เปิดเกณฑ์ ก.พ. เทียบโอน‘พล.ต.ต.อรุณ’ อดีต ผบก.ยศ. ข้ามห้วย ผช.เลขาฯ ป.ป.ช. ได้ไหม?
“…ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือประเภทผู้บริหารระดับต้น ดังนั้นการรับโอน พล.ต.ต. อรุณ ที่แม้จะยศ พล.ต.ต. แต่ตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ ผู้บังคับการ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงาน ก.พ. หรือไม่ ?...”
ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเซ็งแซ่ในองค์กรอิสระย่านสนามบินน้ำ!
กรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงนามคำสั่งรับโอน พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล ผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ยศ.) มานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 มีผลเมื่อ 17 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา
ถูกตั้งคำถามว่า การรับโอน พล.ต.ต.อรุณ ดังกล่าว มีความเหมาะสมหรือไม่ ประการใด ?
หนึ่ง พล.ต.ต.อรุณ เป็นอดีตนายเวร พล.ต.อ.วัชรพล ตั้งแต่รอง ผบ.ตร. กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยังตั้ง พล.ต.ต.อรุณ มาเป็นผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการ ป.ป.ช. แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ใกล้ชิด โดย ‘บิ๊กกุ้ย’ ยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง
สอง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ล็อตนี้เปิดรับคัดเลือก 11 ที่นั่ง มีผู้ประสงค์สมัครรับคัดเลือก 99 ราย ทว่า พล.ต.อ.วัชรพล กลับรับโอน พล.ต.ต.อรุณ มาเสียบ 1 ที่นั่ง ทำให้เหลือโควตา 10 ที่นั่ง เป็นธรรมกับ ‘ลูกหม้อ’ ในสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ปฏิบัติภารกิจมาอย่างยาวนานหรือไม่
สาม ตำแหน่งเดิม พล.ต.ต.อรุณ คือ ผบก.ยศ. โดยสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ระบุอำนาจหน้าที่ว่า เป็นการทำงานด้านยุทธศาสตร์ การเงิน งบประมาณ สวัสดิการ งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ในภาพรวมของสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ก่อนหน้านี้เคยเป็นนายเวรให้ พล.ต.อ.วัชรพล ทำให้ถูกครหาว่า มีประสบการณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือไม่
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับโอน พล.ต.ต.อรุณ มานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือเปล่า ?
เบื้องต้น พล.ต.อ.วัชรพล เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การเทียบโอนตำแหน่งทำได้ หากเทียบไม่ได้กรรมการ ป.ป.ช. 9 ราย คงไม่กล้าดำเนินการ เพราะผิดกฎหมาย (อ่านประกอบ : รับ'พล.ต.ต.อรุณ'คนสนิทจริง! ปธ.ป.ป.ช. ปัดล็อคสเปกโอนนั่ง ผช.เลขาฯ-ยันคุณสมบัติครบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเทียบตำแหน่งอย่างอื่นเท่ากับการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่เป็นมาตรฐานกำหนดตำแหน่งการเทียบโอนข้าราชการ
พบว่า ในส่วนข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งระดับ ผู้บังคับการ ชั้น/ยศ พล.ต.ต./พ.ต.อ. (พิเศษ)/พ.ต.อ. เทียบตำแหน่งกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้ในประเภทอำนวยระดับสูง
หากจะเทียบมาเป็นประเภทผู้บริหารระดับต้น จะต้องเป็นข้าราชการตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการ ยศ พล.ต.ต. ขึ้นไป (ดูเอกสารประกอบ)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือประเภทผู้บริหารระดับต้น ดังนั้นการรับโอน พล.ต.ต. อรุณ ที่แม้จะยศ พล.ต.ต. แต่ตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ ผู้บังคับการ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงาน ก.พ. หรือไม่ ?
เป็นอีกเงื่อนปมที่สำนักงาน ป.ป.ช. จำเป็นต้องชี้แจงโดยด่วน!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
กางระเบียบ ป.ป.ช.รับคนนอกทำงาน ‘ต้องจำเป็นยิ่ง’ปมโอน‘พล.ต.ต.อรุณ’ นั่ง ผช.เลขาฯ?
ป.ป.ช.รับโอน‘พล.ต.ต.อรุณ’คณะทำงาน ‘พล.ต.อ.วัชรพล’เป็น ผช.เลขาฯภาค 1
ทำความรู้จัก ‘พล.ต.ต.อรุณ’ อดีตนายเวร ‘วัชรพล’ ข้ามห้วยนั่ง ผช.เลขาฯ ป.ป.ช.
โชว์ข้อดี-ข้อเสียรับคนข้ามห้วย! ก่อน ปธ.ป.ป.ช.รับโอน ‘พล.ต.ต.อรุณ’ นั่ง ผช.เลขาฯ