กระทบเป็นทอด ๆ ซุปเปอร์แพร่เชื้อโรค ‘COVID-19’ หลังสามีภรรยาสูงวัยปกปิดประวัติเดินทาง
ประมวลสถานการณ์ COVID-19 หลังผู้ป่วยกลับจากฮอกไกโด ปกปิดประวัติเดินทาง ปท.เสี่ยง หวั่นเป็นซุปเปอร์เเพร่เชื้อโรค กระจายไปทั่วประเทศ ด้านเเพทยสภา-เเพทยศาสตร์ศิริราชฯ เรียกร้องกลุ่มเสี่ยงรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเเนะวิธีปฏิบัติตน
แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะยืนยันว่า สองผู้ป่วยสามีภรรยาสูงวัยไทยที่เพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวในเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) จะไม่ใช่ “ซุปเปอร์สเปรดเดอร์” (Super Spreader) หรือ “ซุปเปอร์แพร่เชื้อโรค” จากมนุษย์สู่มนุษย์ ก็ตามที
หากยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยสามีภรรยาสูงวัยนี้ ได้แพร่เชื้อโรคไปยังหลานวัย 8 ขวบ ที่ไม่ได้ไปท่องเที่ยวด้วย นั่นหมายความว่า มีการติดต่อภายในประเทศเกิดขึ้น
ขณะที่ท่าทีของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ยืนยันว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ “ระยะ 3” ที่มีการระบาดภายในประเทศ แต่ถ้าเข้าสู่ระดับ 3 ก็มีแผนการจัดการแล้ว
ส่วนเหตุผลที่ได้รับการอธิบายจาก “นพ.สุขุม กาญจนพิมาย” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปรียบผู้ป่วยทั้ง 3 รายนี้ เหมือนครอบครัวชาวจีน ที่เดินทางเข้ามาในไทย ก่อนจะค่อย ๆ ทยอยป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิด
“สามารถรู้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อโรคฯ มาจากต่างประเทศและใครเป็นต้นทางของการติดต่อ จนติดตามและดูแลให้ดีขึ้น” ปลัด สธ. ระบุ
(อ่านประกอบ:ติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย กลับจากฮอกไกโด! 'อนุทิน' วอนสายการบินงดเเจกโปรโมชั่นถูกเที่ยว ปท.เสี่ยง)
การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ การพูดความจริงไม่หมด สำหรับเคสนี้ สร้างผลเสียต่อสังคม
แม้ต่อมาจะยอมรับในภายหลัง เมื่อทีมแพทย์ซักประวัติ แต่นั่นก็อาจจะช้าเกินไปหรือไม่ สำหรับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงการเฝ้าระวังโรคระบาด
หากไล่ดูคู่สามีภรรยาหลังจากกลับจากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ. โดยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน XJ621 ซัปโปโร-กรุงเทพฯ
สามีเริ่มมีอาการไอและเป็นไข้ จึงเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ในวันที่ 23 ก.พ.
โรงพยาบาลบี.แคร์ฯ ออกแถลงการณ์ว่า ผู้ป่วยชายไทยมาด้วยอาการ ไข้ ไอ ปฎิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เบื้องต้นได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นปอดอักเสบและให้รักษาตัวในโรงพยาบาล
เช้าวันที่ 24 ก.พ. 2563 แพทย์อายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ได้เข้าตรวจอาการผู้ป่วยและสอบถามประวัติการเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง
แต่ผู้ป่วยปฏิเสธ
กระทั่งช่วงสาย ผู้ป่วยได้เปิดเผยประวัติว่า ได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง จากนั้นโรงพยาบาลฯ ได้ติดต่อสถาบันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ซึ่งได้ระบุว่าผู้ป่วยรายนี้เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง (Patient Under Investigation) ก่อนจะย้ายผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในห้องความดันลบ (Negative Pressure) และส่งตรวจ PCR for COVID-19 ทันที
ช่วงค่ำวันที่ 24 ก.พ. 2563 ผลตรวจ CPR เบื้องต้น พบเชื้อ COVID-19 (Detected) โรงพยาบาลฯ ได้แจ้ง สปคม. ทันที และส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐ (โรคทรวงอก) โดยที่ภรรยาและหลานติดเชื้อไวรัสฯ ด้วย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ในเวลาต่อมา
แน่นอนว่า การปกปิดประวัติการเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2563 -จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน) ย่อมส่งผลกระทบ
ผลกระทบแรก คือ การส่งผลต่อบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล บี.แคร์ ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดผู้ป่วยในช่วงที่ยังไม่ทราบว่า ติดเชื้อไวรัสฯ จำนวน 30 คน
ทำให้โรงพยาบาล บี.แคร์ ร่วมกับ สปคม. ขอความร่วมมือให้บุคลากรที่สัมผัสกับผู้ป่วยทุกคน เข้ารับการตรวจ PCR for COVID-19 และตรวจเลือดเพื่อหา Antibody ของไวรัส
เบื้องต้น ผลตรวจ PCR for COVID-19 ของบุคลากรทุกคนที่สัมผัสผู้ป่วยเป็นลบ คือ ไม่พบเชื้อไวรัส แต่ยังต้องตรวจซ้ำในเวลา 7-14 วัน พร้อมให้บุคลากรดังกล่าวหยุดงาน สังเกตอาการที่บ้าน
ผลกระทบที่สอง คือ หลานวัย 8 ปี ซึ่งกำลังศึกษาในโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ดอนเมือง ซึ่งก่อนที่จะตรวจพบการติดเชื้อไวรัสฯ เด็กรายนี้ได้ไปโรงเรียนมาแล้ว จึงมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไวรัสไปยังเด็กนักเรียนรายอื่นและผู้สอนได้ โรงเรียนจึงประกาศหยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.2563 เป็นต้นไป
โดยนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้กลับมาสอบปลายภาคในวันที่ 2 มี.ค. 2563 ส่วนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 ที่ผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ศึกษาอยู่นั้น ให้กลับมาสอบปลายภาควันที่ 10 มี.ค. 2563 และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคในโรงเรียนด้วย
ผลกระทบที่สาม ธนาคารธนชาต สาขาดอนเมือง ต้องปิดทำการชั่วคราว เนื่องจากบิดาของเด็กวัย 8 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสฯ ด้วยนั้น ทำงานอยู่ในธนาคารแห่งนี้ แม้ภายหลังจะได้รับการยืนยันว่า “ไม่ติดเชื้อ” แต่ธนาคารยังต้องให้หยุดปฏิบัติงานชั่วคราวและแยกตัว เพื่อเฝ้าดูอาการต่อไปอีก 14 วัน
ผลกระทบที่สี่ สายการบินสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน XJ621 ซัปโปโร-กรุงเทพฯ ซึ่งสามีภรรยาสูงวัยโดยสารมาด้วยนั้น ได้มีการแจ้งไปยังผู้โดยสารที่เข้าข่ายเฝ้าระวังโดยตรงให้พบแพทย์ และลูกเรือในเที่ยวบินดังกล่าวหยุดงาน 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ รวมถึงพ่นสเปรย์และอบฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน
ด้วยเหตุนี้แพทยสภาและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ตั้งโต๊ะแถลงและเรียกร้องไปถึงผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสฯ ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการปิดบังข้อมูล เพราะมิเช่นนั้น จะเป็นการแพร่เชื้อไวรัสฯ ไปยังคนอื่นได้
โดยเน้นย้ำว่า
@ผู้ที่เดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน มาเก๊า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี
- แจ้งการเดินทางกลับแก่ผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้นทางโทรศัพท์ทันทีเพื่อลางาน
- หยุดทํางานหรืออยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันนับจากเดินทางถึงประเทศไทย
- แยกพื้นที่อาศัย เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ กับผู้อื่น ถ้าเป็นไปได้เลือกอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทดี
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ)
- ทําความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจําอย่างเคร่งครัด
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ
- จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ชุมชน
@ผู้ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับกลุ่มที่ 1 ในช่วง 14 วันแรก
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้นั้นในที่พักอาศัยอย่างน้อย 1 เมตร (โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ)
- ทําความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจล เป็นประจําอย่างเคร่งครัด
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้นั้น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ
- ใส่หน้ากากอนามัย ถ้าจําเป็นต้องใกล้ชิดผู้นั้น
@ทั้งสองกลุ่ม ต้องเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของตนเองและผู้ใกล้ชิด ที่อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ ได้แก่
- อาการไข้ ถ้ารู้สึกว่ามีไข้ ให้ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ว่าอุณหภูมิที่วัดทางปากมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือทางรักแร้มากกว่า 37.0 องศาเซลเซียสหรือไม่
- อาการผิดปกติของทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือหายใจเร็วหากผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับหรือแวะพักจากประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ ข้างต้นทั้ง 2 ข้อ ให้ติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาหรือ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง หรือ สอบถาม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
(อ่านประกอบ:แพทยสภา-ศิริราช เรียกร้อง ปชช.กลุ่มเสี่ยง 'COVID-19' รับผิดชอบต่อสังคม)
เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อไวรัสฯ ต้องรู้วิธีปฏิบัติตนและรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ทุกคนในที่นี้ หมายถึง คนไทยทุกคน ต้องไม่ตีตรา หรือแสดงพฤติกรรมรังเกียจผู้ที่เข้าข่ายหรือผู้ป่วยดังกล่าวด้วย
มิเช่นนั้นจะทำให้บางคนไม่กล้าเปิดเผยประวัติการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง
นี่คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนในประเทศต้องร่วมมือกัน เป็นอีกมือที่ช่วยควบคุมสถานการณ์ของโรค เพื่อยืดระยะเวลาการระบาดให้ยังคงอยู่ในระยะที่ 2 ...นานที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพประกอบ:https://th.wikipedia.org