กินอยู่ไม่รู้ตัว เมื่อพลาสติกอยู่ทุกที่ 'น้ำดื่ม อากาศ อาหาร'
แหล่งน้ำ คือพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของพลาสติกมากที่สุด จากการสำรวจพบไมโครพลาสติกในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และน้ำประปา หรือแม้กระทั่งในน้ำบรรจุขวดที่มีอยู่ทั่วโลก
"8 ล้านตัน คือตัวเลขขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลในแต่ละปี หรือเทียบเท่ากับการทิ้งขยะจากรถบรรทุกลงสู่ทะเล 1 คัน ในทุกๆ 1 นาที ใช่ว่า ขยะพลาสติกทุกชิ้นจะย่อยสลายได้ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่แตกตัวเป็นขนาดเล็กๆ หรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ล่องลอยอยู่ในทะเล ปะปนเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล วันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในที่สุดไมโครพลาสติกเหล่านั้น ก็โคจรกลับเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์แล้ว"
นางสาวพิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF Thailand ให้ข้อมูลที่น่าตกใจ มนุษย์กินพลาสติกโดยไม่รู้ตัว ในงานแถลงข่าว WWF ประเทศไทยกับการรณรงค์กิจกรรม #กินไม่รู้ตัว #YourPlasticDietCampaign โดยสร้างความตระหนักรู้ไมโครพลาสติกผ่านงานวิจัย
ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยทำให้ได้เห็นช่องทางที่พลาสติกเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ โดย WWF ร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในออสเตรเลีย เปิดงานวิจัยล่าสุด "ธรรมชาติต้องปราศจากพลาสติก:ค้นหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ (No Plastic In Nature:Assessing Plastic ingestion from Nature to People)" ถือเป็นการประมวลผลข้อมูลเชิงวิชาการครั้งแรกของโลก ที่รวบรวมข้อมูลจากการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไมโครพลาสติกในมนุษย์ทั้งสิ้นกว่า 50 ฉบับ
งานวิจัย ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของพลาสติกขนาดจิ๋วที่มนุษย์บริโภคเข้าไป อาจมีจำนวนมากถึง 2 พันชิ้นต่อสัปดาห์ หรือ 5 กรัมต่อสัปดาห์ เทียบเท่าบัตรเครดิต 1 ใบ ซึ่งการประเมินปริมาณพลาสติกที่มนุษย์อาจบริโภคเข้าไป ก็มีปริมาณที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารและพฤติกรรมการเลือกรับประทานด้วย
จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยทั้งหมด 52 ชุด มีงานวิจัย 33 ผลงานที่เน้นการศึกษาการปนเปื้อนของพลาสติกในอาหาร และเครื่องดื่ม งานวิจัยเหล่านั้นได้สุ่มสำรวจในอาหารทั่วไป และเครื่องดื่ม อาทิ น้ำ เบียร์ สัตว์ทะเลจำพวกหอย และเกลือทะเล เป็นต้น
สัตว์ทะเลจำพวกมีเปลือก เช่น กุ้ง หอย มีไมโครพลาสติกสะสม และอาจถูกส่งต่อเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ที่บริโภคเข้าไปได้ถึงสัปดาห์ละ 0.5 กรัม ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่มนุษย์บริโภคสัตว์ทะเลเหล่านี้ทั้งตัว ทำให้ไมโครพลาสติกที่สะสมอยู่ในตัวสัตว์เข้าสู่ร่างกายมนุษย์โดยอัตโนมัติ
อากาศ ก็มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในอัตราส่วนที่ไม่ควรมองข้าม จากงานวิจัย 16 ฉบับที่สำรวจคุณภาพอากาศภายในอาคาร และบริเวณพื้นที่เปิดพบว่า ฝุ่นที่มาจากครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมมีการปะปนของพลาสติกขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ นอกจากนั้นยังคงมีรายงานว่า พบไมโครพลาสติกที่ยอดเขาพีเรสนิส ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
แหล่งน้ำ คือพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของพลาสติกมากที่สุด จากการสำรวจพบไมโครพลาสติกในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และน้ำประปา หรือแม้กระทั่งในน้ำบรรจุขวดที่มีอยู่ทั่วโลก
นักวิจัยได้สุ่มตัวอย่าง น้ำดื่มที่วางจำหน่ายในหลายพื้นที่ทั่วโลก พบเส้นใยพลาสติกขนาดจิ๋วในน้ำดื่มชนิดขวดขนาด 500 มิลลิลิตรที่วางจำหน่ายในอินเดีย และสหรัฐอเมริกา มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ถึง 2 เท่า ขณะที่ยุโรป และอินโดนีเซีย พบพลาสติกในน้ำประปา
นี่คือ พลาสติกที่มีอนุภาคขนาดเล็ก ถูกพัดพาไปได้ทุกที่
นางสาวดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่องานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงงานวิจัย พบแม้แต่ในน้ำประปาที่ไหลออกมาจากก๊อก ก็เจอไมโครพลาสติกถึง 1,769 ชิ้น สัตว์ทะเลพวกกุ้ง หอย สัตว์ที่เรารับประทานไปทั้งตัวก็เจอ ที่อาจตกใจ เจอในเบียร์ และเกลือทะเลด้วย
"การที่งานวิจัยระบุถึงค่าเฉลี่ยที่มนุษย์บริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย 5 กรัมต่อสัปดาห์ เท่าไหน ก็เท่ากับลูกเต๋า หรือบัตรเครดิต 1 ใบ นี่คือข้อมูลกินอยู่ไม่รู้ตัวที่อยากจะบอกทุกคนว่า ให้ตระหนักถึงอันตรายของไมโครพลาสติกที่อยู่รอบตัว ไม่ไกลจากตัวเราเลย พลาสติกมีอยู่ทุกที่ ในน้ำที่เราดื่ม อากาศที่เราหายใจในอาหารที่เรารับประทาน วันนี้นอกจากเราจะลดการใช้ถุงพลาสติกตามนโยบายของรัฐแล้ว การสร้างขยะให้น้อยลง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น"
และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดขยะพลาสติกในระดับประเทศในอนาคต WWF ได้เปิดเว็บไซต์เพื่อประเมินปริมาณพลาสติกที่เราบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปประเมินได้ที่ www.yourplasticdiet.org และร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ Your Plastic Diet ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงชื่อร่วมกับ WWF แล้วทั่วโลกมากกว่า 1.5 ล้านคน
การผลิตพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) เพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่า นับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา
ปี 2000 มีอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 4%
และหากเดินหน้าผลิตอย่างเต็มกำลัง การผลิตพลาสติกในโลกจะเพิ่มถึง 40% ในปี 2030
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/