ไขปริศนาหนี้1.2พันล้าน บ.ทหาร ’RTA’ - เคยถูกสอบผูกขาดเช่าเวลาช่อง 5 ยุค ’แม้ว’
"...คณะกรรมการ ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการที่ผ่านมาหลายเรื่องน่าจะไม่โปร่งใส ไม่อาจอธิบายได้ แม้คณะกรรมการฯ จะยังมิได้สรุปว่าไม่มีการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นับว่าไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) นั่นเอง อีกประการหนึ่ง การที่ผู้บริหารระดับสูงของกองทัพบกสถานี ททบ.5 และบริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นรายเดียวกัน ทั้งฝ่ายผู้ให้สัญญาและผู้รับสัญญาแล้วต่างเข้ามาทำธุรกิจด้วยกัน น่าจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเสี่ยงต่อคำครหา และการตรวจสอบตามหลักการบริหารกิจการที่ดีด้วยเช่นกัน จึงควรให้กองทัพบกพิจารณาจำหน่ายหุ้นในบริษัทดังกล่าวออกไปทั้งหมด หากประสงค์จะให้บริษัทเข้ามาทำธุรกิจกับสถานี....
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูล บริษัท RTA Entertainment หรือ Royal Thai Army Entertainment ที่ นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า เป็นบริษัทที่กองทัพปล่อยกู้ 1 พันล้าน ไปลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
พร้อมระบุว่า "สุดท้ายเงินหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นล้านในกองทัพ ที่เราแทบจะตรวจสอบอะไรไม่ได้เลยนี้ ก็คือเงินภาษีที่มาจากพวกคุณ ประชาชนคนไทยทั้งนั้น เงินภาษีที่เราสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสำหรับบุตรหลานของเราทุกคน เงินภาษีที่เราสามารถนำมาสร้างโรงพยาบาลที่ดีสำหรับประชาชนทุกคน"
มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วว่า บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) แห่งนี้ มีตัวตนอยู่จริง
โดยจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ทำธุรกิจเข้าถือหุ้นในกิจการต่างๆดำเนินธุรกิจด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร ปรากฎชื่อ พลเอกกิตติเชษฐ์ ศรดิษฐพันธ์ พลเอกกิจพันธ์ ธัญชวนิช พลตรีบุญญฤทธิ์ วิสมล พลตรีสกล โชติปัทมนนท์ พลเอกณัฐเทพ สมคะเน พลเอกพีรพร ศรีพันธุ์วงศ์ พลโทไกรสร ศรีสุข เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2562 กองทัพบกถือหุ้นใหญ่สุด 50.0004% มูลค่า 5,000,040 บาท
นำส่งข้อมูลงบการเงินล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 88,057,555.80 บาท รวมรายจ่าย 83,638,589.68 บาท กำไรสุทธิ 2,872,277.18 บาท ในส่วนหนี้สิน แจ้งว่า มีเจ้าหนี้การค้า 2,064,176.47 บาท เจ้าหนี้อื่นๆ 3,584,416.86 บาท มีเงินกู้ยืมระยะยาว 1,236,800,000 บาท รวมหนี้สิน 1,243,206,329.07 บาท
ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ระบุว่า นับตั้งแต่ ปี 2554 - ปัจจุบัน บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน สำนักงานเลขานุการกองทัพบก และหน่วยงานในสังกัดกทม. จำนวน 17 สัญญา รวมวงเงินกว่า 528,358,581 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) (อ่านประกอบ : โชว์รายได้ 88 ล.หนี้เงินกู้1.2 พันล.! ข้อมูล บ.ทหาร 'RTA-Entertainment' ที่ ธนาธร กล่าวถึง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2547 ยุคสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เคยปรากฎชื่อถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จากกรณีปัญหาการโอนการบริหารเวลาการออกอากาศและผังรายการของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้กับบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยมีเอกชนเข้าร่วมถือหุ้นด้วยเพื่อดำเนินการนำสถานีโทรทัศน์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากมีการท้วงติงว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐเสียประโยชน์และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ระบุเนื้อหามติครม.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2547 มีมติรับทราบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่า จากกรณีปัญหาการโอนการบริหารเวลาการออกอากาศและผังรายการของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้กับบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยมีเอกชนเข้าร่วมถือหุ้นด้วยเพื่อดำเนินการนำสถานีโทรทัศน์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการท้วงติงว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐเสียประโยชน์และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลายฝ่ายเห็นว่าในระหว่างที่การจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ตามรัฐธรรมนูญยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงยังมิควรดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น
