เกมต่อรอง ปชป.-ภท.สั่นคลอน พปชร.-เพื่อไทยทิ้งไพ่ตายดัน‘ชัชชาติ’ชิงนายกฯ?
“…แม้ว่าในวันที่ 29 พ.ค. 2562 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกโรงตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงชัดว่า อยู่ระหว่าง ‘เดินหน้า’ เจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยหมายรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย และขอให้แต่ละพรรค ‘เอาชาติบ้านเมืองนำ มากกว่าการแบ่งเค้ก’ พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวว่า สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ อาจเข้ามาล้วงลูกการจัดตั้งรัฐมนตรี แต่สถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลก็ยังดูไม่คลี่คลายเท่าใดนัก ?...”
บรรยากาศเก่า ๆ ทางการเมืองกลับมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง หลังห่างหาย-ถูกซุกใต้พรมไปนานกว่า 5 ปี หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
โดยเฉพาะกลเกมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 ชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 25-26 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา การชิงไหวชิงพริบทางการเมืองระหว่างฝ่ายพรรคเพื่อไทย และฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ท้ายที่สุดสามารถดันนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สำเร็จ พ่วงด้วยนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2 (อ่านประกอบ : งูเห่ายั้วเยี้ย-พปชร.ชนะ! 'สุชาติ-ศุภชัย' เข้าวินนั่งรอง ปธ.สภาฯคนที่ 1-2, งูเห่าโผล่ 5 คน! มติข้างมาก 258 เสียงดัน'ชวน'นั่งเก้าอี้ ปธ.สภาผู้แทนฯ-'สมพงษ์'พ่าย)
เรียกได้ว่าประชุมนัดแรก ฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กวาดแต้มกินเรียบ!
แต่เกมซ้อนเกมถูกเดินหลังจากนั้น ภายหลังพรรคพลังประชารัฐ เทียบเชิญ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เพื่อมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยในส่วนของพรรคภูมิใจไทย อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม่มีปัญหา คอนเฟิร์มหนุน ‘บิ๊กตู่’ อยู่ต่อ 100% แต่วางเงื่อนไขเดียวคือ ต้องเป็น ‘รัฐบาลเสียงข้างมาก’
ตัวแปรตกมาอยู่ที่พรรคสีฟ้า อันดับสี่ ที่เจรจาต่อรอง-แบ่งเค้กกันยังไม่ลงตัว แม้ว่าฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ จะยืนยันว่า ให้โควตาในส่วนของประธานสภาฯแก่พรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว แต่ถูกโต้กลับว่า เงื่อนไขดังกล่าว ‘ไม่อยู่ในดีล’ ?
สอดคล้องกับคำพูดของ ‘นายหัวชวน’ ให้สัมภาษณ์สื่อเป็นนัย ๆ หลังได้รับการเลือกเป็นว่าที่ประธานสภาฯหมาด ๆ ว่า ไม่มีการต่อรอง ถ้าต่อรองจะไม่รับ เพราะไม่อยู่ในโควตา
แสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาระหว่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ว่า ในดีลร่วมจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขประธานสภาฯ ที่แม้พรรคพลังประชารัฐยกให้พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เกี่ยวข้องกัน ?
นับตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2562 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค. 2562) พรรคประชาธิปัตย์ยังคงตึงเครียดในการเจรจาเงื่อนไขต่อรองร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะเมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 พ.ค. 2562 นายราเมศ รัตนชเวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเลื่อนการประชุมจัดตั้งรัฐบาลร่วมพรรคพลังประชารัฐไม่มีกำหนด เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐไม่มีการตอบรับกลับมา (อ่านประกอบ : ปชป.เลื่อนประชุมตั้งรบ.ไม่มีกำหนด! เหตุ พปชร. เบี้ยวตอบรับเงื่อนไขภายใน5โมงเย็น)
ท่ามกลางกระแสสะพัดว่า ‘กลุ่มสามมิตร’ ในพรรคพลังประชารัฐ ต้องการโควตา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เก็บไว้เอง ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการเก้าอี้นี้เช่นเดียวกัน เพื่อผลักดันโครงการด้านเกษตรต่าง ๆ
สถานการณ์เริ่มระส่ำระส่ายไปอีก เมื่อดีลจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์เริ่มสั่นคลอน ฝ่ายพรรคภูมิใจไทย เริ่มมีกระแสออกมาย้ำชัดว่า หากพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เป็น ‘เสียงข้างมาก’ ก็อาจถอนตัว รวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ 2 ทายาทศิลปอาชา อย่าง น.ส.กัญจนา และนายวราวุธ ออกมาตัดพ้อน้อยใจถึงพรรคพลังประชารัฐที่ไม่มาเจรจากับพรรคชาติไทยพัฒนาเลย
แม้ว่าในวันที่ 29 พ.ค. 2562 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกโรงตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงชัดว่า อยู่ระหว่าง ‘เดินหน้า’ เจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยหมายรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย และขอให้แต่ละพรรค ‘เอาชาติบ้านเมืองนำ มากกว่าการแบ่งเค้ก’ พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวว่า สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ อาจเข้ามาล้วงลูกการจัดตั้งรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : พปชร.ยังเดินหน้าตั้ง รบ.‘อุตตม’ขอยึดบ้านเมืองมากกว่าแบ่งเค้ก-ปัดล็อคโควตาเกษตรฯ)
แต่สถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลก็ยังดูไม่คลี่คลายเท่าใดนัก ?
สวนทางกับฝ่ายต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะพ่ายในการโหวตเลือกประธาน-รองประธานสภาฯ ด้วยสาเหตุ ‘งูเห่า’ ก็ตาม แต่ใช้โอกาสนี้สบช่อง ‘ทิ้งไพ่ตาย’ ดันนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ที่ผ่านมาในฝ่ายต้าน พล.อ.ประยุทธ์ รวม 7 พรรค มีบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี 5 ราย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 3 ราย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคอนาคตใหม่ 1 ราย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคเสรีรวมไทย 1 ราย พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส
แต่ฝ่ายเพื่อไทยประเมินเงื่อนไขแล้วเห็นว่า คุณหญิงสุดารัตน์ ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งใด ๆ แล้ว ส่วนนายธนาธร ยังมีกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปมถือหุ้นสื่อค้ำคออยู่ ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ได้จำนวน ส.ส. น้อยกว่า 25 ราย ไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เหลือแค่นายชัชชาติ เพียงรายเดียวที่ ‘โดดเด่น’ อยู่ และอาจมีความหวังแม้จะ ‘ริบหรี่’ ในการช่วงชิงเสียงมาจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ?
นอกจากนี้ยังมีบางพรรคเริ่ม ‘ปัดฝุ่น’ สูตร ‘รัฐบาลขั้วที่สาม’ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เป็นแกนนำ แม้ทางทฤษฎีอาจเป็นไปได้ แต่ทางปฏิบัติค่อนข้างลำบาก
ท้ายที่สุดแล้วเหลืออยู่ 2 ขั้วเช่นเดิม คือ ฝ่ายหนุน ‘บิ๊กตู่’ ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และฝ่ายต้าน ‘บิ๊กตู่’ นำโดยพรรคเพื่อไทย ใครจะ ‘ดีล’ ได้สำเร็จก่อน คงต้องรอดูอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้านี้!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/