เปิดร่างกม.แก้หนี้กยศ.ฉบับภท. - เรียนเก่งได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ยกให้เป็นทุนแทน
ร่างพร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ มีสาระสำคัญ อาทิ ต้องการล้างมลทิน ผู้ค้ำประกันให้กับผู้กู้เงินกยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ การทำงานชดเชยให้กับภาครัฐเพื่อปลดหนี้ ขยายเวลาผ่อนผันเงินต้น และได้เกียรตินิยมอันดับ 1 แปลงหนี้เป็นทุนแทน
หลังจากเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รวมทั้งสิ้น 12 ฉบับ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดย 1 ใน 12 ฉบับนั้น มีร่าง พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อลดภาระชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้ปลดภาระผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้
จากนั้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน พรรคภูมิใจไทยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน กฎหมาย “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย ประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย และ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ำประกัน ผู้แทนผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบโดนหักเงินเดือน เข้าร่วม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ มีสาระสำคัญๆ อาทิ ต้องการล้างมลทิน ผู้ค้ำประกันให้กับผู้กู้เงินกยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ การทำงานชดเชยให้กับภาครัฐเพื่อปลดหนี้ การขยายเวลาผ่อนผันเงินต้น และได้เกียรตินิยมอันดับ 1 แปลงหนี้กยศ.เป็นเงินทุนแทน
ที่สำคัญ ร่างกฎหมายแก้หนี้กยศ.ยังต้องการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ "ปลอดดอกเบี้ย"
และนี่คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ....
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560
เหตุผล
เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นการให้บริการสาธารณะทางการการศึกษาแก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้กู้ยืมเงินให้มีการศึกษาที่ดีมีแรงจูงใจ ในการศึกษาและลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาพระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแปลงหนี้การกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น (11/1) และ (11/2) ของมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560
“(11/1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามมาตรา 44/1
(11/2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการแปลงหนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามมาตรา 44/2”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง ของมาตรา 41 แห่งพระราชญัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้ แทน
“มาตรา 44 เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนตามจำนวน ระยะเวลาและวิธีการที่กองทุนแจ้งให้ทราบ
ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ มีผลใช้บังคับ กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีจำเป็น ผู้จัดการอาจผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวนระยะเวลาหรือวิธีการที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือลดหย่อนหนี้ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นมาตรา 44/1 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560
“มาตรา 44/1 ในกรณีผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 ให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาดังกล่าวคืน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
มาตรา 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 44/2 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560
“มาตรา 44/2 ในกรณีผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แปลงหนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระดังกล่าวคืน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
มาตรา 8 ให้ผู้กู้ยืมเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กับกองทุนแล้ว ให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
สำหรับผู้ค้ำประกัน หากผู้กู้ยืมเงินได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ก็ให้ถือว่า หลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ ของร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญตามข้อ 110 ของข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้
1. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ
เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นการให้บริการสาธารณะทางการการศึกษาแก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้กู้ยืมเงินให้มีการศึกษาที่ดีมีแรงจูงใจในการศึกษาและลดภาระการชำระหนี้ ของผู้กู้ยืมเงินด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
2. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
2.1.กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแปลงหนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร่างมาตรา 3)
2.2 ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญากู้ยืมเงิน (ร่างมาตรา 4)
2.3 กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว อาจเลือกทำงาน ให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ มีผลใช้บังคับ กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ทั้งนี้ ให้เป็นไป ตามที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 5)
2.4 กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 สามารถแปลงหนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษา โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร่างมาตรา 6)
2.5 กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แปลงหนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระคืน (ร่างมาตรา 7)
2.6 ผู้กู้ยืมเงินที่ศาลผู้กู้ยืมเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ เมื่อได้ทำปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กับกองทุนแล้วถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ยืมเงินได้ปฏิบัติตามดังกล่าว ก็ให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้ อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ร่างมาตรา 8)
2.7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 9)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.radioparliament.net