ‘เทกโอเวอร์’ พรรคเดิมที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้คือ พรรคผึ้งหลวง (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่าพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งมีการจดจัดตั้งกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียบร้อยและ กกต. รับรองแล้ว หลังจากนี้เมื่อ 55 ส.ส.ดังกล่าว ย้ายมาสังกัดพรรคนี้จะเรียกว่าเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ทันที หลังจากนั้นจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป คาดว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค (อ้างอิงข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจออนไลน์)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปทำความรู้จักที่มาของพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย และพรรคผึ้งหลวง ก่อนเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ลงวันที่ 1 พ.ค. 2557 แจ้งการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย มีวิสัยทัศน์ และคำขวัญประจำพรรคเหมือนกัน ระบุว่า “ร่วมพัฒนาพาชาติพ้นวิกฤติ พิชิตภัยคอร์รัปชั่น ยึดมั่นความเป็นไทย” ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ อยู่ที่ 29/2 ม.14 ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก ประกอบด้วย นายศักดิ์ชาย พรหมโท หัวหน้าพรรค นายสราวุฒิ สิงหกลางพล รองหัวหน้าพรรค นายทักษิณ สงวนนาม รองหัวหน้าพรรค น.ส.สมพร ศรีมหาพรหม เลขาธิการพรรค นายวิเชียร เสาหัส รองเลขาธิการพรรค นางชุติกาญจน์ ภูนา รองเลขาธิการพรรค นายประกายเพชร เรืองเรื่อง รองเลขาธิการพรรค น.ส.นิสา พงษ์ประสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค น.ส.ปวัณพัสตร์ ไชยมะรัตน์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค นางกัญญาวีร์ พุดวิเศษ โฆษกพรรค นายนเรศ แปกลาง นางวัชรา วัตมอร์ นางลัดดาพร พิมพ์ทอง นางเกษมณี ดีแป้น นางเดือนเพ็ญ นรินทร์ และนางรักดดาวัลย์ ขันทะโคตร เป็นกรรมการบริหารพรรค
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2561 มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค โดยชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2562 เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง โดยมีนายธนพล พลเยี่ยม หัวหน้าพรรค นายอังกูร ไผ่แก้ว เลขาธิการพรรค น.ส.ธิติมา สนสมบัติ นายทะเบียนพรรค นายสราวุฒิ สิงหกลางพล เหรัญญิกพรรค ร.ต.อ.สุรพล บังแก้ว นายชัยชนะ บัวผัน นายไสว กองกาญจน์ นายวิชยุตม์ วัฒนสิน และนายลั้ง บัวลอย เป็นกรรมการบริหารพรรค
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 นายธนพล พลเยี่ยม ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค เป็นเหตุให้กรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามข้อบังคับของพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย แจ้งเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น พรรคผึ้งหลวง มีสโลแกน “พลิกประวัติศาสตร์ พลิกงบพัฒนา 90% สู่หมู่บ้าน/ชุมชน” โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 168/9 ม.12 ต.นางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ ประกอบด้วย นายก้องภพ วังสุนทร หัวหน้าพรรค นายธนกฤต บุษบง รองหัวหน้าพรรค นายสมัย พึ่งช้าง รองหัวหน้าพรรค นายวิรุฬห์ ชลหาญ เลขาธิการพรรค น.ส.นฤมล พานโคกสูง รองเลขาธิการพรรค น.ส.ทิพยาภรณ์ ยะสุตา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจารุจันทร์) เหรัญญิกพรรค น.ส.วิชุพรรณ ผดุงชีวิต ทินนบุตรา นายทะเบียนพรรค น.ส.กันต์สิณี เครือสิงห์ ผู้ช่วยนายทะเบียนพรรค นายดิษฐานนท์ เตชานนทกฤต และนายกิตติศักดิ์ ยะสุตา เป็นกรรมการบริหารพรรค
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค โดยนายวิรุฬห์ ชลชาญ พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ส่วนบุคคลที่เหลือยังดำรงตำแหน่งเช่นเดิม หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ปรากฏชื่อนายเจษฎา พรหมดี เป็นเลขาธิการพรรค
กกต. เผยแพร่ข้อมูลพรรคการเมืองล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 พบว่า พรรคผึ้งหลวง มีนายธนพล พลเยี่ยม เป็นหัวหน้าพรรค นายอังกูร ไผ่แก้ว เป็นเลขาธิการพรรค มีคณะกรรมการบริหารพรรค 12 ราย มีสมาชิกพรรค 2,690 ราย มีสาขาพรรค 4 แห่ง มีตัวแทนพรรค 13 ราย สถานที่ตั้ง 31/107 ม.6 ซอยชินเขต 2 แยก 15 ถ.งามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. และสถานที่ติดต่อชั่วคราวตั้งอยู่ที่ 757/14 หมู่บ้านมิตรภาพ ถ.อ่อนนุช 46 แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กทม.
(ข้อมูลจาก กกต. เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 อดีตพรรคอนาคตใหม่ มีสมาชิก 51,283 ราย สาขาพรรค 6 แห่ง และตัวแทนพรรค 72 ราย)
สำหรับนายธนพล พลเยี่ยม เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเครือข่ายฯกิจการพิเศษ โดยเป็นคณะกรรมการระดับภูมิภาค (ภาคอีสาน) สังกัดองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) สำหรับองค์การฯแห่งนี้ ปรากฏชื่อนายอนันต์ บูรณวนิช เป็นประธานใหญ่ (อ้างอิงข้อมูลจาก : http://ongkarn-leio.org/ceolocal_eastnorth11.php)
นอกจากนี้นายธนพล พลเยี่ยม ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัยด้วย (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.nationtv.tv/main/program/378494968/)
ส่วนนายอังกูร ไผ่แก้ว เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคพลังไทยรักไทย โดยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค (มีนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันท่าทีพรรคนี้อยู่กับฝ่ายรัฐบาล) ต่อมาได้ลาออกจากพรรคพลังไทยรักไทย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 (อ้างอิงข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/D/050/T_0197.PDF)
ส่วนนายสราวุฒิ สิงหกลางพล เหรัญญิกพรรคผึ้งหลวง เคยเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2555 (สมัยนายเชน เทือกสุบรรณ เป็นประธาน กมธ.) (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/organization/download/article/article_20130111110437.pdf)
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า กรรมการบริหารพรรคร่วมพัฒนาชาติไทยบางส่วน เป็นสมาชิกของ สมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย (อ้างอิงข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/D/081/183.PDF)
ทั้งหมดคือข้อมูลโดยสังเขปของพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย และพรรคผึ้งหลวง ที่เปลี่ยนชื่อ-กรรมการบริหารพรรค ในช่วงปี 2561-2562 กระทั่งถูก ‘เทคโอเวอร์’ ในที่สุด ?
ส่วนเหตุผลอะไรทำให้ ‘พิธา’ และ ‘ส.ส.สีส้ม’ ถึงเลือกพรรคแห่งนี้ เพื่อเป็นที่อยู่ใหม่ สู้ศึกในสภาอีกครั้ง คงต้องรอฟังคำตอบในวันที่ 8 มี.ค. 2563 ต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพิธา จาก https://www.facebook.com/timpitaofficial/photos/a.1736414163131887/2467383656701597/?type=3&theater
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/