จึงได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) และได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2547 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2547 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ไปแล้ว โดยมี พลเอก วัฒนชัย วุฒิศิริ เป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นร่วมเป็นกรรมการอีก 6 ท่าน และ พลเอก เกษมชาติ นเรศเสนีย์ เป็นเลขานุการ (ดูรูปเอกสารประกอบ)
ต่อมาวันที่ 28 ก.ย.2547 ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบให้กองทัพบกดำเนินการตามความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ซึ่งได้พิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยเห็นว่า การให้บริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) เช่าเวลาและทำการตลาดเป็นเวลา 30 ปี รวมทั้งให้สิทธิบริษัท ฯ ต่ออายุสัญญาได้คราวละ 10 ปี มีระยะเวลายาวเกินไป และอาจก่อให้เกิดภาระแก่ส่วนราชการ จึงควรให้กองทัพบกหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมพระธรรมนูญเพื่อพิจารณาสั่งการให้สถานีบอกเลิกสัญญาดังกล่าว และการที่ผู้บริหารระดับสูงของกองทัพบก สถานีททบ.5 และบริษัท ฯ เป็นรายเดียวกันทั้งฝ่ายผู้ให้สัญญาและผู้รับสัญญาแล้วต่างเข้าทำธุรกิจด้วยกัน น่าจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเสี่ยงต่อคำครหาและการตรวจสอบตามหลักการบริหารกิจการที่ดี
กองทัพบกควรพิจารณา จำหน่ายหุ้นในบริษัท ฯ ออกไปทั้งหมดหากประสงค์จะให้บริษัทเข้ามาทำธุรกิจกับสถานี และให้ส่งรายงานผล การตรวจสอบของคณะกรรมการ ฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาประกอบการ ดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ที่ยังอยู่ในราชการหรืออยู่ในข่ายที่คณะกรรมการป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจ ตรวจสอบต่อไป (ดูรูปเอกสารประกอบ)
สำหรับรายละเอียดรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.) ซึ่งมี พลเอกวัฒนชัย วุฒิศิริ เป็นประธาน ที่นำเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ มีรายละเอียดดังนี้
1. กองทัพบกเป็นส่วนราชการประเภทนิติบุคคลของกระทรวงกลาโหมต่อมาได้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) ขึ้นเป็นส่วนงานย่อยเมื่อ พ.ศ.2500 เพื่อฝึกเจ้าหน้าที่ด้านวิทยุโทรทัศน์ เพื่อฝึกเจ้าหน้าที่ด้านวิทยุโทรทัศน์ เพื่อบริการความรู้และความบันเทิง และเพื่อเป็นสื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกิจการทหารกับประชาชน มีคณะกรรมการบริหารวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน เป็นผู้กำกับดูแล มีผู้อำนวยการสถานีเป็นผู้บริหารงาน และสำนักงานตรวจบัญชีกองทัพบก เป็นหน่วยตรวจสอบภายใน จนเมื่อ 2542 จึงได้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ
2. ในเดือนมีนาคม 2540 ได้มีการจัดตั้งบริษัท ททบ.5 จำกัด ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินธุรกิจให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในการบริหารงานอย่างคล่องตัวและสามารถแข่งขันกับธุรกิจทำนองเดียวกันได้ โดยมีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท และทุนชำระแล้ว 250 ล้านบาท กองทัพบกถือหุ้นร้อยละ 100 ต่อมาใน พ.ศ.2541 ธนาคารทหารไทยประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ กองทัพบกเห็นว่า เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากและผู้ถือหุ้นไม่น้อยเป็นข้าราชการทหาร จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยบริษัท ททบ.5 จำกัดกู้เงินจากสถานี ททบ.5 เพื่อนำไปซื้อหุ้นของธนาคารจำนวน 144,677,494 หุ้น เป็นเงิน 1,446,774,940 บาท ต่อมาสถานีได้แต่งตั้งให้ บริษัท ททบ. 5 จำกัด เป็นตัวแทนกู้เงินจากธนาคารทหารไทย เป็นเงิน 1,615,298,000 บาท มาลงทุนในโครงการโทรทัศน์ดาวเทียมของสถานี หนึ้สินดังกล่าวเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดกับสถานี บริษัทและกองทัพบกสืบมาปัจจุบันบริษัทเป็นหนี้สถานี 1,320,274,940 บาท และเป็นหนี้ธนาคาร 1,536,298,000 บาท ขณะที่สถานีเป็นหนี้บริษัทในจำนวนเดียวกัน หากหักกลบลบหนี้ทางบัญชีกันแล้วโดยบริษัทใช้หนี้สถานี สถานียังจะต้องคืนเงินแก่บริษัท ททบ. 5 จำกัด ในส่วนที่ยังขาดอยู่อีก 216,023,060 บาท
3. ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท ทบบ.5 จำกัด เป็นบริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) ปัญหาที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เกิดจากการที่กองทัพบกต้องการแก้ปัญหาที่มีอยู่ด้วยการนำเอาบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนและสร้างความโปร่งใสตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินการ สถานีได้ให้บริษัทเช่าเวลาและทำการตลาดเพื่อออกอากาศ โดยหวังจะเพิ่มมูลค่าของธุรกิจและศักยภาพในการแข่งขัน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เห็นว่า กองทัพบกไม่ได้นำสถานี ททบ.5 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากแต่เป็นการนำบริษัท อาร์ทีเอฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากและมีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันเป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจตามปกติโดยไม่ได้ให้บริษัทดังกล่าวเข้าบริหารสถานี ททบ.5 เสียเองแต่อย่างใด
4. อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการตรวจสอบฯ พบว่าในการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทในเวลาต่อมา บริษัทได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นรายเดิมคนหนึ่ง คือ นายจักร จามิกรณ์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นสิทธิของบริษัทโดยไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายแต่คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะไม่โปร่งใส ไม่สามารถอธิบายได้
5. ต่อมาบริษัทยังได้ให้บริษัท ไพรเวทมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนที่บริติชเวอร์จิน ไอซ์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทภายหลังการเพิ่มทุนและได้โอนสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยให้แก่บริษัทไพรเวทฯ อีกด้วย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลและความเหมาะสมได้เช่นกัน
6. สำหรับการให้บริษัทเช่าเวลาและทำการตลาดเป็นเวลา 30 ปี นั้น คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า ไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่ใช่การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มเติม อันจะเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 40 และการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินสะสมที่ค้างมาเป็นเวลานานโดยใช้บริษัทเป็นกลไก ซึ่งต่อไปจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกองทัพบกจากร้อยละ 30 เป็นไม่น้อยร้อยละ 70 อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสถานี ททบ.5 ไปในตัว แนวทางการดำเนินการดังกล่าวนี้ บริษัทหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงสองแห่งเป็นผู้ให้คำแนะนำและคณะกรรมการ ฯ เห็นว่าไม่ผิดปกติไปจากแนวทางที่บริษัทมหาชนจะพึงเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจ นอกจากนี้คณะกรรมการ ฯ เห็นว่า สัญญานี้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้ามาร่วมงานฯ และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ในข้อเท็จจริงสถานี ททบ.5 ยังคงเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์และเป็นเจ้าของคลื่นความถี่อย่างเดิม แต่คณะกรรมการเห็นว่า การทำสัญญามีระยะเวลายาว 30 ปี อาจตีความว่าเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 พ.ย. 2541 ที่ไม่ให้มีการทำสัญญา ขยายสัญญาหรือสัมปทานเดิมเกินสองปีหากเกินปีให้รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบก่อนการลงนามก็เป็นได้ ซึ่งควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาประเด็นนี้ต่อไป
ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นดังนี้
1. โดยที่ทำการสัญญาให้บริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) เช่าเวลาและทำการตลาดเป็นเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 และให้สิทธิบริษัทต่ออายุสัญญาได้คราวละ 10 ปี ตามสัญญาที่ทำเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 นั้น มีระยะเวลายาวเกินไป ไม่ว่าจะเห็นว่าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 ที่เจตนาจะระมัดระวังในการนำคลื่นความถี่ไปจัดสรรหรือขยายสัญญาหรือสัมปทานที่จะมีผลผูกพันในระยะยาวหรือไม่ก็ตาม และอันที่จริงในกรณีมีปัญหาเป็นที่สงสัย สถานี ททบ.5 ควรหารือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในการตีความมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวตามแนวปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ หรือควรหารือคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันส่วนราชการในระยะยาวอันอาจก่อให้เกิดภาระแก่ส่วนราชการ ดังนั้น จึงควรให้กองทัพบกหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมพระธรรมนูญ เพื่อพิจารณาสั่งการให้สถานีบอกเลิกสัญญาดังกล่าวตามความในสัญญา ข้อ 11
2. คณะกรรมการ ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการที่ผ่านมาหลายเรื่องน่าจะไม่โปร่งใส ไม่อาจอธิบายได้ แม้คณะกรรมการฯ จะยังมิได้สรุปว่าไม่มีการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นับว่าไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) นั่นเอง อีกประการหนึ่ง การที่ผู้บริหารระดับสูงของกองทัพบกสถานี ททบ.5 และบริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นรายเดียวกัน ทั้งฝ่ายผู้ให้สัญญาและผู้รับสัญญาแล้วต่างเข้ามาทำธุรกิจด้วยกัน น่าจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเสี่ยงต่อคำครหา และการตรวจสอบตามหลักการบริหารกิจการที่ดีด้วยเช่นกัน จึงควรให้กองทัพบกพิจารณาจำหน่ายหุ้นในบริษัทดังกล่าวออกไปทั้งหมด หากประสงค์จะให้บริษัทเข้ามาทำธุรกิจกับสถานี
3. โดยที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าระยะเวลาในการทำงาน ตัวบุคคลที่เป็นกรรมการ และอำนาจในการเรียกบุคคลผู้เกี่ยวข้องซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาสอบถาม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการพยายามนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับกรรมการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ก่อน พ.ศ. 2542 สถานี ททบ.5 ยังไม่มีระเบียบข้อบังคับในการจัดการเกี่ยวกับกำไร การจ่ายหรือการจัดสรรเงินกำไรของสถานีที่ชัดเจน ซึ่งแสดงว่าควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่การตรวจสอบคงต้องใช้เวลานานและประสบปัญหาอย่างเดิมอีก และโดยที่เรื่องทำนองนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยรับเรื่องไว้ตรวจสอบมาก่อนแล้ว จึงควรส่งรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไปพิจารณาประกอบการดำเนินการโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ยังอยู่ในราชการหรืออยู่ในข่ายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจตรวจสอบต่อไป
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลอีกชุดหนึ่งของ บริษัท RTA Entertainment ที่ นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาระบุถึงไปก่อนหน้านี้ ที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฎข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการสอบสวนเรื่องนี้เสร็จสิ้นตามขั้นตอนทางกฎหมายไปแล้วหรือไม่? อย่างไร?
รวมถึงกองทัพบก ที่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไปเรียบร้อยแล้วหรือไม่? อย่างไร? เช่นกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/